นายเสรีรัตน์ ประสุตานนท์ ว่าที่กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ท่าอากาศยานไทย หรือ ทอท. (AOT) คาดว่าในปี 52 (สิ้นสุดก.ย.52) บริษัทจะมีปริมาณเที่ยวบินและจำนวนผู้โดยสาร ลดลงประมาณ 10-15% จากปีก่อน โดยในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมา (ต.ค. 51-พ.ค.52) มีปริมาณเที่ยวบินลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 17% และ จำนวนผู้โดยสารลดลง 19.53%
แต่เชื่อว่าในไตรมาส 4/52 (ก.ค.-ก.ย.52) จะมีปริมาณผู้โดยสารและเที่ยวบินฟื้นตัวจากการกระตุ้นการท่องเที่ยวของภาครัฐ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากแถบประเทศตะวันออกกลางยังนิยมเข้ามาเที่ยวในไทยจำนวนมาก
"ยืนยันว่าปีนี้เราไม่ติดลบ เพราะเราตั้งเป้าลดรายจ่าย 2 พันล้านบาท คิดเป็นกว่า 10% ของรายจ่ายทั้งหมด โดยเฉพาะที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิตั้งเป้าลดรายจ่าย 1.5 พันล้านบาท ...ปีนี้ถือว่าเป็นปีที่รับผลกระทบมากที่สุดตั้งแต่เปิดกิจการ (รอบ 30 ปี) ซึ่งตรงกับที่ IATA บอกไว้ธุรกิจการบินแย่ในรอบ 30 ปี" นายเสรีรัตน์ กล่าว
ทั้งนี้ ปริมาณเที่ยวบินและผู้โดยสารลดลง ในงวดปี 52 เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลก และผลจากเหตุการณ์ปิดท่าอากาศยานในช่วงปลายปี 51 ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้โดยสาร ยิ่งไปกว่านั้นในเดือน เม.ย.ที่ผ่านมาเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองอีกครั้ง ตามด้วยการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009
อนึ่ง ในงวดปี 51 บริษัทมีกำไรสุทธิ 7.3 พันล้านบาท และในงวด 6 เดือนแรกของปี 52 มีกำไรสุทธิ 153.6 ล้านบาท โดยในงวดไตรมาสแรกประสบผลขาดทุน 1.7 พันล้านบาท
*ปีหน้าเปิดให้เอกชนประมูลโครงการภายในสนามบิน หารายได้เพิ่ม
นายเสรีรัตน์ กล่าวว่า ในปีนี้ บริษัทแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่ประสบกับธุริจการบิน ด้วยการลดรายจ่าย เพื่อไม่ให้ผลกำไรไม่ลดลงมาก จากนั้น บริษัทเตรียมแผนหารายได้เพิ่มเติมจากธุรกิจที่ไม่ใช่กิจการการบิน ที่จะสามารถสร้างรายได้จากกิจกรรมเชิงพาณิชย์ โดยเบื้องต้นบริษัทมีแผนงานใช้พื้นที่ตามท่าอากาศยาน 5 แห่ง ซึ่งเบื้องต้นคาดใช้เงินลงทุนเป็นหลักหมื่นล้านบาท โดยหลักการจะเปิดให้เอกชนประมูล เพื่อเข้ามาลงทุนแบบ Build-Transfer-Operate:BTO ซึ่งเป็นลักษณะให้เอกชนเป็นผู้ลงทุนสร้างและโอนกิจการให้บริษัท รวมทั้งจะได้สิทธิในการดำเนินกิจการโดย AOT จะให้สัญญาสัมปทานในการดำเนินการไม่น้อยกว่า 10 ปี
นายเสรีรัตน์ กล่าวว่า โครงการเหล่านี้ยังอยู่ในขั้นตอนศึกษาโครงการ โดยคาดว่าจะใช้เวลาศึกษาโครงการอย่างชัดเจนประมาณ 6 เดือน และคาดว่าน่าจะเปิดให้เอกชนประมูลงานได้ในปีหน้าโดยโครงการแรกๆที่เห็นโอกาส ได้แก่ โครงการศูนย์สุขภาพ และ โครงการAirport Business Center
*เร่งสร้างอาคารผู้โดยสารในปท.ก่อน ลงทุนกว่า 6 พันลบ.
นายเสรีรัตน์ กล่าวว่า บริษัทมีแผนพัฒนาโครงการเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เป็น 80 ล้านคนต่อปี จากปัจจุบันรองรับได้ 45 ล้านคนต่อปี และเพียงพอในการรองรับผู้โดยสารได้จนถึงปี 62 โดยมีแนวทางการพัฒนา 2 กลุ่มงาน ได้แก่ การดำเนินการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารภายในประเทศ ซึ่งจะใช้ระยะเวลาดำเนินการ 4 ปี (ปี 53-56) โดยจะรองรับผู้โดยสารได้ 20 ล้านคนต่อปี และการดำเนินการตามแผนโครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะที่ 2 ระยะเวลาดำเนินการ 6 ปี (ปี 54-59) โดยในส่วนนี้จะมีการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารรอง ที่รองรับได้ 15 ล้านคนต่อปี
"การสร้างอาคารผู้โดยสารในประเทศก่อนจะได้ลดความแออัดในสนามบิน และลดความสับสนของผู้โดยสาร ซึ่งจะแยกออกจากอาคารผู้โดยสารปัจจุบัน ซึ่งเราเห็นว่าควรทำอันนี้ก่อน ก็จะเร่งทำให้เสร็จภายใน 3 ปี คิดว่าน่าจะเปิดได้ในปี 55 หรือปี 56 เพราะรองรับได้เพิ่มอีกถึง 20 ล้านคน" นายเสรีรัตน์กล่าว
นายสมชัย สวัสดีผล รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ในฐานะรักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ AOT กล่าวว่า เงินลงทุนสำหรับงานก่อสร้างอาคารผู้โดยสารในประเทศ ประมาณกว่า 6 พันล้านบาท (เฉพาะค่า Engineering cost) ส่วนโครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะที่ 2 ใช้งบประมาณ 7.7 หมื่นล้านบาท โดยรวมเงินลงทุนรันเวย์ที่ 3 อาคารผู้โดยสารรอง และอื่นๆ รวมทั้งงบชดเชยผู้กระทบทางด้านเสียงด้วยซึ่งจะเป็นการทยอยการลงทุน โดยได้ผ่านความเห็นชอบจากสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.)แล้ว
อย่างไรก็ดี อาคารผู้โดยสารในประเทศ กับ รันเวย์ที่ 3 เตรียมเสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ( EIA) พิจารณา
ทั้งนี้ แหล่งเงินลงทุนอาคารผู้โดยสารในประเทศ กับ รันเวย์ที่ 3 (ซึ่งมีมูลค่ากว่า 3 พันล้านบาท) รวมมูลค่า 1.1 หมื่นล้านบาท จะนำมาจากบริษัท
ปัจจุบัน AOT บริหารท่าอากาศยาน 6 แห่ง ได้แก่ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ,ดอนเมือง,เชียงใหม่,เชียงราย,หาดใหญ่ และภูเก็ต