SCRI คาดตลาดหุ้นฟื้นครึ่งปีหลังตามแนวโน้มศก.จับตาเงินเฟ้อ-ดอลล์-ดอกเบี้ย

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday July 3, 2009 13:53 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสุกิจ อุดมศิริกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการอาวุโส สถาบันวิจัยนครหลวงไทย เปิดเผยในการเสวนา "วิเคราะห์สถานการณ์วิกฤติเศรษฐกิจโลก"ว่า ทิศทางตลาดหุ้นไทยในช่วงครึ่งปีหลังว่ามีโอกาสฟื้นตัวมากขึ้นตามทิศทางเศรษฐกิจที่เห็นสัญญาณที่ดีขึ้น แม้ในไตรมาส 3 ตลาดหุ้นอาจมีการปรับพอร์ตการลงทุนและในไตรมาส 4 จะกลับมาสร้างพอร์ตใหม่เพื่อให้ต่อเนื่องในปีหน้า

แต่ในช่วง 45 วันนี้ที่จะมีการประกาศผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในไตรมาส 2 อาจจะส่งผลต่อการปรับตัวลงของดัชนีลดลงและผันผวนจากปัจจัยที่เข้ามากระทบก่อนหน้านี้

สำหรับหุ้นที่มีความน่าสนใจมากและมีความเสี่ยงต่ำ เช่น อาหาร เกษตร พาณิชย์ สื่อ และชิ้นส่วนตกแต่งบ้าน ขณะที่หุ้นที่มีความน่าสนใจลดน้อยลงกว่ากลุ่มแรกและมีความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น เป็นกลุ่มที่มีการฟื้นตัวควบคู่ไปกับภาวะเศรษฐกิจ อาทิ กลุ่มพลังงาน นอกจากนี้กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงและมีความน่าสนใจต่ำนักลงทุนต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เช่น กลุ่มวัสดุก่อสร้าง ท่องเที่ยว ชิ้นส่วนยานยนต์

นายสุกิจ กล่าวว่า สิ่งที่น่าเป็นกังวลในช่วงครึ่งหลังปีนี้และเป็นปัจจัยที่จะต้องให้ความสำคัญต่อภาวะเศรษฐกิจ 3 ด้าน คือ 1.อัตราเงินเฟ้อ ซึ่งมองว่าในช่วงเดือนส.ค-ต.ค จะเห็นการปรับขึ้นทั่วเอเชีย โดยเฉพาะจีนเป็นประเทศที่มีการฟื้นตัวเศรษฐกิจได้เร็วที่สุด รวมไปถึง เวียดนาม อินเดีย

2. การเคลื่อนไหวสกุลเงินดอลลาร์ ในช่วงไตรมาสที่ 3/52 ดอลลาร์มีโอกาสแข็งค่ามากขึ้น ก่อนที่จะอ่อนตัวในไตรมาส 4/52 ขณะที่หลายประเทศพยายามมองหาสกุลเงินใหม่เพื่อลดสัดส่วนถือครองเงินสกุลดอลลาร์ เช่น จีน รวมทั้งผลสรุปจากการประชุม G8 ในสัปดาห์หน้า ซึ่งเชื่อว่าจะส่งผลกระทบต่อเงินดอลลาร์เช่นกัน และ 3.ทิศทางอัตราดอกเบี้ย

นายสุกิจกล่าวว่า เศรษฐกิจประเทศไทยมีแนวโน้มที่ดีขึ้น โดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีหลัง และจากภาพรวมเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะมาตราการของภาครัฐที่จะกระตุ้นการลงทุน ขณะที่ภาคการผลิตก็เริ่มเห็นสัญญานการขยายธุรกิจมากขึ้น ซึ่งถือเป็นตัวบ่งบอกว่าสถานการณ์เริ่มดีขึ้น

ส่วนในปี 53 อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยคงไม่ปรับลดลงมากเท่ากับปีนี้ แต่ยังไม่น่าไว้วางใจ โดยประเมินว่าเศรษฐกิจโลกอาจจะปรับตัวเป็น V Shape ในปี 54 ขณะที่ภาวะอัตราเงินเฟ้อจะเป็นตัวกดดันเศรษฐกิจโลกได้อีกครั้ง เนื่องจากราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น โดยประเมินว่าในปีนี้ราคาน้ำมันในตลาดโลกเฉลี่ยอยู่ที่ 70 ดอลลาร์/บาร์เรล ดังนั้น อาจจะมีผลทำให้เงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นในช่วงเดือน ส.ค.-ต.ค. นี้เพราะขณะนี้ผู้ผลิตสินค้าเริ่มที่จะปรับราคาสินค้าขึ้นแล้ว

ด้านนายเอกชัย นิตยาเกษตรวัฒน์ คณบดี และประธานโครงการสร้าง CFO มืออาชีพคณะบริหารธุรกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ กล่าวว่า อัตราเงินเฟ้อในเดือนมิ.ย.ที่ลดลงถึง 4.0% และลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 ยังไม่ถึงขั้นเกิดภาวะเงินฝืด เพราะการลดลงของเงินเฟ้อมาจากราคาน้ำมันลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าภาวะเงินเฟ้อที่ปรับลดลงต่อเนื่องในอัตราที่มากถึง 4% ก็ไม่น่าไว้วางใจ เพราะจะมีผลกระทบต่อการผลิตของเอกชน ทำให้เอกชนไม่ต้องการผลิตสินค้า ดังนั้น รัฐบาลต้องดูแลไม่ให้เงินเฟ้อลดลงมากกว่านี้โดยการกระตุ้นการบริโภคและการลงทุน เพื่อให้เอกชนลงทุนตาม เกิดการจ้างงานเพิ่มรายได้ของประชาชนให้มีกำลังซื้อจับจ่ายสินค้าซึ่งจะช่วยให้ภาวะเงินเฟ้อปรับตัวดีขึ้นได้ โดยเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับเหมาะสมควรอยู่ที่ 2-3 % เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ