บมจ. ถิรไทย (TRT) เล็งเพิ่มสัดส่วนรายได้ต่างประเทศเป็น 40-45% ใน 2 ปีข้างหน้า จากขณะนี้อยู่ที่ 33% รวมทั้งเน้นงานหม้อแปลงขนาดใหญ่ 300 MVA เนื่องจากให้มาร์จิ้นสูง คาดว่าน่าจะช่วยดันรายได้และกำไรเพิ่มขึ้น
นายสัมพันธ์ วงษ์ปาน กรรมการผู้จัดการ TRT เปิดเผยว่า บริษัทมีแผนเพิ่มยอดขายจากการผลิตหม้อแปลงไฟฟ้ากำลังขนาดใหญ่ 300 MVA เพิ่มมากขึ้นทั้งในและต่างประเทศ เนื่องจากสินค้าดังกล่าวมีอัตรากำไรขั้นต้น(มาร์จิ้น)สูงกว่าหม้อแปลงไฟฟ้าขนาดเล็ก ที่มีมาร์จิ้นประมาณ 20-25% กว่า ๆ
ล่าสุด บริษัทรับงานหม้อแปลงไฟฟ้าขนาดใหญ่ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) มูลค่า 1 พันกว่าล้านบาท และ หม้อแปลงขนาด 200 MVA อีก 500-600 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่จะทยอยรับรู้รายได้ตั้งแต่ปี 53
พร้อมกันนั้น บริษัทจะขยายตลาดหม้อแปลงขนาดใหญ่ไปยังต่างประเทศในภูมิภาค เช่น เวียดนาม และอินเดีย ให้ครอบคลุมจากปัจจุบันมากยิ่งขึ้น โดยตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนการส่งออกเป็น 40-45% ในอีก 2 ปีข้างหน้าจากที่อยู่ในระดับ 33% ในปัจจุบัน ที่เหลือเป็นรายได้จากภาครัฐและเอกชนอย่างละ 33% และอื่นๆ
"บริษัทเราถือว่าเติบโตสม่ำเสมอ ไม่หวือหวา ดังนั้นการเติบโตของบริษัทจึงค่อยเป็นค่อยไป หม้อแปลงขนาดใหญ่จะเป็นตัวช่วยเราจากนี้ต่อไปอีก 2 ปี และตอนนี้เราก็ได้งานจาก กฟผ. อีกอย่างต่อเนื่อง น่าจะทำให้เรามีการเติบโตของรายได้และกำไรอย่างโดดเด่นใน 2-3 ปีข้างหน้า เพราะงานหม้อแปลงขนาดใหญ่จะเป็นงานที่ได้รับทำในระยะยาว"นายสัมพันธ์ กล่าว
นายสัมพันธ์ กล่าวต่อว่า ใน 2 ปีข้างหน้าการเติบโตของบริษัทจะเพิ่มขึ้นจากการขยายการรับงานหม้อแปลงไฟฟ้าขนาดใหญ่ แต่ในปีนี้ก็ยังขยายตัวได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ที่มีรายได้ 2.6 พันล้านบาท เนื่องจากปริมาณความต้องการใช้ไฟฟ้าที่ปรับตัวสูงขึ้นของภาคอุตสาหกรรม นอกจากนี้ บริษัทยังมีงานในมือ(Backlog)ประมาณ 2.2 พันล้านบาท
นอกจากนี้ ยังอยู่ระหว่างการดำเนินงานหลายโครงการ เช่น งานของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) มูลค่า 176 ล้านบาท การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ประมาณ 210 ล้านบาท โครงการ Hi-tech Systems ประเทศอินเดีย มูลค่า 129 ล้านบาท และโครงการ Stone & Webster ประเทศสิงคโปร์ มูลค่า 108 ล้านบาท
นายสัมพันธ์ กล่าวถึงการเสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญ(TRT-W1) จำนวน 67,547,500 หน่วย ระยะเวลา 2 ปี ที่จะเข้าเทรดวันที่ 9 ก.ค.นี้ กำหนดราคาแปลงสภาพ 3 บาท/หุ้น เป็นราคาที่ต่ำกว่าราคาหุ้นในกระดาน 50% โดยราคาปัจจุบันอยู่ที่ 5.80 บาท น่าจะทำให้วอร์แรนต์ของบริษัทมีความน่าสนใจ
และหากมีการใช้สิทธิเต็มจำนวนก็จะทำให้บริษัทได้เงินจากการออกวอแรนต์ครั้งนี้ 200 ล้านบาท จะเป็นการรองรับการเพิ่มสภาพคล่องในอีก 2 ปีข้างหน้า และยังเป็นทุนหมุนเวียน รวมถึงนำมาชำระหนี้ ซึ่งจะทำให้อัตราหนี้สินต่อทุน (D/E) ลดลงเหลือไม่เกิน 1 เท่า จาก 1.3-2 เท่าในปัจจุบัน
"การที่เราเลือกการออกวอแรนต์แทนที่จะเพิ่มทุน เพราะเรายังไม่ได้ต้องการใช้เงินในตอนนี้ และไม่อยากให้หุ้น dilute เร็ว ผมพอใจกับการซื้อขายหุ้น TRT ที่ 2-4 แสนหุ้นต่อวัน แต่การออกวอแรนต์ก็เพื่อ 2 ปีที่เรามองว่าหม้อแปลงไฟฟ้าขนาดใหญ่จะมีอัตราการเติบโตและความต้องการใช้สูงขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ"นายสัมพันธ์ กล่าว