ทริสจัดอันดับเครดิตตราสารหนี้ชุดใหม่ KTC ที่ BBB+ แนวโน้ม Stable

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday July 21, 2009 08:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศอันดับเครดิตให้แก่หุ้นกู้ไม่มีประกันชุดใหม่ในวงเงินไม่เกิน 10,000 ล้านบาทของ บมจ. บัตรกรุงไทย (KTC) ที่ระดับ “BBB+" ในขณะเดียวกันก็ประกาศยืนยันอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ชุดปัจจุบันของบริษัทที่ระดับ “BBB+" ด้วยแนวโน้ม “Stable" หรือ “คงที่" โดยบริษัทจะนำเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ชุดใหม่ไปใช้ชำระหนี้เดิมที่จะครบกำหนด

อันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนความสามารถของคณะผู้บริหาร ตลอดจนระบบการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพซึ่งทำให้บริษัทสามารถดำรงสถานภาพการเป็นหนึ่งในผู้นำในธุรกิจบัตรเครดิต ในการให้อันดับเครดิตดังกล่าวยังพิจารณาถึงการสนับสนุนที่แข็งแกร่งจากผู้ถือหุ้นใหญ่คือธนาคารกรุงไทย (KTB) ที่ถือหุ้นในสัดส่วน 49.45% ณ วันที่ 2 เม.ย.52

อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากสภาพการแข่งขันที่รุนแรง ตลอดจนปัจจัยทางธุรกิจที่ไม่เอื้ออำนวย และความเสี่ยงด้านกฎเกณฑ์ของทางการซึ่งอาจมีผลกระทบต่อการขยายตัวของสินเชื่อ คุณภาพสินทรัพย์ และความสามารถในการทำกำไรของบริษัทในอนาคต

แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" สะท้อนถึงการคาดการณ์ว่าบริษัทจะยังคงได้รับการสนับสนุนทางธุรกิจและการเงินอย่างเต็มที่จากธนาคารกรุงไทยต่อไป นอกจากนี้ แนวโน้มอันดับเครดิตยังสะท้อนถึงความสามารถของบริษัทในการเข้าไประดมทุนในตลาดทุน รวมถึงการที่บริษัทยังคงมีแหล่งเงินทุนจากสถาบันการเงินหลายแห่ง และยังคงนโยบายด้านสินเชื่ออย่างระมัดระวังต่อไป อย่างไรก็ตาม หากผลประกอบการของบริษัทถดถอยลงอย่างมีนัยสำคัญจากที่คาดการณ์ก็อาจส่งผลกระทบในทางลบต่ออันดับเครดิตของบริษัทได้

ทริสเรทติ้งรายงานว่า KTC มีสภาพคล่องในระยะสั้นที่ดีขึ้นหลังจากที่บริษัทสามารถออกหุ้นกู้ระยะยาวได้รวมมูลค่า 4,680 ล้านบาทในช่วงเดือน พ.ค.-มิ.ย.52 โดย ณ สิ้นเดือน มิ.ย.52 บริษัทมีวงเงินสินเชื่อที่ยังไม่ได้เบิกใช้จาก KTB จำนวน 15,130 ล้านบาทและจากสถาบันการเงินอื่นๆ อีก 2,510 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับ ณ วันที่ 4 พ.ค.52 ที่มีวงเงินสินเชื่อจากธนาคารกรุงไทยเพียง 3,200 ล้านบาทและจากสถาบันการเงินอื่นๆ อีก 2,960 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม การสนับสนุนทางการเงินจาก KTB มีข้อจำกัดจากประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยว่าด้วยการกำกับดูแลสถาบันการเงินแบบรวมกลุ่ม และการจัดสรรวงเงินให้แก่บริษัทที่อยู่ภายใต้การกำกับแบบรวมกลุ่มของ KTB ในอนาคตจะขึ้นอยู่กับการพิจารณาของธนาคารเป็นสำคัญ

บริษัทยังคงสามารถรักษาสถานะผู้นำในธุรกิจบัตรเครดิตได้อย่างต่อเนื่องด้วยส่วนแบ่งทางการตลาดของจำนวนบัตรที่ 12.4% ณ เดือน มี.ค.52 ลดลงเล็กน้อยจากระดับ 12.7% ณ เดือน ธ.ค.51 อย่างไรก็ตาม ผู้บริหารของบริษัทมีนโยบายบริหารงบดุลการเงินด้วยความระมัดระวังยิ่งขึ้นซึ่งเหมาะสมกับสถานการณ์ที่อยู่ภายใต้ความไม่แน่นอนของปัจจัยภายนอกและความไม่แน่นอนของแหล่งเงินทุนในตลาดทุน ดังนั้น ยอดสินเชื่อคงค้างของบริษัทจึงมีโอกาสที่จะไม่เติบโตหรือลดลงได้ในปี 52

นอกจากนี้ การรักษาคุณภาพสินทรัพย์ให้อยู่ในระดับที่ดีจึงเป็นสิ่งท้าทายสำคัญสำหรับบริษัทในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว และเพื่อจะลดระดับการถดถอยของคุณภาพสินทรัพย์ ผู้บริหารของบริษัทจึงได้ดำเนินมาตรการป้องกันหลายประการในปี 51 ได้แก่ การใช้เกณฑ์การพิจารณาสินเชื่อและนโยบายการจัดเก็บหนี้ที่เข็มงวดขึ้น และมีแผนในการกระตุ้นการใช้จ่ายผ่านบัตรในกลุ่มลูกค้าระดับบนมากขึ้น

ณ สิ้นเดือน มี.ค.52 บริษัทมียอดรวมสินเชื่อคงค้างจำนวน 49,232 ล้านบาท ลดลง 2.7% จาก 50,587 ล้านบาท ณ เดือนธ.ค.51 โดยยอดสินเชื่อคงค้างดังกล่าวประกอบด้วยสินเชื่อจากบัตรเครดิต 72% สินเชื่อส่วนบุคคล 25% สินเชื่อผู้ประกอบการรายย่อย 2% และสินเชื่อธนวัฎบัตรเครดิตอีก 1%

นอกจากนี้ บริษัทได้ประกาศกำไรสุทธิสำหรับไตรมาสแรกของปี 52 จำนวน 101 ล้านบาท ลดลงมากกว่า 50% ในช่วงเดียวกันของปี 51 ซึ่งมีกำไรสุทธิ 217 ล้านบาท ทั้งนี้ เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของการตั้งสำรองหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญ รวมถึงการที่บริษัทมีรายได้พิเศษจำนวน 114 ล้านบาทจากบริษัท VISA Inc. ในปี 51 เป็นสำคัญ ซึ่งค่าใช้จ่ายจากการตั้งสำรองหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญจะเพิ่มเป็น 1,068 ล้านบาทในปี 52 จาก 742 ล้านบาทในปี 51 ดังนั้น หากไม่นับรวมรายได้พิเศษแล้ว อัตราส่วนในการทำกำไรจึงลดลงเล็กน้อย โดยอัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ยและอัตราส่วนผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้นถัวเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 0.2% และ 1.6% ตามลำดับสำหรับไตรมาสแรกของปี 52 เทียบกับระดับ 0.3% และ 2.3% ในช่วงเดียวกันของปี 51

อัตราสินเชื่อค้างชำระของบริษัทอยู่ในระดับที่ไม่ค่อยเปลี่ยนแปลง ในขณะที่อัตราส่วนหนี้สูญตัดบัญชีสุทธิเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดย ณ สิ้นเดือน มี.ค.52 อัตราสินเชื่อค้างชำระ (เกิน 90 วัน) ของบริษัทมีสัดส่วน 4.1% ซึ่งลดลงเล็กน้อยจาก 4.2% ณ สิ้นเดือนธ.ค.51 แต่อัตราส่วนหนี้สูญตัดบัญชีสุทธิกลับเพิ่มขึ้นจาก 5.5% ในปี 50 เป็น 6.3% ในปี 51 และ 1.9% สำหรับไตรมาสแรกของปี 52 (ยังไม่ได้ปรับเป็นตัวเลขเต็มปี) อัตราส่วนการตั้งสำรองหนี้สูญต่อสินเชื่อปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 3.84% ณ สิ้นปี 50 เป็น 4.26% ณ สิ้นเดือน มี.ค.52 ซึ่งค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญที่เพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากการถดถอยลงของคุณภาพสินทรัพย์และเกณฑ์การตั้งสำรองสำหรับสินเชื่อส่วนบุคคลที่เข้มงวดขึ้น โดยตั้งแต่ไตรมาสสุดท้ายของปี 50 เกณฑ์การตั้งสำรองคำนวณจากค่าสถิติความสูญเสียที่เกิดขึ้นจริงย้อนหลัง 3 ปีบวกกับค่าความเสี่ยงในอนาคตที่สะท้อนถึงภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นเกณฑ์ที่เปลี่ยนแปลงจากเดิมที่ตั้งสำรองในอัตรา 2% ของยอดสินเชื่อที่ค้างชำระน้อยกว่า 180 วัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ