ตลาดหลักทรัพย์ขอให้ผู้ถือหุ้นของ บมจ. ไทยเกรียงกรุ๊ป (TDT)ศึกษาข้อมูลในรายงานความเห็นของที่ปรึกษาการเงินอิสระ IFA ความเห็นของคณะกรรมการและคณะกรรมการตรวจสอบ เกี่ยวกับรายการซื้อทรัพย์สิน และการเพิ่มทุนให้กลุ่มณุศาศิริ เพื่อประกอบการพิจารณาวาระดังกล่าวอย่างรอบคอบ และขอเชิญชวนผู้ถือหุ้น TDT เข้าร่วมประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นในวันที่ 28 กรกฎาคม 2552 โดยพร้อมเพรียงกัน
อนึ่ง บริษัทหลักทรัพย์ ฟิลลิป (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินอิสระ (IFA) มีความเห็นว่า ผู้ถือหุ้นควรลงมติไม่อนุมัติการเข้าทำรายการซื้อทรัพย์สิน และรายการที่เกี่ยวโยง โดยพิจารณาจากผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการทำรายการ ไม่ว่าจะเป็นการที่ TDT ต้องใช้เงินกู้ประมาณ 1,400 ล้านบาท เพื่อการปลอดจำนองทรัพย์สินที่จะซื้อจากกลุ่มณุศาศิริดังกล่าว และต้องขออนุมัติวงเงินสินเชื่อเพิ่มเติมเพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนเพื่อดำเนินโครงการ 850 ล้านบาทรวมวงเงินกู้ 2,250 ล้านบาททำให้มีภาระเงินกู้ยืม และภาระดอกเบี้ยเพิ่มอย่างมีนัยสำคัญ
อีกทั้ง TDT ต้องเพิ่มทุนจำนวนมาก ซึ่งทำให้ผู้ถือหุ้นเดิมได้รับผลกระทบจากการลดลงของสิทธิการออกเสียง (Control Dilution) และมีการลดลงของราคา (Price Dilution)
นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงจากการทำรายการ ทั้งความเสี่ยงจากการที่ TDT จะไม่ได้รับอนุมัติวงเงินสินเชื่อ, ความเสี่ยงจากความไม่ชัดเจนในการบริหารจัดการโครงการ โดยเฉพาะบุคลากร ซึ่งยังไม่เปิดเผยว่าจะมีการเปลี่ยนผู้บริหารและกรรมการอย่างไร ซึ่งอาจส่งผลต่อการขออนุมัติวงเงินสินเชื่อของ TDT, ความเสี่ยงจากการดำเนินโครงการ ซึ่งอาจขาดสภาพคล่องเงินทุน และอาจจะไม่ได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากกลุ่มณุศาศิริซึ่งจะเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ การไม่สามารถประเมินความเป็นไปได้ของโครงการส่วนใหญ่ และจากการลดลงของอุปสงค์บ้านเดี่ยว
ความเสี่ยงจากความสามารถของกลุ่มณุศาศิริที่อาจส่งผลต่อความสำเร็จของการรายการในครั้งนี้ ได้แก่ การที่กลุ่มณุศาศิริอาจไม่มีเงินสดเพียงพอที่จะชำระหนี้ส่วนต่างให้ TDT ในกรณีที่ TDT กู้เงินได้ไม่ถึง 1,400 ล้านบาท เพื่อการปลอดจำนองทรัพย์สิน และใช้ทำคำเสนอซื้อหุ้น TDT ตามเงื่อนไขของสัญญา และความเสี่ยงจากความขัดแย้งทางผลประโยชน์ในด้านการแข่งขันกันเองในทรัพย์สินที่ไม่ได้ขายให้ TDT รวมถึงการได้รับสิทธิเครื่องหมายบริการ"ณุศาศิริ" และ "บ้านกฤษณา" ซึ่งใช้ร่วมกับโครงการปัจจุบันของกลุ่มณุศาศิริ และบริษัทที่เกี่ยวข้องที่ยังคงมีสิทธิใช้เครื่องหมายบริการเหล่านี้ ซึ่งเป็นการแข่งขันกันโดยตรงอาจทำให้ลูกค้าเกิดความสับสน นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงจากการถูกยกเลิกใช้เครื่องหมายบริการ "บ้านกฤษณา" สำหรับโครงการพระราม5 หากเจ้าของกรรมสิทธิ์ได้โอนหรือขายเครื่องหมายบริการดังกล่าวออกไป
รวมทั้งความสมเหตุสมผลของราคา ได้แก่ ราคาเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนที่ TDT จะเสนอขายแก่กลุ่มณุศาศิริที่ราคา 0.3500 บาทต่อหุ้น เป็นราคาที่ต่ำกว่าราคาที่ IFA ประเมินที่ 0.3848 บาทต่อหุ้น จึงเห็นว่า ราคาเสนอขายหุ้นดังกล่าวไม่สมเหตุสมผล นอกจากนี้ยังทำให้เกิดผลกระทบในเรื่องการลดลงของราคา, IFA เห็นว่าราคาทรัพย์สินที่จะซื้อมีความสมเหตุสมผล โดยที่ IFA มีข้อสังเกตว่าการจัดทำรายงานประเมินที่นำมาใช้อ้างอิงนั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อการพิจารณาซื้อขายทรัพย์สิน จึงอาจมีความรับผิดชอบของการประเมินที่แตกต่างจากรายงานประเมินที่มีวัตถุประสงค์เพื่อสาธารณะ โดยที่โครงการพระราม 2 เฟส 2 มีการใช้ข้อมูลตัวอย่างที่มีขนาดที่ดินเล็กกว่าขนาดที่ดินที่จะซื้ออย่างมีนัยสำคัญ จึงมีข้อสังเกตต่อข้อมูลที่นำมาเปรียบเทียบในส่วนนี้ที่อาจไม่สมบูรณ์เพียงพอ และข้อสังเกตในโครงการ ณุศาศิริ พระราม 2 เป็นโครงการใหญ่ ควรได้รับส่วนลดราคาขายในระดับใกล้เคียงกับ โครงการ BMC และโครงการพระราม 5
ดังนั้น เมื่อพิจารณาความสมเหตุสมผลในเรื่องความคุ้มค่าของการลงทุน สามารถพิจารณาได้แต่เพียงโครงการ ณุศาศิริ สาทร - ปิ่นเกล้า ซึ่งพบว่ายังมีความไม่คุ้มค่าของการลงทุน แต่สำหรับโครงการอื่น ๆ IFA ไม่สามารถศึกษาถึงความคุ้มค่าของการลงทุนได้ เนื่องจากมีความไม่แน่นอนในเรื่องเงินกู้ยืม
ขณะที่คณะกรรมการตรวจสอบมีมติรับทราบความเห็นของที่ปรึกษาทางการเงินอิสระ และมีมติยืนยันตามมติที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ซึ่งประชุมเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2552 ที่อนุมัติให้บริษัทซื้อทรัพย์สิน ราคาไม่เกิน 2,490 ล้านบาท จากกลุ่มณุศาศิริ โดยให้นำเสนอต่อผู้ถือหุ้นเพื่อประกอบการพิจารณาอนุมัติในการเพิ่มทุน เพื่อซื้อทรัพย์สินต่อไป เนื่องจากบริษัทมีความจำเป็นต้องทำรายการดังกล่าวเพื่อการดำเนินธุรกิจ และทำให้มีผลประกอบการเพื่อแก้ไขเหตุแห่งการถูกเพิกถอนหลักทรัพย์ออกจากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียน