บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตองค์กรของ บมจ.วีนิไทย(VNT)ที่ระดับ “A-" แนวโน้ม “Stable" หรือ “คงที่" เป็นผลมาจากที่บริษัทมีเครื่องจักรและอุปกรณ์การผลิตครบวงจรและมีประสิทธิภาพ รวมทั้งมีฐานะทางการเงินแข็งแกร่ง คณะผู้บริหารมีความสามารถ และได้รับการสนับสนุนจากผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ได้แก่ Solvay S.A. ของประเทศเบลเยี่ยม บมจ.ปตท.เคมิคอล(PTTCH) และกลุ่มเจริญโภคภัณฑ์(ซีพี)
อย่างไรก็ตาม จุดแข็งดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากธรรมชาติที่เป็นวัฏจักรขึ้นลงของอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ตลอดจนราคาสินค้าที่แกว่งตัวอย่างรุนแรง และอุปสงค์ที่อ่อนตัวลงตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" สะท้อนถึงความคาดหมายว่าบริษัทจะคงความสามารถในการรักษาโครงสร้างต้นทุนการผลิตให้อยู่ในระดับต่ำต่อไปได้และไม่มีปัจจัยที่เป็นผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่ออุตสาหกรรมพีวีซี โดยทริสเรทติ้งคาดว่าผู้บริหารของบริษัทจะยังคงดำเนินนโยบายทางการเงินที่ระมัดระวังต่อไปทั้งในระยะปานกลางและระยะยาว
VNT เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายโพลีไวนิล คลอไรด์ หรือพีวีซี (Polyvinyl Chloride) รายใหญ่อันดับ 2 ของประเทศ โดยมีกำลังการผลิต 280,000 เมตริกตันต่อปี คิดเป็น 28% ของกำลังการผลิตรวมภายในประเทศ บริษัทได้รับการสนับสนุนในการดำเนินงานจากผู้ถือหุ้นหลักอย่างเต็มที่ โดย Solvay ให้ความช่วยเหลือด้านเทคโนโลยีและการจำหน่ายสินค้าในตลาดต่างประเทศ ในขณะที่ PTTCH เป็นผู้จัดหาเอธิลีน และกลุ่มซีพีเป็นลูกค้ารายสำคัญ
บริษัทมีโรงงานผลิตพีวีซีที่มีกระบวนการผลิตครบวงจรซึ่งทำให้บริษัทมีอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานที่สูงกว่าคู่แข่ง โดยปรับตัวสูงถึง 19.3% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2551 เมื่อเทียบกับ 11.8% ในช่วงเดียวกันของปีก่อน
การที่ราคาปิโตรเคมีลดลงอย่างรวดเร็วในไตรมาสสุดท้ายของปี 2551 ทำให้บริษัทขาดทุนจากสินค้าคงคลังและมียอดขายลดลง ส่งผลให้อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานในปี 2551 ลดลงเป็น 15.8% แต่ก็ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 21.8% ในไตรมาสแรกของปี 2552 เนื่องจากราคาเอธิลีนซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญลดลงอย่างมาก ในขณะที่ราคาโซดาไฟซึ่งเป็นผลพลอยได้ยังคงตัวอยู่ในระดับสูง วิกฤตเศรษฐกิจซึ่งเริ่มเกิดในช่วงไตรมาส 3/2551 ได้ส่งผลให้การบริโภคลดลงทั่วโลก และคาดว่าสถานการณ์อาจจะยืดเยื้อและก่อให้เกิดผลกระทบอย่างมากต่อไปอีกระยะหนึ่ง
ทั้งนี้ คาดว่าปริมาณการบริโภคพีวีซีอาจฟื้นตัวจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ อย่างไรก็ตาม ผลสำเร็จของมาตรการดังกล่าวยังไม่ปรากฏผลเป็นรูปธรรมในขณะนี้
ฐานะทางการเงินของ VNT ยังคงความแข็งแกร่งซึ่งได้รับแรงหนุนจากกระแสเงินสดจากการดำเนินงานและภาระหนี้สินที่ต่ำ แม้ในปี 2551 ยอดขายจะลดลง 4% จากปีก่อน แต่ราคาสินค้าเฉลี่ยที่ปรับตัวสูงขึ้นทำให้รายได้จากการขายสูงขึ้น 5% นอกจากนี้ ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2552 บริษัทสามารถเพิ่มยอดการส่งออกเพื่อทดแทนยอดขายในประเทศที่ลดลง ส่งผลให้ยอดขายรวมของบริษัทเพิ่มขึ้น 7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่เนื่องจากราคาขายเฉลี่ยของพีวีซีและวีซีเอ็ม (ไวนิล คลอไรด์ โมโนเมอร์ หรือ Vinyl Chloride Monomer) ลดลงประมาณ 20%-40% จึงทำให้รายได้จากการขายลดลง 12%
การมีอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานที่ปรับตัวดีขึ้นส่งผลให้บริษัทมีเงินทุนจากการดำเนินงานในปี 2551 เพิ่มขึ้นถึงกว่า 2,000 ล้านบาทเป็นปีแรก และเฉพาะในไตรมาสแรกของปี 2552 มีจำนวน 461 ล้านบาท เนื่องจากบริษัทไม่มีการกู้เงินเพิ่มในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาจึงส่งผลให้บริษัทยังคงสภาพคล่องสูง ซึ่งเห็นได้จากอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมที่เพิ่มขึ้นและอัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายที่อยู่ในระดับสูง อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทลดลงเหลือเพียง 10.5% ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2552 สะท้อนถึงนโยบายการเงินที่มีความระมัดระวังมากซึ่งจะช่วยเสริมสภาพคล่องให้แก่บริษัท โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัว
VNT กำลังศึกษาโอกาสในการลงทุนเพื่อขยายการเติบโตของธุรกิจ ซึ่งบริษัทอาจมีการกู้เงินเพิ่มในอนาคต ทริสเรทติ้งจะติดตามตรวจสอบแผนการลงทุนดังกล่าวอย่างใกล้ชิดและคาดว่าบริษัทจะวางแผนการเงินอย่างเหมาะสมเพื่อคงสภาพคล่องให้เพียงพอ