นายสุรนันท์ วงศ์วิทยกำจร เลขาธิการ คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) เปิดเผยว่า การเปิดประมูลใบอนุญาต 3G บนคลื่นความถี่ 2.1 กิ๊กกะเฮิร์ตชคาดว่าจะเป็นช่วงเดือน ม.ค.53 โดยประเมินจากเวลาที่คาดว่ารายละเอียดของเอกสารเชิญชวนฯ จะแล้วเสร็จกลางเดือน ก.ย.นี้
ทั้งนี้ ในเบื้องต้นจะเปิดโอกาสให้ผู้สนใจทั้งในและต่างประเทศเข้าร่วมประมูลใบอนุญาต 3G ได้ และรายละเอียดจะยังคงเดิม เช่น ค่าประมูลใบอนุญาต และค่าส่วนแบ่งรายได้ 2% ของรายได้ที่เกิดจากธุรกิจ 3G
*เอกชนเตรียมพร้อมทั้งบุคลากร-เงินลงทุน รอเพียงความชัดเจนภาครัฐ
นายสมประสงค์ บุญยะชัย ประธานกรรมการบริหาร บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) หรือ เอไอเอส กล่าวว่า การเลื่อนเปิดให้บริการ 3G จากกทช. เกิดขึ้นหลายปีแล้ว ไม่น่าจะมีผลกระทบ เพียงแต่ขอให้กทช.ออกกฎเกณฑ์ที่ถูกต้อง เพื่อไม่ต้องเริ่มกระบวนการใหม่ แต่เวลานี้การหลักเกณฑ์การประมูลยังไม่มีความชัดเจน ในฐานะภาคเอกชนเราไม่มีกระบวนการอะไรที่จะสามารถไปเร่งรัดกทช.ได้ ขณะที่บริษัทถือว่ามีความพร้อมทั้งด้านความรู้ บุคลากร และเงินลงทุนอยู่แล้ว
ปัจจุบันทั่วโลกมีผู้ประกอบบนเทคโนโลยี 3G กว่า 200 บริษัท ในกว่า 100 ประเทศ ซึ่งหากประเทศไทยไม่มีเทคโนโลยีจะตกยุคที่มีเรื่องของการสื่อสารไร้สายเข้ามาเกี่ยวข้อง เป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน
"บริษัทมีความพร้อมอยู่แล้ว โดยได้เตรียมเงินไว้ไม่ต่ำกว่าหมื่นล้านบาท เพื่อประมูลไลเซ่น และรัฐควรผลักดันเรื่องนี้โดยเร็ว เพราะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวม" นายสมประสงค์ กล่าวในงานสัมมนา"ก้าวสู่ยุคเทคโนโลยี 3G จุดเปลี่ยนวิถีชีวิต ธุรกิจ โทรคมนาคมไทย"
นายอธึก อัศวนันท์ รองประธานกรรมการ บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) กล่าวว่า เอกชนมีความพร้อมมานานแล้ว แต่อยากให้กทช.เข้ามาจัดการใบอนุญาตใหม่ 3G กับการรับสัมปทาน 2Gเดิม ที่อาจจะกลายเป็นปัญหาภายหลังกับหน่วยงานภาครัฐ จึงอยากให้กทช.มีแนวทางที่ชัดเจนสำหรับเรื่องนี้ก่อนให้ใบอนุญาตใหม่ด้วย รวมถึงการวางแผนระบบโทรคมนาคมในปีหน้าที่ชัดเจน เพื่อรองรับกับการแข่งขันที่จะเพิ่มขึ้น
สำหรับความพร้อมของบริษัทถือว่ามีมากกว่ารายอื่น โดยเฉพาะถ้ากทช.ออกหลักเกณฑ์ให้เฉพาะผู้ประกอบการภายในประเทศ เพราะบริษัทถือเป็นผู้ประกอบการรายเดียว แต่หาก กทช.เปิดให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนร่วมด้วยนั้น ก็ควรจะมีความชัดเจน เพื่อที่บริษัทจะสามารถเชิญชวนต่างประเทศทั้งเอกชน และรัฐวิสาหกิจเข้ามาร่วมทุนด้วย
"TRUE พร้อมที่จะมีพันธมิตรต่างชาติ แต่ก็คงถือหุ้นไม่เกิน 49%และตอนนี้หากเป็นรัฐวิสาหกิจต่างชาติเข้ามาร่วมทุนจะติดปัญหาทางกฎหมาย ซึ่งจะต้องมีการแก้ไขกฎหมายก่อนถึงจะทำได้ แต่เราก็เปิดกว้างสำหรับทุกราย และพร้อมจะยอมรับหลักเกณฑ์ของกทช.ที่จะออกมาในหลายๆรูปแบบ ไม่ว่ารูปแบบให้ประมูลไลเซ๋นและต้องเสียส่วนแบ่งรายได้ 2% ก็ไม่มีปัญหา" นายอธึก กล่าว
ด้านนายทอเร่ จอห์นเซ่น ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) กล่าวว่า มีความพร้อมในทุกๆ ด้าน หากจะล่าช้าออกไปจากเดิมอีก 2 เดือนก็ไม่มีปัญหา เพราะที่ผ่านมารอมานาน 3-5 ปีแล้ว แต่การที่เลื่อนออกไปขอให้มีความชัดเจนออกมา โดยเฉพาะเงื่อนไขกฎเกณฑ์ ราคา จำนวน คุณสมบัติผู้เข้าร่วมประมูลใบอนุญาต เป็นต้น เพราะบริษัทพร้อมที่จะลงทุน และมองว่ามีโอเปอเรเตอร์ 4-6 รายถือว่าเพียงพอสำหรับตลาดในประเทศ