ทริสเรทติ้ง ทบทวนอันดับเครดิตองค์กรและตราสารหนี้ TICON

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday July 28, 2009 08:42 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตองค์กรของ บมจ. ไทคอน อินดัสเทรียล คอนเน็คชั่น (TICON) ที่ระดับ “A" และคงอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่มีประกันชุดเดิมของบริษัทที่ระดับ “A-" ในขณะเดียวกันยังจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่มีประกันชุดใหม่ในวงเงินไม่เกิน 800 ล้านบาทของบริษัทที่ระดับ “A-“ ด้วยแนวโน้ม “Stable" หรือ “คงที่"

โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะผู้นำในธุรกิจโรงงานสำเร็จรูปให้เช่า กระแสเงินสดที่สม่ำเสมอจากสัญญาเช่าโรงงานและคลังสินค้า และผลการดำเนินงานที่ดีของบริษัท ซึ่งการจัดอันดับเครดิตยังพิจารณาถึงภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวในปัจจุบัน และความไม่แน่นอนของสถานการณ์ทางการเมืองภายในประเทศด้วย

แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" อยู่บนพื้นฐานการคาดการณ์ว่าบริษัทจะสามารถรักษาความเป็นผู้นำในตลาดโรงงานสำเร็จรูปให้เช่าได้ต่อไป และคาดว่ารายได้ที่สม่ำเสมอจากการมีสัญญาเช่าโดยเฉลี่ยนาน 3 ปีกับผู้เช่าส่วนใหญ่ ประกอบกับระดับของการลงทุนที่มีความยืดหยุ่นสูง น่าจะทำให้บริษัทสามารถประคองตัวผ่านพ้นช่วงเวลาที่เศรษฐกิจชะลอตัวไปได้

ทริสเรทติ้งรายงานว่า บริษัทไทคอน อินดัสเทรียล คอนเน็คชั่นเป็นผู้นำในธุรกิจโรงงานสำเร็จรูปให้เช่าในประเทศไทย โดยก่อตั้งในปี 2533 และจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปี 2545 บริษัทได้ขยายธุรกิจสู่การให้บริการคลังสินค้าสำเร็จรูปให้เช่าตั้งแต่ปี 2548 โดย ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2552 บริษัทมีโรงงานให้เช่าจำนวน 107 โรง และมีคลังสินค้าให้เช่าจำนวน 23 โรง ซึ่งคิดเป็นพื้นที่รวม 404,566 ตารางเมตร โดยระหว่างปี 2548-2551 บริษัทมีรายได้หลักจากการขายสินทรัพย์ของบริษัทเข้ากองทุนอสังหาริมทรัพย์ไทคอน (TFUND) (70%) และรายได้จากค่าเช่าโรงงาน (30%)

ณ เดือนพฤษภาคม 2552 ผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท ได้แก่ บริษัท สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จำกัด (มหาชน) (21.8%) กลุ่มผู้บริหารของบริษัท (10.3%) กลุ่มซิตี้เรียลตี้ (5.9%) และกองทุนเพื่อการร่วมลงทุน (6.0%) ความได้เปรียบในการแข่งขันของบริษัทมาจากผลงานในการให้บริการโรงงานสำเร็จรูปที่มีคุณภาพแก่ผู้เช่า รวมทั้งความสามารถในการก่อสร้างโรงงานสำเร็จรูปตามมาตรฐานในราคาที่ต่ำกว่าคู่แข่งจาก การมีทีมงานก่อสร้างโรงงานเป็นของตนเอง จากการศึกษาของ CB Richard Ellis (CBRE) เมื่อประเมินจากพื้นที่โรงงานที่ให้เช่าแล้ว ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2552 บริษัทและกองทุนอสังหาริมทรัพย์ไทคอนมีส่วนแบ่งทางการตลาดรวม 71.8% ซึ่งสูงกว่าคู่แข่งรายอื่นๆ เป็นอย่างมาก โดยคู่แข่งสำคัญประกอบด้วย บริษัท เหมราชพัฒนาที่ดิน จำกัด (มหาชน) (10.0%) บริษัท ปิ่นทอง อินดัสเตรียล ปาร์ค จำกัด (8.3%) บริษัท ไทยพัฒนาโรงงานอุตสาหกรรม จำกัด (มหาชน) (TFD) และกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ไทยอินดัสเตรียล 1 (5.4%) และ บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) (4.5%)

ทริสเรทติ้งกล่าวว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา รายได้ค่าเช่าโรงงานและคลังสินค้าของบริษัทไทคอน อินดัสเทรียล คอนเน็คชั่นเติบโตในอัตราเฉลี่ย 13% ต่อปี โดยมีรายได้จำนวน 812 ล้านบาทในปี 2551 นอกจากนี้ บริษัทยังสามารถสร้างรายได้ประมาณ 2,000 ล้านบาทต่อปีจากการขายโรงงานและคลังสินค้าให้แก่กองทุนอสังหาริมทรัพย์ไทคอนด้วย แม้ว่าภาวะเศรษฐกิจโลกในปัจจุบันจะชะลอตัว แต่รายได้ค่าเช่าของบริษัทในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2552 ยังคงเติบโตในอัตรา 8.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แม้ว่าพื้นที่เช่าโรงงานลดลง 2% ในไตรมาสแรกของปี 2552 ตามการหดตัวของผลผลิตอุตสาหกรรมของผู้ประกอบการหลายๆ ราย แต่พื้นที่เช่าคลังสินค้าของบริษัทกลับเพิ่มขึ้น 35% ในช่วงเดียวกัน โดย ณ เดือนมีนาคม 2552 อัตราการเช่ารวมของบริษัทยังคงอยู่ในระดับที่น่าพอใจที่ 75.6% ซึ่งอัตราการเช่าโรงงานที่ลดลงได้รับการบรรเทาจากอัตราการเช่าคลังสินค้าที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่รายได้ที่ลดลงจากการยกเลิกสัญญาก่อนครบกำหนดของผู้เช่าก็ได้รับการชดเชยจากค่ามัดจำที่ชำระล่วงหน้า 3 เดือนเป็นส่วนใหญ่

ภาคอุตสาหกรรมของไทยได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและความไม่แน่นอนของสถานการณ์ทางการเมืองภายในประเทศอย่างต่อเนื่อง อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และยานยนต์มีการลดกำลังการผลิตมาตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ของปี 2551 ส่งผลให้ผู้ประกอบการรายเล็กบางรายยกเลิกสัญญาเช่า เป็นเหตุให้พื้นที่เช่าโรงงานโดยรวมของธุรกิจโรงงานสำเร็จรูปให้เช่าในไตรมาสแรกของปี 2552 ลดลง 4.2% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน อย่างไรก็ตาม คาดว่าภาวะเศรษฐกิจโลกจะค่อยๆ ฟื้นตัวจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศผู้นำอุตสาหกรรม ในขณะที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลไทยคาดว่าจะสามารถกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศได้ในไตรมาสต่อๆ ไป ทริสเรทติ้งกล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ