ศาลล้มละลายกลาง มีคำสั่งแต่งตั้งให้ บริษัท พี แพลนเนอร์ จำกัด เป็นผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บมจ.ทีทีแอนด์ที (TT&T) และไม่อนุมัติคำร้องของตัวแทน TT&T ที่คัดค้านแต่งตั้งผู้บริหารแผนดังกล่าว ขณะที่ตัวแทนจากพี แพลนเนอร์ คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 3-5 เดือนในการเสนอแผนฟื้นฟูของ TT&T ซึ่งจะเน้นการดูแลพนักงานและสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้า แต่อาจจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารของบริษัท เพื่อให้การบริหารแผนฟื้นฟูเป็นไปด้วยความราบรื่น
นายชำนาญ ปราโมทย์ไพบูลยฺ์ กรรมการ บริษัท พีแพลนเนอร์ จำกัด เปิดเผยว่า หลังจากศาลล้มละลายกลาง มีคำสั่งให้บริษัทเป็นผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ TT&T ในวันนี้ (22 ก.ค.) คาดว่าบริษัทจะสามารถเสนอแผนได้ภายใน 3-5 เดือนโดยไม่สามารถกำหนดได้ว่า TT&T จะสามารถออกจากแผนฟื้นฟูได้เมื่อไร
สิ่งสำคัญ คือ บริษัท พี แพลนเนอร์จะเข้าไปดูแลพนักงาน และสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้า เพื่อให้กลับมาใช้บริการ TT&T และยืนยันว่าการเข้ามาบริหารแผนฯ จะไม่กระทบการให้บริการกับลูกค้า และจะใช้หลักธรรมาภิบาลในการฟื้นฟูกิจการและดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นธรรมกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งพนักงาน เจ้าหนี้ ผู้ถือหุ้น และ ลูกหนี้ ทั้งหมด
แต่อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นคาดว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงผู้บริหาร TT&T เพื่อให้เกิดความสะดวกในการทำงานและง่ายต่อการบริหารให้เป็นไปตามแผนที่บริษัท พี แพลนเนอร์วางไว้
"พี แพลนเนอร์ไม่ได้คำนึงถึงว่าบริษัทจะต้องมีกำไรเมื่อไร เพราะมูลหนี้ที่มีอยู่ก็มีอยู่เกือบ 4 หมื่นล่านบาท สิ่งแรกที่ต้องทำคือเข้าไปช่วยเหลือพนักงาน และสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้า แต่จากการที่ศาลอนุมัติให้พี แพลนเนอร์เป็นผู้บริหารแผน ก็เชื่อว่าจะนำบริษัทออกจากแผนฟื้นฟูได้" นายชำนาญ กล่าว
ด้านนายสมบุญ พัชรโสภาคย์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ TT&T เปิดเผยว่า ถึงแม้ว่าศาลฯจะมีคำสั่งแต่งตั้งให้บริษัท พี แพลนเนอร์เป็นผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการบริษัท และไม่อนุมัติคำร้องของบริษัท ในการคัดค้านการแต่งตั้งบริษัท พี แพลนเนอร์ เป็นผู้บริหารแผน แต่บริษัทก็จะยังต่อสู้ผ่านกระบวนการทางกฎหมาย ซึ่งจะให้ฝ่ายกฎหมายของบริษัทไปศึกษาข้อมูลเพื่อดำเนินการต่อไป
ทนายของ TT&T กล่าวว่า บริษัทมีแผนจะยื่นอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา เนื่องจากเห็นว่าการทำงานของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และไม่เป็นอิสระ และเจ้าหนี้บางส่วนต้องการคัดต้านที่จะให้บริษัท พี แพลนเนอร์ เป็นผู้ทำแผน ซึ่งตามกรอบกฎหมายต้องยื่นคัดค้านภายใน 30 วัน