ทริสคงอันดับเครดิตองค์กร-ตราสารหนี้ PS ที่ “A-" ด้วยแนวโน้ม “Positive"

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday June 30, 2009 09:44 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ทริสเรทติ้งประกาศคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่มีประกันของ บมจ.พฤกษา เรียลเอสเตท(PS)ที่ระดับ “A-" ด้วยแนวโน้ม “Positive" หรือ “บวก"

อันดับเครดิตสะท้อนถึงความเป็นผู้นำในตลาดทาวน์เฮ้าส์ระดับล่าง ตลอดจนผลงานที่เป็นที่ยอมรับในตลาดที่อยู่อาศัยระดับกลางถึงล่าง ความสามารถในการแข่งขันด้านต้นทุนการก่อสร้าง และฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่งของบริษัท อย่างไรก็ตาม จุดแข็งดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวซึ่งจะส่งผลกระทบให้อุปสงค์ในธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ซบเซา รวมทั้งจากวงจรธุรกิจที่มีความผันผวน และนโยบายของธนาคารพาณิชย์ที่เพิ่มความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อซึ่งจะทำให้ผู้ซื้อบ้านกู้เงินได้ยากขึ้น

แนวโน้มอันดับเครดิต “Positive" หรือ “บวก" สะท้อนถึงการคาดการณ์ว่าบริษัทจะยังคงสามารถสร้างผลการดำเนินงานที่ โดดเด่นเหนือผู้ประกอบการอื่นในตลาดพัฒนาที่อยู่อาศัยได้ในภาวะที่เศรษฐกิจชะลอตัวและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ถดถอยลง ทั้งนี้ อันดับเครดิตอาจปรับเพิ่มขึ้นในอนาคตหากบริษัทยังคงมีผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งและดำรงนโยบายทางการเงินที่ระมัดระวัง

PS เป็นหนึ่งในผู้ประกอบการพัฒนาที่อยู่อาศัยชั้นนำของประเทศซึ่งก่อตั้งในปี 2536 โดยนายทองมา วิจิตรพงศ์พันธุ์ และจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในเดือนธันวาคม 2548 ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2552 กลุ่มตระกูลวิจิตรพงศ์พันธุ์ยังคงเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทในสัดส่วน 77% ของหุ้นทั้งหมด

บริษัทพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยเป็นจำนวนมาก โดย ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2552 บริษัทมีโครงการที่อยู่อาศัยทั้งหมดประมาณ 100 โครงการ โดยมีมูลค่าเหลือขายรวมทั้งสิ้น 24,538 ล้านบาท และมียอดขายที่รอรับรู้รายได้อีก 11,588 ล้านบาท โครงการที่อยู่อาศัยของบริษัทประกอบด้วยทาวน์เฮ้าส์ (คิดเป็น 49% ของมูลค่าโครงการทั้งหมด) บ้านเดี่ยว (34%) และคอนโดมิเนียม (17%) โดยมีราคาเฉลี่ยต่อหน่วยเพิ่มขึ้นเป็น 1.58 ล้านบาท จาก 1.39 ล้านบาทในปี 2551 ซึ่งเป็นผลจากการปรับโครงสร้างสินค้าที่อยู่อาศัยให้กระจายตัวสู่ตลาดระดับกลางมากขึ้น

ในช่วงปี 2550 ถึงไตรมาสแรกของปี 2552 ทาวน์เฮ้าส์ยังคงเป็นแหล่งรายได้หลักของบริษัทซึ่งคิดเป็น 58% ของรายได้รวม ในขณะที่รายได้จากบ้านเดี่ยวเท่ากับ 30%-43% ส่วนคอนโดมิเนียมเริ่มมีรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 11% ในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2552 เพิ่มขึ้นจาก 4% ในปี 2551 ด้วยการใช้เทคโนโลยีชิ้นส่วนคอนกรีตเสริมเหล็กสำเร็จรูปและการบริหารจัดการงานก่อสร้างด้วยตนเองทำให้บริษัทสามารถควมคุมระยะเวลาและต้นทุนการก่อสร้างได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังสามารถก่อสร้างที่อยู่อาศัยด้วยต้นทุนที่ต่ำซึ่งช่วยให้บริษัทกำหนดราคาขายที่ได้เปรียบคู่แข่ง

ยอดขายของบริษัทในปี 2551 เพิ่มขึ้น 19% เป็น 16,188 ล้านบาทจาก 13,646 ล้านบาทในปี 2550 แต่ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2552 ลดลง 17% เป็น 4,045 ล้านบาทจากช่วงเดียวกันของปี 2551 ซึ่งเป็นผลจากอุปสงค์ในตลาดที่อยู่อาศัยที่ลดลงจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ลดลง

อย่างไรก็ตาม รายได้รวมของบริษัทยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงไตรมาสแรกของปี 2552 เพิ่มขึ้นถึง 70% เป็น 3,766 ล้านบาทจากช่วงเดียวกันของปี 2551 คามสามารถในการทำกำไรของบริษัทปรับตัวดีขึ้นจากผลของมาตรการด้านภาษีของภาครัฐและการประหยัดจากขนาด โดยบริษัทมีอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานที่ระดับ 25%-26% ในช่วงปี 2551 ถึงไตรมาสแรกของปี 2552 เทียบกับระดับ 20%-21% ในช่วงปี 2549-2550

แม้ว่าบริษัทจะขยายุรกิจเป็นอย่างมาก แต่อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนยังคงอยู่ในระดับต่ำที่ 25.67% ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2552 นอกจากนี้ บริษัทยังมีเงินทุนหมุนเวียนในระดับสูง โดยมีอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมมากถึง 98.22% ในปี 2551 และ 27.49% (ยังไม่ได้ปรับอัตราส่วนให้เป็นตัวเลขเต็มปี) ในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2552

ทริสเรทติ้งกล่าวว่า ภาวะตลาดที่อยู่อาศัยในปีที่ผ่านมาค่อนข้างผันผวนอันเป็นผลมาจากความไม่มั่นคงของการเมืองในประเทศและวิกฤติการณ์ทางการเงินทั่วโลก แม้ว่ามาตรการด้านภาษีซึ่งอนุญาตให้ผู้ซื้อบ้านสามารถนำเงินซื้อบ้านในวงเงินสูงสุดไม่เกิน 300,000 บาทไปใช้ลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แต่ก็คาดว่าตลาดอสังหาริมทรัพย์ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลจะปรับตัวลดลงตามภาวะเศรษฐกิจและจะหดตัวในปี 2552

ดังนั้น ผู้ประกอบการควรต้องบริหารสภาพคล่องอย่างระมัดระวังและดำรงความยืดหยุ่นทางการเงินให้เพียงพอต่อภาระผูกพันทางการเงินต่างๆ ในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัวเพื่อที่จะดำรงสถานะอันดับเครดิตเอาไว้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ