ทริสจัดอันดับเครดิตองค์กร-หุ้นกู้"บ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ"ที่ A/Stable

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday July 17, 2009 09:32 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศจัดอันดับเครดิตองค์กรของ บมจ. ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTS) ที่ระดับ “A" ในขณะเดียวกันยังจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่มีประกันมูลค่า 20,000 ล้านบาทของบริษัทที่ระดับ “A" ด้วยแนวโน้ม “Stable" หรือ “คงที่" โดยบริษัทจะนำเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ในครั้งนี้ไปใช้ชำระคืนหนี้เงินกู้ โดยอันดับเครดิตนี้ตั้งอยู่บนสมมุติฐานว่าบริษัทจะไม่ใช้สิทธิในการไถ่ถอนหุ้นกู้แปลงสภาพก่อนที่จะมีการขายหุ้นกู้ใหม่ ทั้งนี้อันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงปริมาณผู้โดยสารในระบบที่สม่ำเสมอ กระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่แน่นอน ประโยชน์จากการเป็นผู้ให้บริการขนส่งมวลชนระบบรางเพียงผู้เดียวในเขตกรุงเทพชั้นใน แนวโน้มการเติบโตของผู้โดยสาร และการมีงบดุลที่แข็งแกร่งหลังออกจากแผนฟื้นฟูกิจการ ทว่าความแข็งแกร่งดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากการที่มีโครงข่ายการให้บริการเพียงโครงข่ายเดียว ค่าใช้จ่ายในการลงทุนที่สูงในช่วง 4 ปีข้างหน้า ความเสี่ยงทางธุรกิจที่เพิ่มขึ้นจากการที่บริษัทเริ่มไปดำเนินธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ผ่านทางบริษัทย่อย และความเสี่ยงทางการเมืองซึ่งเป็นปกติสำหรับบริษัทที่ได้รับสัมปทานจากภาครัฐ นอกจากนี้ผู้ถือหุ้นกู้ควรตระหนักว่าตามข้อกำหนดว่าด้วยสิทธิและหน้าที่ของบริษัทและผู้ถือหุ้นกู้ไม่มีข้อห้ามไม่ให้บริษัทก่อภาระผูกพันในทรัพย์สินของบริษัท ถึงแม้ว่าปัจจุบันทรัพย์สินทั้งหมดของบริษัทปลอดจากภาระผูกพัน บริษัทอาจจดจำนองทรัพย์สินของบริษัทให้แก่เจ้าหนี้ได้ในอนาคต หากเกิดกรณีดังกล่าวอันดับเครดิตของหุ้นกู้อาจถูกลดลงจากอันดับเครดิตของบริษัทได้

แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนถึงการคาดการณ์ว่าบริษัทจะรักษามาตรฐานการให้บริการที่ดีเพื่อรักษาลูกค้าให้มาใช้บริการ ถึงแม้ทริสเรทติ้งจะคาดว่าบริษัทจะลงทุนอย่างมากในธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในอีก 4 ปีข้างหน้า ความตั้งใจของผู้บริหารที่จะยืนอันดับเครดิต รวมทั้งกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่แข็งแกร่งจากธุรกิจรถไฟฟ้าน่าจะทำให้บริษัทสามารถรักษาโครงสร้างเงินทุนและความสามารถในการชำระหนี้ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมกับอันดับเครดิตได้

ทริสเรทติ้งรายงานว่า บริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ ก่อตั้งในปี 2535 โดยเป็นผู้ประกอบการเอกชนเพียงรายเดียวที่เป็นผู้ลงทุนในโครงการระบบขนส่งมวลชนในประเทศไทย บริษัทได้รับสัมปทานเป็นระยะเวลา 30 ปีจากกรุงเทพมหานคร เพื่อก่อสร้างและดำเนินการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ระบบรถไฟฟ้า บีทีเอส) ระบบรถไฟฟ้า บีทีเอส เป็นระบบรางยกระดับ เริ่มเปิดดำเนินการเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2542 โดยวิ่งอยู่เหนือถนนที่มีสภาพการจราจรติดขัด 3 สาย (สีลม สาธร และสุขุมวิท) ผ่านชุมชนที่อยู่อาศัย ย่านเศรษฐกิจชั้นใน และย่านการค้าหลัก ระบบรถไฟฟ้า บีทีเอส มีสถานีรวม 25 สถานีให้บริการเป็นระยะทางรวมทั้งสิ้น 25.7 กิโลเมตร โดยมี 2 สาย คือสายสีลม และ สายสุขุมวิท มีสถานีเชื่อมต่อระหว่าง 2 สายที่สถานีสยาม ระบบรถไฟฟ้า บีทีเอส เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าใต้ดิน (ดำเนินการโดยบริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน)) ที่สถานีอโศก สถานีศาลาแดง และสถานีหมอชิต ความได้เปรียบในการแข่งขันของระบบรถไฟฟ้า บีทีเอส อยู่ที่ความปลอดภัย สะดวกและความเที่ยงตรงในการเดินทาง

บริษัทได้รับสิทธิในการจัดเก็บรายได้ค่าโดยสาร รวมทั้งการให้เช่าพื้นที่และการโฆษณาในสถานีจำนวน 23 สถานี (ยกเว้นสถานีที่เปิดใหม่ 2 สถานี คือ สถานีกรุงธนบุรี และสถานีวงเวียนใหญ่ บนสายสีลม) ในวันที่ 29 มิถุนายน 2544 ได้ทำสัญญาให้สิทธิในการบริหารด้านการตลาดในการบริหารจัดการพื้นที่เช่าร้านค้าและพื้นที่โฆษณาภายในโครงการระบบรถไฟฟ้าแก่ บริษัท วี จี ไอ โกลบอล มีเดีย จำกัด (วีจีไอ โกลบอล) ทั้งนี้ บริษัทได้รับค่าธรรมเนียมขั้นต่ำตามที่ระบุไว้ หรือได้รับส่วนแบ่ง 50% ของรายได้ที่เกิดขึ้นจากการให้เช่าพื้นที่เพื่อการโฆษณาและขายสินค้า แล้วแต่อัตราใดจะสูงกว่า โดย วีจีไอ โกลบอล เป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการลงทุนและการดำเนินการเองทั้งหมด ในวันที่ 13 มีนาคม 2552 ได้เซ็นสัญญาจะซื้อจะขายหุ้นทั้งหมดของ วีจีไอ โกลบอล กับ บริษัท เอฟเอ็นเอเซีย แอดไวซอรี่ จำกัด เป็นจำนวนเงิน 2,500 ล้านบาท ซึ่งการซื้อขายนี้คาดว่าจะเรียบร้อยในไตรมาสที่ 3 ของปี 2552 นอกเหนือจากธุรกิจสื่อโฆษณาบริษัทยังได้ขยายธุรกิจไปยังธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ตามแนวรถไฟฟ้าผ่านทางบริษัทย่อย คือ บริษัท นูโว ไลน์ เอเจนซี่ จำกัด (นูโว ไลน์) และบริษัท ยูนิโฮลดิ้ง จำกัด (ยูนิโฮลดิ้ง) ปัจจุบันบริษัทมีที่ดินเพื่อรอการพัฒนาจำนวน 3 แปลง และที่ดินอีก 2 แปลงที่มีการทำสัญญาจะซื้อจะขาย ทั้งหมดอยู่ใกล้หรือติดกับสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส ทั้งนี้โครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์โครงการแรกของกลุ่มเป็นโรงแรม 4 ดาว ตั้งอยู่บนถนนสาทรใต้ติดกับสถานีรถไฟฟ้าสุรศักดิ์

บริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ ประสบปัญหาทางด้านการเงินตั้งแต่เริ่มเปิดให้บริการ ผลการดำเนินงานต่ำกว่าที่คาดไว้ซึ่งเป็นผลมาจากจำนวนผู้โดยสารที่ต่ำกว่าประมาณการ ในขณะที่ภาระหนี้เพิ่มสูงขึ้นจากการอ่อนตัวลงของค่าเงินบาทส่งผลทำให้ดอกเบี้ยจ่ายสูงขึ้น จำนวนผู้โดยสารของระบบรถไฟฟ้าบีทีเอสเริ่มอยู่ในระดับที่คงตัวในปี 2547 โดยมีจำนวนผู้โดยสารถึง 100 ล้านเที่ยว ซึ่งใช้เวลา 4 ปีนับจากเริ่มให้บริการ ในรอบปีบัญชี 2552 จำนวนผู้โดยสารอยู่ที่ 135,939,800 เที่ยว ทั้งนี้มีจำนวนผู้โดยสารในวันทำงานอยู่ที่ 429,004 เที่ยว/วัน ทริสเรทติ้งเชื่อว่าจำนวนผู้โดยสารของระบบรถไฟฟ้าบีทีเอสจะเติบโตอย่างต่อเนื่องซึ่งเป็นผลจากการขยายเส้นทางการให้บริการระบบรถไฟฟ้า การขยายตัวของการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ตามแนวระบบรถไฟฟ้าบีทีเอส การจราจรที่ติดขัด และการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจประเทศไทย

สำหรับปีบัญชีสิ้นสุดเดือนมีนาคม 2552 บริษัทรายงานกำไรทั้งสิ้น 21,911 ล้านบาท โดยมีกำไรจากการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ทั้งสิ้น 22,447 ล้านบาท รายได้ค่าโดยสารอยู่ที่ 3,288 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 67 ล้านบาท (2.1%) จากปีบัญชี 2551 ซึ่งเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของผู้โดยสาร 2.1% อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาตกลงมาอยู่ที่ 52.77% เปรียบเทียบกับ 54.46% ในปีบัญชี 2551ซึ่งเป็นผลมาจากค่าใช้จ่ายที่ปรึกษาที่เพิ่มสูงขึ้นจากการปรับโครงสร้างทางการเงิน

หลังจากออกจากแผนฟื้นฟูกิจการในเดือนตุลาคม 2551 โครงสร้างเงินทุนของบริษัทอยู่ในระดับที่ค่อนข้างแข็งแกร่ง ณ เดือนมีนาคม 2552 ภาระหนี้ (รวมประมาณการดอกเบี้ยจ่ายในอนาคตจำนวน 4,895 ล้านบาท แต่ไม่รวมหุ้นกู้แปลงสภาพจำนวน 5,745 ล้านบาท) อยู่ที่ 14,751 ล้านบาท อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนอยู่ที่ 37.65% และอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมอยู่ที่ 8.01% อย่างไรก็ตามด้วยแผนการลงทุนที่สูงทริสเรทติ้งคาดว่าภาระหนี้ของบริษัทจะยังคงอยู่ในระดับที่สูงในช่วง 4 ปีข้างหน้า ถึงแม้ว่าเงินลงทุนจะสูงกว่ากระแสเงินสดจากการดำเนินงานในช่วงการก่อสร้างของโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ บริษัทก็ถูกคาดหวังว่าจะรักษาอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนที่ไม่เกิน 40%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ