ฟิทช์อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว BAY ที่ ‘BBB’ แนวโน้มลบ

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday July 20, 2009 17:44 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศคงอันดับเครดิตของธนาคารกรุงศรีอยุธยา(BAY)โดยอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว (Foreign Currency Issuer Default Rating (IDR)) ที่ ‘BBB’ แนวโน้มเป็นลบ อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้นที่ ‘F3’ อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินที่ระดับ ‘C’ อันดับเครดิตสนับสนุนที่ระดับ ‘3’ อันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำ (Support Rating Floor) ที่ ‘BB+’

อันดับเครดิตภายในประเทศ (National Rating) ระยะยาว ที่ ‘AA-(tha)’ (AA ลบ (tha)) แนวโน้มมีเสถียรภาพ อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นที่ ‘F1+ (tha)’ อันดับเครดิตภายในประเทศของหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่ ‘A+(tha)’ และ อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศของหุ้นกู้ด้อยสิทธิ ที่ ‘BBB-’ (BBB ลบ)

อันดับเครดิตของธนาคารสะท้อนถึงผลการดำเนินงานและคุณภาพสินทรัพย์ที่ปรับตัวดีขึ้น รวมถึงสถานะเงินกองทุนของธนาคารที่แข็งแกร่ง ถึงแม้สภาพเศรษฐกิจโดยรวมยังคงอ่อนแอ BAY ประกาศผลประกอบการของปี 2551 โดยมีกำไรสุทธิ 4.9 พันล้านบาท ปรับตัวดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเทียบกับผลขาดทุน 4 พันล้านบาทในปี 2550 ถึงแม้ว่าได้มีการตัดจำหน่ายเงินลงทุนใน Collateralised Debt Obligations (CDOs) โดยผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นมีสาเหตุหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของรายได้จากการเข้าซื้อกิจการของ AYCAL (เดิมชื่อ GECAL) ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2551 และจากการตั้งสำรองหนี้สูญที่ลดลงมา

สำหรับไตรมาสที่ 1 ปี 2552 ธนาคารประกาศผลกำไรจำนวน 1 พันล้านบาท ซึ่งไม่เปลี่ยนแปลงเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ในส่วนของอัตราส่วนต่างดอกเบี้ยสุทธิของธนาคาร มีการปรับตัวดีขึ้นเป็น 4.2% ในปี 2551 จาก 3.4% ในปี 2550 เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อรายย่อยที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า และการลดลงของสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL)

คุณภาพสินทรัพย์ของธนาคารได้ปรับตัวดีขึ้นอย่างมาก โดยสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ลดลงเหลือ 10%ของสินเชื่อรวม ณ สิ้นปี 2551 (16% ณ สิ้นปี 2550) จากการขายสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้และการปรับโครงสร้างหนี้ สัดส่วนของสำรองหนี้สูญต่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ปรับตัวสูงขึ้นเป็น 58.6% ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2552 (45.0% ณ สิ้นปี 2549) แต่ยังคงต่ำกว่าระดับเฉลี่ยของอุตสาหกรรมซึ่งอยู่ที่ประมาณ 70%

ฟิทช์มีความเห็นว่าด้วยสภาพเศรษฐกิจโดยรวมที่ยังคงอ่อนแอและระดับการตั้งสำรองที่อยู่ในระดับปานกลาง ธนาคารยังมีความเสี่ยงในเรื่องการตั้งสำรองเพิ่ม แต่อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงดังกล่าวน่าจะชดเชยได้ด้วยรายได้

สภาพคล่องของ BAY อยู่ในระดับที่เพียงพอ โดยสัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝาก (รวมเงินกู้ยืมระยะสั้น) อยู่ที่ 98.7% ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2552 อย่างไรก็ตามการพึ่งพาแหล่งเงินทุนโดยกู้ยืมจากสถาบันการเงินและการออกตราสารหนี้ได้เพิ่มขึ้นอย่างมากในปี 2550-2551 เนื่องจากธนาคารมีการเตรียมพร้อมเพื่อการเข้าซื้อกิจการในปี 2551 และต้นปี 2552

ระดับเงินกองทุนของธนาคารแข็งแกร่งขึ้นอย่างมากในปี 2550 จากการเพิ่มทุนโดย GE Capital International Holdings Corporation (GECIH) อย่างไรก็ตามเงินกองทุนของธนาคารปรับตัวลดลงเนื่องจากการเข้าซื้อกิจการ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2552 เงินกองทุนชั้นที่ 1 และเงินกองทุนรวมอยู่ที่ 12.9% และ 15.6% ตามลำดับ การเข้าซื้อ GE Money Thailand อาจทำให้อัตราส่วนเงินกองทุนลดลงถึง 1.5% อย่างไรก็ตามโดยรวมแล้วระดับเงินกองทุนยังคงอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง

อันดับเครดิตสกุลเงินต่างประเทศของธนาคารมีแนวโน้มเป็นลบ เนื่องจากยังมีความเสี่ยงของการปรับตัวลดลงทางเศรษฐกิจในปี 2553 ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อธนาคารในด้านคุณภาพสินทรัพย์ ผลการดำเนินงาน และอาจรวมถึงเงินกองทุน ปัจจัยที่ช่วยลดความเสี่ยงดังกล่าวได้แก่ระดับเงินกองทุนที่แข็งแกร่ง ซึ่งเมื่อรวมกับการบริหารงานและการสนับสนุนทั้งทางด้านการดำเนินงานและทางการเงินจาก GECIH น่าจะช่วยให้เครือข่ายการดำเนินงาน (franchise) ของธนาคารแข็งแกร่งขึ้นในระยะกลาง ภายหลังจากที่ธนาคารเข้าซื้อกิจการหลักของ GE Money (สินทรัพย์อยู่ที่ 79.6 พันล้านบาท) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว คาดว่าสินเชื่อรายย่อยน่าจะอยู่ที่ประมาณ 40% ของสินเชื่อรวม

BAY ก่อตั้งขึ้นในปี 2488 และเป็นธนาคารพาณิชย์ที่ใหญ่เป็นอันดับ 5 ของประเทศไทย โดยมีสาขาทั้งสิ้น 583 สาขา และมีส่วนแบ่งการตลาดทางด้านสินเชื่อและทางด้านเงินฝากอยู่ที่ 8.2% และ 7.4% ตามลำดับ ธนาคารมีบริษัทในเครือซึ่งดำเนินธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์ ธุรกิจสินเชื่อบัตรเครดิต ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจบริหารกองทุน GECIH เข้ามาเป็นผู้ถือในสัดส่วน 29% ในเดือนมกราคม ปี 2550 และปัจจุบันเพิ่มเป็น 33% กลุ่มรัตนรักษ์มีสัดส่วนการถือหุ้นของธนาคารอยู่ที่ 25% เนื่องจากธนาคารมีส่วนแบ่งทางการตลาดของเงินฝากและสินเชื่อในสัดส่วนที่ค่อนข้างใหญ่ จึงมีความเป็นไปได้ที่ธนาคารจะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลหากมีความจำเป็น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ