ทริสฯ คงอันดับเครดิตองค์กร-จัดเครดิตหุ้นกู้ใหม่ CENTEL ที่ A-/Negative

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday July 3, 2009 08:45 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตองค์กรของ บมจ.โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา(CENTEL) ที่ระดับ “A-" ในขณะเดียวกันยังจัดอันดับเครดิตให้แก่หุ้นกู้ไม่มีประกันชุดใหม่ในวงเงินไม่เกิน 2,000 ล้านบาทของบริษัทที่ระดับ“A-" พร้อมแนวโน้ม “Negative" หรือ“ลบ"

อันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนการมีแหล่งกระแสเงินสดที่กระจายตัวทั้งจากธุรกิจโรงแรมและธุรกิจอาหารบริการด่วน รวมทั้งสถานะผู้นำในธุรกิจอาหารบริการด่วน และการมีโรงแรมที่มีความหลากหลายด้วยสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่ง โดยอันดับเครดิตยังพิจารณาถึงการได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มเซ็นทรัลด้วย

อย่างไรก็ตาม จุดเด่นดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากภาวะอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่ซบเซาอันเนื่องมาจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ตกต่ำ ลักษณะของธุรกิจโรงแรมที่ขึ้นอยู่กับฤดูกาลและถูกกระทบจากปัจจัยภายนอกได้ง่าย รวมทั้งจากลักษณะของธุรกิจอาหารบริการด่วนที่มีการแข่งขันรุนแรงและมีอัตรากำไรต่ำ นอกจากนี้ การที่บริษัทขยายการลงทุนในธุรกิจโรงแรมอย่างต่อเนื่องซึ่งอาจต้องอาศัยเงินลงทุนจำนวนมากยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ต้องระมัดระวังด้วย

แนวโน้มอันดับเครดิต “Negative" หรือ “ลบ" สะท้อนถึงผลการดำเนินงานของบริษัทที่อ่อนตัวลงในช่วงเวลาที่มีค่าใช้จ่ายฝ่ายทุน อันดับเครดิตของบริษัทอาจได้รับผลกระทบในทางลบหากผลการดำเนินงานของโรงแรมยังคงได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง หรือหากบริษัทยังคงขยายธุรกิจต่อไปโดยมีค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนสูงกว่าที่เป็นอยู่ ทั้งนี้ คาดว่าบริษัทจะสามารถบรรลุแผนในการลดอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนได้ภายหลังจากที่โรงแรมใหม่ 2 แห่งเริ่มเปิดให้บริการ

ทริสเรทติ้งรายงานว่า CENTEL ก่อตั้งโดยตระกูลจิราธิวัฒน์ในปี 2523 เพื่อดำเนินธุรกิจโรงแรมในประเทศไทย ปัจจุบันบริษัทบริหารโรงแรมระดับสี่ดาวและห้าดาวจำนวน 16 แห่ง จำนวนห้องพักเกือบ 2,700 ห้อง ซึ่งตั้งอยู่ในแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญในประเทศ

บริษัทบริหารงานโรงแรมของตนเองภายใต้ชื่อ“เซ็นทารา"ยกเว้นโรงแรมโซฟิเทลเซ็นทาราแกรนด์รีสอร์ทแอนด์วิลล่าหัวหินเท่านั้นที่บริหารโดย Accor International นอกจากนี้ บริษัทยังบริหารงานโรงแรมโซฟิเทล เซ็นทารา แกรนด์ กรุงเทพ และโรงแรมโนโวเทล เซ็นทารา หาดใหญ่ภายใต้แฟรนไชส์ของกลุ่ม Accor ด้วย

บริษัทดำเนินธุรกิจอาหารบริการด่วนภายใต้การบริหารงานของบริษัทในเครือคือ บริษัท เซ็นทรัลเรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด (CRG) ซึ่งเปิดบริการขายอาหารภายใต้แฟรนไชส์จากต่างประเทศหลากหลายแบรนด์ เช่น “เคเอฟซี" “มิสเตอร์โดนัท" “บาสกิ้นส์-ร้อบบิ้นส์" “อานตี้ แอนส์" “เป็ปเปอร์ลันช์" และ “เบรดปาปา" โดยมีจำนวนสาขารวมทั้งหมดมากกว่า 500 แห่งทั่วประเทศ

ในปีที่ผ่านมารายได้รวมของบริษัทมาจากธุรกิจโรงแรมและอาหารอย่างละครึ่ง เนื่องจากโรงแรมโซฟิเทลแกรนด์กรุงเทพเป็นสินทรัพย์ที่มีความสำคัญซึ่งทำรายได้ให้แก่บริษัทมากถึง 12% ของรายได้รวม ดังนั้น การที่กลุ่มเซ็นทรัลสามารถต่อสัญญาเช่าโรงแรมดังกล่าวกับการรถไฟแห่งประเทศไทยได้อีก 20 ปีจะทำให้บริษัทสามารถรักษาสถานะทางการตลาดในกลุ่มนักท่องเที่ยวประเภทที่ใช้บริการประชุมและสัมมนาและในกลุ่มโรงแรมระดับ 4 ดาวได้

แม้รายได้ของ CENTEL จะยังคงเติบโตในปี 2551 แต่ผลประกอบการโดยรวมของบริษัทกลับอ่อนตัวลงเล็กน้อย โดยบริษัทมีรายได้เพิ่มขึ้น 13% ในปี 2551 เป็น 8,024 ล้านบาท และเพิ่มขึ้นอีก 1% ในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2552 เป็น 2,108 ล้านบาท ในส่วนของรายได้จากธุรกิจโรงแรมนั้น ในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2552 เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อน 5% เป็น 1,054 ล้านบาท ในขณะที่รายได้จากธุรกิจอาหารบริการด่วนกลับลดลง 3% แม้ว่ารายได้จากธุรกิจโรงแรมจะเพิ่มขึ้น แต่อัตรารายได้ต่อห้องพักที่มีอยู่ (Revenue Per Available Room-RevPAR) โดยเฉลี่ยกลับลดลงถึง 16% (ไม่นับรายได้จากโรงแรมเซ็นทาราแกรนด์แอทเซ็นทรัลเวิลด์) จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้เนื่องมาจากสภาวะของอุตสาหกรรมที่ชะลอตัว

ดังนั้นรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากธุรกิจโรงแรมจึงเป็นผลมาจากการมีจำนวนห้องของโรงแรมเซ็นทาราแกรนด์แอทเซ็นทรัลเวิลด์มากกว่า 400 ห้องจากช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อนเป็นสำคัญ และแม้ว่าสภาวะตลาดจะไม่เอื้ออำนวยนัก แต่บริษัทก็สามารถบริหารงานโรงแรมให้มีอัตราการเข้าพักได้มากถึง 71% ในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2552 ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมโดยรวม

ส่วนธุรกิจอาหารบริการด่วนนั้นอยู่ในสภาวะชะลอตัวในช่วงต้นปี 2552 โดยอัตราการขยายตัวของยอดขายของสาขาเดิมลดลง 9% ในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2552 ซึ่งส่งผลให้บริษัทเริ่มปิดสาขาที่ไม่ทำกำไร และในเดือนเมษายน 2552 บริษัททำการปรับแผนกลยุทธ์เพื่อรองรับผลการดำเนินงานที่ชะลอตัวโดยการยกเลิกแฟรนไชส์ของพิซซ่าฮัทและทยอยปิดร้านสาขาของพิซซ่าฮัท 25 แห่ง ซึ่งแม้จะทำให้ยอดขายทั้งปีจากธุรกิจอาหารบริการด่วนลดลง แต่ก็จะทำให้ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทดีขึ้นในระยะยาว

ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทในปีที่ผ่านมาก็ลดลง โดยอัตรากำไรจากการดำเนินงานลดลงประมาณ 18% ในปี 2551 และในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2552 จากระดับเดิมที่ 21% ในปี 2550 อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมก็ลดลงเป็น 15% ในปี 2551 จาก 18% ในปี 2550 อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นประมาณ 55% ณ เดือนมีนาคม 2552 จาก 44% ในปลายปี 2548 จากการที่บริษัทใช้จ่ายมากถึง 6,000 ล้านบาทในการพัฒนาโครงการโรงแรมขนาดใหญ่ถึง 3 แห่งในสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญในประเทศ

และแม้ว่าการที่บริษัทให้เช่าโรงแรมเซ็นทาราแกรนด์บีชรีสอร์ท สมุยในระยะยาวแก่กองทุนรวมสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์โรงแรมและรีสอร์ทในเครือเซ็นทารา (กองทุนฯ หรือ CTARAF) จะทำให้บริษัทมีกระแสเงินสดสุทธิจากค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องเป็นจำนวนถึง 1,400 ล้านบาทซึ่งสามารถทดแทนแผนการเพิ่มทุนเดิมที่เคยวางไว้ได้ แต่บริษัทก็ยังมีความต้องการเงินทุนจำนวนมากเพื่อการพัฒนาโครงการใหม่ บริษัทจึงต้องใช้เงินกู้เพื่อเป็นทุนในการก่อสร้างโรงแรมต่อไป โดย ณ เดือนมีนาคม 2552 บริษัทมีวงเงินสินเชื่อที่ยังไม่เบิกใช้กับธนาคารพาณิชย์ต่างๆ มากกว่า 6,000 ล้านบาท

การที่บริษัทตัดสินใจเลื่อนแผนการก่อสร้างโครงการเซ็นทาราแกรนด์ภูเก็ตออกไปอีก 1 ปีจะส่งผลให้ค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนของบริษัทเพิ่มสูงขึ้นหลังช่วงกลางปี 2552 ภายหลังการก่อสร้างโรงแรมเซ็นทาราแกรนด์มิราจบีช พัทยาแล้วเสร็จในช่วงดังกล่าว จึงคาดว่าอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนจะยังคงอยู่ในระดับสูงไปตลอดจนถึงในปลายปี 2552

ทริสเรทติ้งกล่าวถึงอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศว่าได้รับผลกระทบอย่างกว้างขวางจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ถดถอยและสถานการณ์ทางการเมืองภายในประเทศที่ไม่สงบนับตั้งแต่ปลายปี 2551 จึงคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เข้ามาในประเทศไทยในไตรมาสที่ 2/2552 จะยังคงลดลงต่อเนื่องจากไตรมาสแรกที่ลดลงถึง 15% และยังคาดว่าน่าจะเติบโตในอัตราติดลบเมื่อสิ้นปี ซึ่งส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวโดยรวม รวมทั้งทำให้ผลประกอบการของธุรกิจโรงแรมอ่อนตัวลง และเป็นสาเหตุให้ผู้ประกอบการที่มีปัญหาทางการเงินต้องขายกิจการ ทำให้เป็นโอกาสในการลงทุนแก่ผู้ประกอบการที่มีเงินทุนเพียงพอที่จะซื้อกิจการในราคาที่ถูกลง

ทั้งนี้ การกู้ยืมเงินเพิ่มจะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงทางการเงิน ดังนั้นการดำรงสภาพคล่องและความยืดหยุ่นทางการเงินให้เพียงพอจึงถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้กิจการโรงแรมอยู่รอดได้ในช่วงเศรษฐกิจถดถอย การกู้ยืมเพื่อซื้อกิจการขนาดใหญ่อาจส่งผลกระทบทำให้ฐานะการเงินและสถานะเครดิตของผู้ประกอบการบางรายลดลง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ