EGCO วางแผน 5 ปีลงทุน 1 พันล้านเหรียญกระจายออก ตปท.หลังดีมานด์ในปท.ลด

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday July 2, 2009 12:33 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.ผลิตไฟฟ้า (EGCO) วางแผนช่วง 5 ปี (52-56)เพิ่มกำลังการผลิต 1 พันเมกกะวัตต์(MW)จากปัจจุบันที่บริษัทมีกำลังการผลิตไฟฟ้า 4 พันเมกกะวัตต์ ตั้งงบลงทุนประมาณ 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 30,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นใช้เงินลงทุนปีละประมาณ 6 พันล้านบาท ไม่จำกัดว่าจะเป็นโรงไฟฟ้าประเภทไหน โดยเน้นการลงทุนในต่างประเทศ ขณะนี้ศึกษาในอินโดนีเซีย เวียดนาม และ ฟิลิปปินส์ หลังประสบความสำเร็จการเข้าลงทุนโครงการเควซอนในฟิลลิปปินส์ แต่คาดปีนี้ยังไม่ได้ข้อสรุป โดยปี 52 มีงบลงทุนประมาณ 100 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 3-4 พันล้านบาทพร้อมลงทุนได้ทันที

ขณะเดียวกันในช่วง 5 ปีนี้ตั้งเป้าเพิ่มกำไรอีก 1 พันล้านบาท และรายได้เพิ่มขึ้นอีก 20% ใน 5 ปี โดยคาดว่าปีนี้บริษัทจะทำกำไรได้ดีกว่าที่คาดไว้ 5 พันกว่าล้านบาทเป็นกว่า 6 พันล้านบาท แต่ไม่สูงกว่าปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 6.9 พันล้านบาท ส่วนรายได้ลดลงราว 5-10% จากปีก่อนที่มี 1.07 หมื่นล้านบาท และในไตรมาส 4/52 จะปิดซ่อมบำรุงโรงไฟฟ้าบีแอลพีซี และ โรงไฟฟ้าระยอง ก็จะส่งผลกระทบรายได้ในไตรมาสดังกล่าว

"ผมเชื่อว่าในอีก 5 ปี(ปี 52-56) ตั้งเป้ามีกำไรเพิ่มอีกประมาณ 1 พันล้านบาท และรายได้ต้องตามกำไร ก็เพิ่มอีก 20% ใน 5 ปี เพราะอะไรต้องตั้งแบบนี้ เพราะในช่วง 5 ปี ไม่มีดีมานด์ในประเทศ ผมตั้งเป้าอาไว้ แต่ก็ถือว่าถ้าประคองตัวไปได้ก็โอเคแล้วนะ ที่ตั้งไว้ให้ aggresive พราะไม่มีดีมานด์ ถึงจะมีการเปิดประมูลใหม่ แต่มีการแข่งขันเต็มที่ก็ไม่รู้ว่าเราจะชนะหรือเปล่า"นายวินิจ แตงน้อย กรมการผู้จัดการใหญ่ EGCO กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"

*กำเงินทุน 100 ล้านเหรียญพร้อมลงทุนตปท.เน้นอินโดฯ-เวียดนาม

นายวินิจ กล่าวว่า บริษัทมีโนบายลงทุนโรงไฟฟ้าในต่างประเทศ โดยให้ความสนใจเป็นพิเศษในแถบเอเอชียตะวันออกเฉียงใต้(southeast asia)ที่มีอยู่ประมาณ 3-4 โครงการ โดยเฉพาะในอินโดนีเซียและเวียดนามที่เห็นศักยภาพการลงทุน ซึ่งบริษัทกำลังศึกษาอยู่ แต่คาดว่าคงจะยังไม่ได้ข้อสรุปปีนี้

ขณะที่บริษัทมีเงินทุนพร้อมลงทุน โดยเตรียมงบลงทุนไว้จำนวน 100 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 3-4 พันล้านบาท ซึ่งเป็นวงเงินเครดิตจากธนาคารพร้อมเบิกจ่ายได้ทุกเมื่อและหากเป็นโครงการใหญ่กว่านั้น บริษัทก็มีความสามารถกู้เงินได้ เพราะหนี้บริษัทต่ำมาก มีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนเพียง 0.2 กว่าเท่า และมีกระแสเงินสดอยู่ประมาณ 3 พันล้านบาท

"ในอินโดฯ เวียดนาม ก็ยังไม่ได้ทิ้ง บางโครงการเป็นลักษณะเพิ่งเริ่มอยู่ในชั้นศึกษาอยู่ บางโครงการก็เปิดดำเนินการแล้ว ก็ต้องระวังในการลงทุนในต่างประเทศ ต้องมี Return ดีกว่าในประเทศ โดยประมาณ 10%ขึ้นไป ถ้าต่ำกว่า 10% ไม่เอาอยู่แล้ว แนวโน้มอาจจะไม่ได้เห็นในปีนี้ แต่ปลายๆปี คงจะเห็นความชัดเจน"นายวินิจ กล่าว

เมื่อปลายปี 51 ที่ผ่านมา บริษัทได้เข้าลงทุน GPI Quezon Ltd. ในฟิลิปปินส์ เข้าถือหุ้น 26% หรือเป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นใหญ่ ใช้เม็ดเงินลงทุน 3.5 พันล้านบาท โรงไฟฟ้าเควซอนมีกำลังการผลิตกว่า 500 เมกะวัตต์ มีผลตอบแทนการลงทุน(IRR)ราว 15% มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าอีก 17 ปี ถือว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า ระยะเวลาคืนทุน 10 ปี และปีนี้บริษัทรับรู้รายได้เต็มปี

นายวินิจ กล่าวยอมรับว่า มีผู้มาชวนลงทุนในธุรกิจถ่านหินในออสเตรเลียและอินโดนีเซีย ตามกระแสของธุรกิจโรงไฟฟ้าที่หันไปลงทุนในเหมืองถ่านหินควบคู่กันไปด้วย แต่อย่างไรก็ตาม ตอนนี้บริษัทยังเน้นการลงทุนในธุรกิจโรงไฟฟ้าก่อนเพราะเป็นธุรกิจที่มีความชำนาญ แต่ไม่ได้ปิดโอกาสเสียทีเดียวหากมีข้อเสนอที่ดี

"ธุรกิจอื่นยังไม่สนใจ แต่ในอนาคตไม่แน่ ถ้ามีเหมืองถ่านหิน หรือมีอะไรที่อยู่ในธุรกิจด้านพลังงานเหมือนกัน หรือเกี่ยวเนื่องกับธุรกิจพลังงาน รวมทั้งมีพาร์ทเนอร์ที่ โครงการมีความเสี่ยงน้อย และถ้ารับรู้รายได้เลย ก็จะตัดสินใขเข้าลงทุน แต่ถ้าเป็นการลงทุนเหมืองใหม่ เจาะสำรวจเอง คงไม่เอา เพราะไม่มีความชำนาญ และรอรับรู้รายได้นานเกินไป"นายวินิจ กล่าว

ขณะเดียวกัน นายวินิจ คาดว่า กว่าที่จะมีการเปิดประมูลโครงการโรงไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่(IPP)อีกครั้งคงจะรอไปถึงช่วงปี 57-58 หรือประมาณ 5-6 ปีกว่าจะเปิดอีกรอบ เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจไม่ดี ซึ่งทำให้ความต้องการไฟฟ้าในประเทศลดลงประมาณ 4-5% ในปีนี้

และคาดว่าปลายปีนี้จะมีการทบทวนแผนกำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ(PDP 2007)จึงต้องมีการติดตามใกล้ชิด เพราะการสร้างโรงไฟฟ้าใช้เวลาก่อสร้าง 3-4 ปี

*ศึกษาโครงการพลังงานลม-แสงอาทิตย์ คาดสรุปได้ปลายปีนี้

นายวินิจ กล่าวว่า ในช่วงที่ยังไม่สามารถขึ้นโรงไฟฟ้า IPP ใหม่ในประเทศได้ บริษัทหันมาลงทุนในโรงไฟฟ้า SPP ซึ่งกำลังศึกษาที่ลาดกระบัง แต่คาดว่าคงจะได้ยากเพราะขนาดโครงการที่เตรียมไว้ 40-50 เมกะวัตต์เล็กเกินไป กำลังผลิตที่เหมาะสมควรจะอยู่ที่ 100 กว่าเมกะวัตต์ เพื่อขายให้ลูกค้าให้นิคมอุตสาหกรรมและขายเข้าระบบ

บริษัทจึงหันมาสนใจด้านพลังงานทดแทน โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าพลังงานลมและพลังแสงอาทิตย์(SOLAR)โดยทั้งสองโครงการจะขายให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(กฟภ.)สองโครงการจะได้ข้อสรุปพร้อมกันในสิ้นปีนี้ จะทำขนานกันไป โดยรูปแบบจะจัดตั้งบริษัทใหม่หรือลงทุนโดยตรง โดยจะเป็นการร่วมทุนกับพันธมิตร ซึงกำลังเจรจากันอยู่

โครงการพลังแสงอาทิตย์ คาดว่าจะสร้างบนพื้นที่ภาคกลาง กำลังการผลิต 10 เมกกะวัตต์ ซึ่งหากประสบความสำเร็จก็มีโอกาสเพิ่มเป็น 50 เมกกะวัตต์ มีโอกาสเกิดขึ้นก่อน ส่วนโครงการด้านพลังงานลมคาดว่าจะใช้พื้นที่ติดทะเลทางภาคใต้ หรือ พื้นที่ภูเขาในภาคกลาง กำลังผลิตเริ่มต้นที่ 10 เมกกะวัตต์ ต้นทุนประมาณ 30 ล้านเหรียญฯ คาดว่าปลายปีนี้จะได้ข้อสรุปรายละเอียดของทั้งสองโครงการ

"ลงทุนพวกนี้ไม่สูง return ไม่สามารถมาชดเชยโครงการขนาดใหญ่ได้ในแง่ของการลงทุน แง่กำไร แต่เพื่อสร้างความรู้ know how ต่อไปในอนาคต อาจจะมีมากขึ้นกว่านี้ แต่ในประเทศไทยมีข้อจำกัดเยอะ เนื่องจากความเร็วลม การทำพลังงานทดแทน ดำเนินการในช่วงที่ทางการยังไม่เปิดดำเนินโครงการ IPP และเรื่องนี้ก็เป็นนโยบายของรัฐด้วย"นายวินิจ กล่าว

*เตรียมเจรจาต่อสัญญาโรงไฟฟ้าลขนอม-ระยองในปี 53

นายวินิจ กล่าว ปีหน้าบริษัทเตรียมเจรจาต่อสัญญาซื้อขายไฟฟ้าสำหรับโรงไฟฟ้าขนอม และ โรงไฟฟ้าระยอง กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)คาดหวังว่าจะได้ต่อสัญญาออกไปอย่างน้อย 5-10 ปี เนื่องจากโรงไฟฟ้าทั้งสองแห่งยังมีศักยภาพในการผลิตไฟฟ้า แต่ก็ขึ้นอยู่กับทาง กฟผ.โดยในสัญญาสามารถเจรจาก่อนหมดสัญญาก่อน 4 ปี

หากไม่ต่อสัญญาโรงไฟฟ้าทั้งสองแห่ง บริษัทก็มีแนวทางเบื้องต้นที่จะเก็บพื้นที่ไว้รอสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ขนาด 800 เมกะวัตต์ ซึ่งคาดว่าจะมีการเปิดเประมูลในบริเวณขนอม เพราะที่ดินอยู่ติดกับโรงแยกก๊าซอยู่แล้ว ทำให้ได้เปรียบเรื่องที่ตั้ง

"ทาง กฟผ.ต้องตัดสินใจว่าจะต่อสํญญาโรงไฟฟ้าขนอมหรือจะสร้างใหม่ ซึ่งหากต้องประมูลใหม่ เราก็จะได้เปรียบ และเราก็ไม่ให้คนอื่นมาสร้างที่เราด้วย"นายวินิจ กล่าว

ส่วนโรงไฟฟ้าระยอง หากไม่ได้ต่อสัญญา ก็อาจจะขายโรงงานทั้งโรงให้กับผู้สนใจที่จะย้ายไปตั้งที่ต่างประเทศ เช่น ตะวันออกกลาง หรือ แอฟริกา ส่วนที่ดินก็คงจะเก็บไว้ทำโรงไฟฟ้าใหม่ที่จะประมูลรอบต่อไป เพราะชาวบ้านในพื้นที่ยอมรับโรงไฟฟ้าอยู่แล้ว และมีทำเลที่ดีติดกับนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด

*คาดกำไรไปี 52 โตกว่าคาด/ปิดซ่อมใหญ่ 2 โรงในQ4

นายวินิจ กล่าวว่า ในปี 52 บริษัทยังมีรายได้จากโรงไฟฟ้าหลัก ได้แก่ โรงไฟฟ้าบีแอลซีพี(1.4 พันMW), โรงไฟฟ้าแก่งคอย 2(1.5 พันMW) ซึ่งเดินเครื่องเด็มที่ รวมทั้งจะรับรู้รายได้เต็มจากโรงไฟฟ้าน้ำเทิน 2(1 พันMW)รวมทั้งโรงไฟฟ้า SPP 5 โรง ส่วนโรงไฟฟ้าขนอม(800 MW)และโรงไฟฟ้าระยอง(1.2 พัน MW) จะมีรายได้ลดลง เนื่องจากโครงสร้างรายได้ของทั้ง 2 แห่งลดลงเมื่อใกล้หมดสัญญาเหลือเพียงโรงละ ประมาณ 300-400 ล้านบาท

และในไตรมาส 4/52 บริษัทจะปิดซ่อมบำรุงในโรงไฟฟ้าบีแอซีพี กับ โรงไฟฟ้าระยอง

"ในไตรมาสแรกดีกว่าแผน 1 พันล้านบาท ส่วนไตรมาส 2 นี้คาดว่าผลประกอบการเป็นไปตามแผน แต่รวมทั้งปีคาดว่ากำไรน่าจะดีกว่าแผน ดีกว่าที่ตั้งเป้ากำไรไว้ 5 พันกว่าล้านบาท คิดว่าปีนี้กำไรทำได้ดีขึ้น เพราะเราเน้นเรื่องการประหยัดค่าใข้จ่ายด้วย และโรงไฟฟ้าบีแอลซีพีและแก่งคอย 2 เดินเครื่องมากกว่าแผนที่ตั้งใจไว้ การไม่หยุดซ่อมบำรุงมาก ก็ทำให้ค่าความพร้อมมาก"

อย่างไรก็ตาม กำไรสุทธิปีนี้คงจะไม่สูงกว่าปีก่อนที่ 6.9 พันล้านบาท

ปีนี้แม้ว่าเศรษฐกิจชะลอตัว ความต้องการใช้ไฟฟ้าลดลงประมาณ 5% ประกอบกับ การชะลอโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าหลายแห่ง ซึ่งบริษัทได้รับผลกระทบในโครงการน้ำอูและน้ำเทิน 1 ในสปป.ลาว แต่เชื่อว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าจะเริ่มกลับมาดีขึ้นหากภาวะเศรษฐกิจกลับมาดีขึ้นในช่วงปี 53

โครงสร้างผู้ถือหุ้น EGCO ณ 10 มี.ค.ที่ผ่านมามีการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)สัดส่วน 25.41%, บริษัท วัน เอนเนอร์จี้ ไทยแลนด์ ลิมิเต็ด ถือ 22.42% และผู้ลงทุนทั่วไป ถือ 52.17%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ