นายสมโภชน์ อาหุนัย ผู้ถือหุ้นใหญ่ บมจ.ซีฮอร์ส(SH)เปิดเผยว่า การขายหุ้นออกมา 2.96% เมื่อเร็ว ๆ นี้เป็นการขายในตลาดหลักทรัพย์ให้นักลงทุนทั่วไป เนื่องจากมีความจำเป็นต้องใช้เงินไปทำธุรกิจส่วนตัว ซึ่งเม็ดเงินที่ได้มาจากการขายหุ้นครั้งนี้เพียงพอแล้วสำหรับการทำธุรกิจดังกล่าว ขณะที่โครงสร้างผู้ถือหุ้นไม่เปลี่ยนแปลง ส่วนอนาคตบริษัทฝากไว้กับธุรกิจเอทานอลที่จะทำรายได้เข้ามาในช่วงปลายปี 53
"ผมขายหุ้น SH ออกมาเพราะผมต้องการใช้เงิน เพราะผมมีการลงทุนของผมส่วนตัว ไม่เกี่ยวกับซีฮอร์ส เป็นขายในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งก็ได้เงินมากพอที่จะไปใช้ทำธุรกิจที่ว่า ส่วนหลังจากนี้จะขายออกมาอีกหรือไม่ยังตอบไม่ได้ และจะซื้อกลับเข้ามาหรือไม่นั้น ในระยะสั้นคงยังไม่มี"นายสมโภชน์ กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"
อย่างไรก็ตาม หลังการขายหุ้นครั้งนี้ โครงสร้างผู้ถือหุ้น SH ไม่เปลี่ยนแปลง โดยข้อมูล ณ วันที่ 1 เม.ย.52 ผู้ถือหุ้น 5 อันดับแรก คือ นายวรเจตน์ อินทามระ 22.44%, นายศิริธัช โรจนพฤกษ์ 22.20%, นายสมโภชน์ อาหุนัย 15.14%, นางจิราพรรณ ศรีนนท์ 7.01% และ นายสาคร สุขศรีวงศ์ 6.91%
นายสมโภชน์ กล่าวว่า สาเหตุที่ตัวเลขสัดส่วนการถือหุ้นเหลือใน SH จำนวน 34.62% หลังการขายหุ้นออกมาจำนวน 2.96% ไม่ตรงกับตัวเลขในข้อมูลของตลาดหลักทรัพย์ที่ระบุว่านายสมโภชน์มีสัดส่วนการถือหุ้นเพียง 15.14% เนื่องจากตอนที่เข้ามาถือหุ้น SH เป็นการซื้อหุ้นเพิ่มทุนที่เสนอขายให้ PP ร่วมกับนายวรเจตน์
"ตอนที่ผมซื้อหุ้น PP ของ SH พร้อมกับคุณวรเจตน์ ผมก็ไม่อยากให้มีปัญหา จึงขอ ก.ล.ต.ว่าผมกับคุณวรเจตน์เป็นบุคคลกลุ่มเดียวกันตามมาตรา 258 ซึ่งตามมาตรา 258 เวลาจะนับว่าสัดส่วนการถือหุ้นแตะ 5, 10, 15, 20, 25% จะต้องดูเป็นกลุ่ม ดูเป็นคนไม่ได้ ต้องเอาผมกับคุณวรเจตน์มารวมกันแล้วดูว่าแตะที่ 5% ตรงไหน เพราะฉะนั้นเวลาเขียนก็ต้องเขียนว่าผมและวรเจตน์มีหุ้นเท่าไหร่ เวลาขายไปแล้วจะไปแตะ 5% ตรงไหนเพราะฉะนั้นในจำนวน 34.62% คือหุ้นในส่วนที่ผมถือ 15.14% และหุ้นที่คุณวรเจตน์ถือ 22.44% มารวมกัน
แต่สำหรับการขายออกครั้งนี้เป็นการขายเฉพาะในส่วนของผมคนเดียว เพราะฉะนั้นเมื่อผมขายหุ้น SH ออกมา 2.96% ก็จะทำให้สัดส่วนการถือหุ้นลดลงเหลือ 12.18%"นายสมโภชน์กล่าว
ด้านนายวรเจตน์ อินทามระ กรรมการ SH กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"ว่า หากการขายหุ้นของนายสมโภชน์เป็นการขายให้ผ่านตลาดหลักทรัพย์ให้นักลงทุนรายย่อย ก็น่าจะช่วยให้ตัวเลขฟรีโฟลตของ SH เพิ่มขึ้นมาเกือบๆ จะถึงเกณฑ์ที่ ก.ล.ต.กำหนดคือ 15%
"SH เป็น 1 ใน บจ.ที่มีปัญหาฟรีโฟลตไม่ถึง 15% อย่างที่ ก.ล.ต.กำหนด แต่ถ้าวัดจากจำนวนผู้ถือหุ้นรายย่อย (Free float) ถึงแล้ว เรามีมากกว่า 150 ราย มีประมาณ 280-300 ราย แต่ถ้าคุณสมโภชน์ขายออกมาในตลาดฯแบบนี้ฟรีโฟลตของ SH ก็น่าจะช่วยให้ใกล้แตะเกณฑ์แล้ว แต่ส่วนตัวเองยังไม่มีนโยบายที่จะขายหุ้นส่วนที่ตัวเองถือออกมา"นายวรเจตน์กล่าว
ข้อมูล ณ วันที่ 1 เม.ย.52 SH มีจำนวนผู้ถือหุ้นรายย่อย (Free float) 745 ราย คิดเป็น 11.50%
*มั่นใจ ผถห.ผ่ายฉลุยเรื่องขายธุรกิจอาหาร
นายวรเจตน์ กล่าวถึงการประชุมผู้ถือหุ้นในวันที่ 31 ส.ค.นี้ เพื่อพิจารณาเรื่องการขายธุรกิจอาหารว่า มั่นใจว่าคณะกรรมการบริษัทตัดสินใจถูกต้อง เพราะธุรกิจอาหารมีผลขาดทุนมาตลอด ถ้าขายออกไปได้เราจะตัดปัญหานี้ออกไปได้ เชื่อว่าบริษัทตัดสินใจทำเพื่อประโยชน์ของผู้ถือหุ้นจริงๆ เพราะฉะนั้นถ้าที่ปรึกษาการเงินอิสระ(IFA) หรือ กรรมการตรวจสอบมีความเห็นเป็นอื่น ก็ต้องเคารพสิทธิ์ของทั้งสองส่วน
"เราเคารพสิทธิ์ทั้งสองส่วน แต่ถ้าเราขายธุรกิจอาหารออกไปได้ก็จะเป็นผลประโยชน์กับบริษัทและผู้ถือหุ้น"นายวรเจตน์ ตอบคำถามถึงความกังวลว่าที่ปรึกษาทางการเงิน (IFA) อาจจะแสดงความไม่เห็นด้วยกับการขายทรัพย์สินธุรกิจอาหารและให้ผู้ถือหุ้นศึกษาข้อมูลอย่างระมัดระวังเหมือนกับกรณีของหลายๆ บริษัทที่มีแผนจะเปลี่ยนแนวทางธุรกิจด้วยการขายธุรกิจเดิมที่
นายวรเจตน์ กล่าวว่า บริษัท ซีฮอร์ส อินเตอร์เทรด จำกัด ที่ชนะประมูลเข้าซื้อธุรกิจอาหารจาก SH มีนายชาตรี มหัทธนาดุลย์ และนายมนตรี มหัทธนาดุลย์ เป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงนาม ปัจจุบันนายชาตรีและนายมนตรีเป็นผู้ถือหุ้นของ SH อยู่ในธุรกิจนี้อยู่แล้ว มีความชำนาญในการบริหารงาน เชื่อว่าต้องมีทั้งตลาด การหาวัตถุดิบ
"ถ้าคนที่ไม่ได้อยู่ในธุรกิจนี้ก็คงทำลำบาก เพราะการซื้อธุรกิจอาหารครั้งนี้จะได้ทรัพย์สินทั้งในส่วน Hard Asset รวมถึงพนักงานซึ่งก่อนขายเราก็กังวลว่าถ้าขายกิจการธุรกิจอาหารไปแล้ว พนักงาน คนงานจะเป็นอย่างไร ซึ่งทางผู้ซื้อก็ยินดีรับพนักงานเหล่านั้นไปดูแลด้วย"นายวรเจตน์ กล่าว
*ปี 52 รายได้ SH ยังอยู่ในช่วงรอยต่อธุรกิจอาหาร เห็นรายได้-กำไรธุรกิจเอทานอลปี 53
นายวรเจตน์ ยอมรับว่า ปี 52 บริษัทน่าจะยังมีผลขาดทุนอยู่ เพราะไตรมาสแรกปีนี้ บริษัทขาดทุนไปแล้ว 162 ล้านบาท ส่วนแนวโน้มไตรมาส 2/52 เท่าที่ทราบภายในก็ยังขาดทุน เนื่องจากรายได้ในปีนี้ยังมาจากการขายอาหารทะเลแช่แข็งและอาหารกระป๋อง เนื่องจากในไตรมาส 1/52 ถึงไตรมาส 3/52 บริษัทยังรับรู้รายได้จากการขายอยู่ แต่อาจจะไม่ได้สะท้อนตัวผลกำไรของบริษัทมากนัก และยังไม่ได้ทำประมาณการณ์ ขณะที่การโอนขายทรัพย์สินธุรกิจอาหารจะเกิดขึ้นในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้
ส่วนปี 53 ระหว่างการก่อสร้างโรงงานเอทานอล บัญชีภายในน่าจะดีขึ้นมาก เชื่อว่าหลังจากโรงงานสร้างเสร็จในปี 53 สามารถผลิตเอทานอลขายออกไปปลายปี อาจจะเห็นรายได้เข้ามาทันที ส่วนเรื่องกำไรเชื่อว่าหากปัจจัยแวดล้อม ทั้งราคาเอทานอล ราคาวัตถุดิบ ยังเป็นเหมือน ณ ตอนนี้ รายได้และกำไรจะเป็นไปในทิศทางที่ดี
"หากราคาเอทานอลในตลาดเมืองไทยอยู่ที่ 23-24 บาท/ลิตรเหมือนวันนี้ ซึ่งถ้าเราขายได้ในราคานี้ ด้วยต้นทุนที่คำนวณกันไว้ก่อนที่จะทำโครงการเอทานอล เชื่อว่าจะเห็นกำไร เห็นรายได้บริษัทที่ดีแน่นอน ก็อยากให้เห็นผลประกอบการดีๆ เร็วๆ เหมือนกัน"นายวรเจตน์ กล่าว