นายสมชัย สวัสดีผล รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ท่าอากาศยานไทย(ทอท. หรือ AOT)เปิดเผยว่า วานนี้ ศาลปกครองสูงสุดพิพากษายกฟ้องกรณีประชาชนขอให้เพิกถอนมติคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 29 พ.ค. 50 เรื่องการแก้ไขเกณฑ์ในการประเมินผลกระทบด้านเสียงจากการดำเนินงานท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ แต่ศาลเห็นว่ามติครม.ดังกล่าวชอบแล้ว
ประชาชนที่ยื่นฟ้งระบุว่ามติครม.ดังกล่าวไม่ยุติธรรมกับประชาชนผู้เดือดร้อน และต้องการให้กลับไปใช้มติครม.วันที่ 21 พ.ย.49 ซึ่งมติครม.ทั้งสองครั้งเป็นเรื่องการแก้ไขผลกระทบด้านเสียงจากสนามบินสุวรรณภูมิ แต่รายละเอียดของหลักเกณฑ์การชดเชยผลกระทบมีความแตกต่าง
นายสมชัย กล่าวว่า เรื่องการชดเชยผลกระทบด้านเสียงในพื้นที่ระดับ NEF 30-40 ที่มติครม.เมื่อวันที่ 29 พ.ค.50 กำหนดให้ทอท.สนับสนุนการปรับปรุงอาคารเพื่อลดผลกระทบด้านเสียงแก่อาคารที่ตรวจวัดเสียงรบกวนได้เกิน 10 เดซิเบล สอดคล้องกับมาตรการที่กำหนดไว้ในรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิที่ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ
รวมทั้งเป็นข้อกำหนดที่ใช้กับท่าอากาศยานสากลทั่วโลกตามแนวทางขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ(International Civil Aviation Organization : ICAO ) ซึ่งได้กำหนดให้ใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่ระดับ NEF 30-40 เพื่อเป็นที่อยู่อาศัยได้
นอกจากนี้ มติครม.ประกาศเส้นเสียงกรณีที่ใช้ทางวิ่งที่ 1 และ 2 เต็มความสามารถสูงสุดของจำนวน 76 เที่ยวบินต่อชั่วโมง เฉพาะการบินลงที่ปลายทางวิ่งฝั่งตะวันตกด้านทิศเหนือ ร้อยละ 80 ของเที่ยวบินทั้งหมด และการบินลงที่ปลายทางวิ่งฝั่งตะวันออกด้านทิศเหนือ ร้อยละ 20 ของเที่ยวบินทั้งหมด นั้น เนื่องมาจากว่าเป็นสถานการณ์การบินจริงของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
ขณะที่การกำหนดให้เครื่องบินขึ้น-ลงจำนวน 76 เที่ยวบินต่อชั่วโมงพร้อมกันทั้งสองทางวิ่งตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 21 พ.ย.49 นั้นไม่มีโอกาสเกิดขึ้นได้เลย เพราะจะทำให้จำนวนเที่ยวบินต่อชั่วโมงสูงกว่าขีดความสามารถในการรองรับของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
"ไม่มีเหตุผลใดๆที่จะต้องให้ซื้อที่ดินและอาคารเช่นเดียวกับระดับ NEF มากกว่า 40 ที่ผลกระทบสูงกว่า ดังนั้นการที่คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 29 พ.ค.50 จึงเป็นมาตรการแก้ไขผลกระทบที่เหมาะสมเป็นธรรมกับทุกฝ่าย" นายสมชัย ระบุ
อย่างไรก็ตาม ทอท.พยายามเร่งรัดการดำเนินการชดเชยผลกระทบตามหลักเกณฑ์ของมติคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเมื่อวันที่ 10 มี.ค.48 และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 พ.ค.อย่างต่อเนื่องเพื่อให้ความเดือดร้อนของประชาชนได้รับการแก้ไขโดยเร็วที่สุด โดยในวันพรุ่งนี้จะมอบเงินค่าปรับปรุงอาคารเพื่อชดเชย ผลกระทบด้านเสียงฯในพื้นที่ NEF มากกว่า 40 และพื้นที่ NEF 30-40