นายสุกิจ อุดมศิริกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการอาวุโส สถาบันวิจัยนครหลวงไทย(SCRI) กล่าวว่า ในมุมมองของนักวิเคราะห์ข้อมูลจาก Analyst Consensus ได้มีการปรับประมาณการกำไรสุทธิปี 52 ของบริษัทจดทะเบียนในกลุ่มยานยนต์ลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี 52 แต่ปรับลดประมาณการดังกล่าวได้เริ่มซาลงไปในช่วงเดือน พ.ค.-มิ.ย.52 ซึ่งอาจเป็นการส่งสัญญาณว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ผ่านจุดต่ำสุดของวิกฤติและกำลังรอการฟื้นตัว
แต่คาดว่าผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนในกลุ่มยานยนต์จะฟื้นตัวขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง แต่จะมีสาเหตุมาจากการกลับมาเดินเครื่องผลิตเพื่อชดเชยปริมาณสำรอง(สต็อก)ที่ลดลง มากกว่าจะเป็นการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมอย่างแท้จริง
ทั้งนี้ SCRI มองว่าบริษัทจดทะเบียนกลุ่มยานยนต์มีกำไรสุทธิในงวดไตรมาส 1/52 ลดลงถึง 136%yoy
นายสุกิจ กล่าวว่า จากแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 2 “ปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555" ซึ่งได้ผ่านขบวนการอนุมัติของรัฐสภาในเดือน มิ.ย. 2552 นั้น SCRI ประเมินว่า จะช่วยหนุนให้เศรษฐกิจไทยในช่วงปี 2553-2555 ขยายตัวเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยในกรอบ ปีละ 1.0-2.5%
แต่อย่างไรก็ตาม ถือได้ว่าจะส่งผลให้ภาพโดยรวมของเสถียรภาพการคลัง จะเริ่มมีความเสี่ยงที่จะเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน โดย SCRI ประเมินสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP จะเพิ่มสูงขึ้นสู่ระดับ 60% ต่อ GDP ภายในช่วงปี 2555 ขณะที่ความเสี่ยงในด้านของสภาพคล่อง จากผลของการออกพันธบัตรรัฐบาลเข้ามาดูดซับสภาพคล่องในตลาด คาดว่าจะไม่ส่งผลกระทบมากนักในช่วงปี 2552 เนื่องจากยังคงเหลือปริมาณเงินในระบบอีกพอสมควร
อย่างไรก็ตาม SCRI ประเมินว่าตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นไป สภาพคล่องในระบบมีความเสี่ยงสูงที่จะตึงตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตามปัจจัยการกลับมาฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งจะเริ่มส่งผลให้มีความต้องการลงทุนเพิ่มเติมจากทางภาคเอกชนมากขึ้น ซึ่งโดยรวมแล้วอาจจะเป็นปัจจัยที่กดดันให้ทิศทางอัตราดอกเบี้ยในระบบการเงิน มีโอกาสสูงที่จะเริ่มมีการปรับตัวสูงขึ้นในช่วงปี 2553 เป็นต้นไป ด้าน ผศ.ธัชวรรณ กนิษฐ์พงศ์ หัวหน้าโครงการจัดทำดัชนีชี้วัดขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ไทย คณะบริหารธุรกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA Business School) กล่าวเพิ่มเติมว่า ขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ไทยเมื่อเปรียบเทียบระหว่างผู้ประกอบการภายในประเทศด้วยกันเอง พบว่าดัชนีมีแนวโน้มลดลงอย่างรุนแรง จาก 102.70 ในไตรมาส 4/51 มาที่ 92.89 ในช่วงไตรมาส 1/52 นับเป็นครั้งแรกตั้งแต่เริ่มจัดทำดัชนีช่วงปลายปี 2550 ที่ดัชนีมีค่าต่ำกว่า 100
สาเหตุหลักมาจากการหดตัวของกำลังซื้อที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติการเงินครั้งรุนแรงที่สุดของสหรัฐฯ ที่ลุกลามจนนำไปสู่วิกฤติเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก รวมทั้งศักยภาพในการรองรับวิกฤติเศรษฐกิจของอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ของไทยเองที่ยังมีจุดเปราะบางในหลายด้านด้วยกัน อาทิ การพึ่งพาตลาดส่งออกในสัดส่วนที่สูง เป็นต้น