บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตองค์กรของ บมจ. สวนอุตสาหกรรมโรจนะ (ROJNA) ที่ระดับ “A-" พร้อมแนวโน้ม “Stable" หรือ “คงที่" โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงผลงานที่เป็นที่ยอมรับในธุรกิจพัฒนานิคมอุตสาหกรรม รายได้ที่สม่ำเสมอจากการขายไฟฟ้าและสาธารณูปโภค และการสนับสนุนจากผู้ถือหุ้นรายใหญ่และผู้ร่วมทุนชาวญี่ปุ่น ทั้งนี้ การให้อันดับเครดิตยังคำนึงถึงลักษณะที่ผันผวนของธุรกิจพัฒนานิคมอุตสาหกรรมและภาวะเศรษฐกิจไทยที่ชะลอตัวในปัจจุบันด้วย
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนความคาดหมายว่าบริษัทจะสามารถรักษาสถานภาพที่แข็งแกร่งในธุรกิจพัฒนานิคมอุตสาหกรรมเอาไว้ได้ และคาดว่าธุรกิจโรงไฟฟ้าและสาธารณูปโภคของบริษัทที่มีรายได้แน่นอนจะช่วยลดความผันผวนของรายได้จากการขายที่ดิน นอกจากนี้ รายได้ที่เพิ่มขึ้นจากธุรกิจอาคารชุดในประเทศจีนจะช่วยบรรเทาผลกระทบจากการชะลอตัวของธุรกิจการขายที่ดินได้อีกส่วนหนึ่ง
ทริสเรทติ้งรายงานว่าบริษัทสวนอุตสาหกรรมโรจนะเป็นหนึ่งในผู้นำในธุรกิจพัฒนานิคมอุตสาหกรรมของประเทศไทยซึ่งก่อตั้งในปี 2531 โดยตระกูลวินิชบุตรและกลุ่มซูมิโตโม (Sumitomo Group) ณ เดือนเมษายน 2552 ตระกูลวินิชบุตรถือหุ้นบริษัทในสัดส่วน 31.0% ในขณะที่ Sumikin Bussan Corporation ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของกลุ่มซูมิโตโมถือหุ้น 20.6% บริษัทเป็นเจ้าของและบริหารสวนอุตสาหกรรม 2 แห่งในจังหวัดอยุธยาและระยอง ในช่วงปี 2549-2551 บริษัทมียอดขายพื้นที่ในสวนอุตสาหกรรมโดยเฉลี่ย 500 ไร่ต่อปี โดย ณ เดือนมีนาคม 2552 มีพื้นที่ขายสะสมอยู่ที่ 5,300 ไร่ และมีพื้นที่ขายเหลืออีกประมาณ 4,000 ไร่ซึ่งถือว่ามากพอที่จะรองรับการพัฒนาในอนาคตเมื่อพิจารณาจากอัตราการขายที่ดินเฉลี่ยปีละ 500 ไร่
ทริสเรทติ้งกล่าวว่า บริษัทยังเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าในสวนอุตสาหกรรมโรจนะอยุธยาซึ่งดำเนินการภายใต้ชื่อ บริษัท โรจนะ พาวเวอร์ จำกัด โดยมีการขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าอย่างต่อเนื่องจาก 122 เมกะวัตต์เป็น 267 เมกะวัตต์ ณ สิ้นปี 2551 เพื่อให้ทันกับความต้องการที่เพิ่มขึ้นตามจำนวนลูกค้าที่เพิ่มขึ้นในสวนอุตสาหกรรม โดยบริษัทขายไฟฟ้า 90 เมกะวัตต์ให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ภายใต้โครงการผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (Small Power Producer -- SPP) และส่วนที่เหลือขายให้แก่ลูกค้าเอกชนในสวนอุตสาหกรรม ในช่วงปี 2549-2551 รายได้จากการขายไฟฟ้าและน้ำคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 2 ใน 3 ของยอดขายรวมของบริษัท และคิดเป็น 45%-50% ของกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่ายและภาษีรวมของบริษัท
ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2552 การขายที่ดินในสวนอุตสาหกรรมของบริษัทได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลกและปัญหาความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศเช่นดียวกับผู้ประกอบการนิคมอุตสาหกรรมรายอื่น โดยบริษัทขายที่ดินได้เพียง 4 ไร่ ในขณะที่รายงานของ CB Richard Ellis ระบุว่าในช่วงไตรมาสดังกล่าวมีการขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศเพียง 89 ไร่ ซึ่งต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปี 2551 ที่ขายได้ 1,192 ไร่ อย่างไรก็ตาม การขายที่ดินของบริษัทมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นเนื่องจากบริษัทได้ลงนามในสัญญาขายที่ดินผืนใหญ่จำนวนกว่า 200 ไร่ สำหรับรายได้จากการขายไฟฟ้าและสาธารณูปโภคของบริษัทก็ได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจทั่วโลกเช่นกันเนื่องจากผู้ใช้ไฟฟ้าในภาคอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบจากการทรุดตัวของการส่งออก ปริมาณขายไฟฟ้าของกลุ่มบริษัทใน
ไตรมาสแรกของปี 2552 จึงลดลงถึง 16% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็น 299 กิกะวัตต์ต่อชั่วโมง รายได้จากธุรกิจไฟฟ้าและสาธารณูปโภคของบริษัทจึงเหลือ 1,032 ล้านบาท หรือลดลง 7% เมื่อเทียบกับรายได้จำนวน 1,112 ล้านบาทในช่วงเดียวกันของปีก่อน อัตรากำไรขั้นต้นของธุรกิจไฟฟ้าก็ปรับตัวลดลงเช่นกันจาก 21% ในไตรมาสแรกของปี 2551 เป็น 12% ในช่วงเดียวกันของปี 2552 เนื่องจากต้นทุนเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติที่สูงตามการเคลื่อนไหวของราคาน้ำมัน ในขณะที่ค่า Ft ยังปรับขึ้นไม่ทันกับต้นทุนพลังงาน ทำให้อัตรากำไรขั้นต้นของบริษัทโดยรวมอ่อนตัวลงเป็น 23% จาก 30% ในไตรมาสแรกของปี 2551 อย่างไรก็ตาม รายได้จากธุรกิจไฟฟ้าและสาธารณูปโภคของบริษัทกำลังฟื้นตัวตามแนวโน้มอัตราการใช้กำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นของกลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าซึ่งเป็นลูกค้าหลักของบริษัท นอกจากนี้ ความสามารถในการทำกำไรของธุรกิจไฟฟ้าก็คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นหลังจากนี้เนื่องจากต้นทุนก๊าซธรรมชาติที่ต่ำลงตามราคาน้ำมันในช่วง 6 เดือนก่อน ในขณะที่ค่า Ft ยังคงเดิม
บริษัทประสบความสำเร็จในการขยายธุรกิจสู่โครงการพัฒนาคอนโดมิเนียม โดยหลังจากที่โครงการคอนโดมิเนียมแห่งแรกในกรุงเทพฯ คือโครงการเมดิสันก่อสร้างและโอนแล้วเสร็จในปี 2551 บริษัทก็ได้เปิดตัวโครงการคอนโดมิเนียมแห่งใหม่ขนาด 993 ห้องในเมืองฉางโจว ประเทศจีน ด้วยมูลค่าโครงการประมาณ 3,300 ล้านบาท โดยยอดขายปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 43% ณ สิ้นปี 2551 และ 46% ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2552 เป็น 55% ณ กลางเดือนมิถุนายน 2552 ส่วนหนึ่งได้แรงหนุนจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลจีนในช่วงที่ผ่านมา และคาดว่าจากนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายของรัฐบาลจีนที่ยังใช้อยู่อย่างต่อเนื่องจะช่วยสนับสนุนให้การขายโครงการเป็นไปอย่างราบรื่นตามเป้าหมาย
ทริสเรทติ้งกล่าวว่า ถึงแม้ในปัจจุบันนิคมอุตสาหกรรมในประเทศไทยจะได้รับผลกระทบอย่างมากจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก แต่ภาพรวมของธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมในระยะปานกลางถึงระยะยาวยังคงดีอยู่ ทั้งนี้ เนื่องจากนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมการลงทุนสำหรับนักลงทุนต่างประเทศและการค้าระหว่างประเทศ รวมถึงทำเลที่ตั้งของประเทศยังคงดึงดูดนักลงทุนต่างชาติได้เป็นอย่างดี