นายพิชา รัตนธรรม หัวหน้าธุรกิจกองทุนรวมและกองทุนส่วนบุคคล บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ทิสโก้ จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทเตรียมเสนอขาย“กองทุนเปิด ทิสโก้ ยูเอส อิควิตี้ ฟันด์ (TISCO US Equity Fund)" ซึ่งเป็นกองทุนที่จะลงทุนใน SPDR Trust, Series 1 กองทุนอีทีเอฟ ที่จดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์กที่มีนโยบายลงทุนในหุ้นชั้นนำในสหรัฐฯ เพื่อสร้างผลตอบแทนของกองทุนให้ใกล้เคียงกับผลตอบแทนของดัชนี S&P 500 มากที่สุด ซึ่งจุดเด่นของกองทุนอยู่ที่สภาพคล่องสูง สามารถซื้อขายหน่วยลงทุนได้ทุกวันทำการ โดยจะเปิดให้จองซื้อครั้งแรก 3-14 ส.ค.นี้ โดยมีเงินทุนของโครงการที่จดทะเบียนไว้คือ 1,000 ล้านบาท ลงทุนขั้นต่ำ 20,000 บาท
“จากการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์มองว่าในไตรมาสสามของปีนี้ อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจของสหรัฐฯ จะปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรก โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.5 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่สองของปีนี้ และในไตรมาสสุดท้ายของปีก็จะปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องอีกร้อยละ 1.7 เช่นกัน แต่จากการที่เศรษฐกิจของสหรัฐฯ ปรับตัวลดลงอย่างรุนแรงในไตรมาสแรกของปี ทำให้หากพิจารณาทั้งปีนี้แล้วอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของมหาอำนาจของโลกยังติดลบอยู่ในระดับที่สูงถึงร้อยละ 2.5 อย่างไรก็ดี มีการคาดกันว่าในปีหน้าคือปี 2553 ตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ จะกลับมาเป็นบวกทั้งปี โดยจะปรับตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.2 ซึ่งถือว่าสูงกว่าประเทศพัฒนาแล้วในแถบยุโรป ซึ่งรวมทั้งอังกฤษ และญี่ปุ่น"
ทั้งนี้ ปัจจัยสนับสนุนถึงความน่าสนใจของการลงทุนในหุ้นของสหรัฐฯ คือ ตั้งแต่ต้นปีมาราคาหุ้นของสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นน้อยมากเพราะนักลงทุนยังไม่เชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจ ดังนั้นจากการคาดการณ์ถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่เริ่มดีขึ้นในไตรมาสที่สามและสี่ของปีนี้ แล้วก็น่าจะเป็นจังหวะที่ดีในการลงทุน
ประการที่สอง หากพิจารณามูลค่าหุ้นของสหรัฐฯ โดยดูจากค่า PE ratio ของตลาด ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่13.6 เท่าเมื่อเทียบกับการคาดการณ์ค่า PE ratio ของนักวิเคราะห์ในอีก 12 เดือนข้างหน้าที่คาดว่า PE ของตลาดน่าจะอยู่ที่ 15.2 เท่า ซึ่งหมายความว่าการลงทุนในหุ้นของสหรัฐฯ อาจจะคาดหวังผลตอบแทนได้อีก
ประการที่สาม นักวิเคราะห์เริ่มปรับตัวเลขการคาดการณ์ของผลกำไรของบริษัทไปในทิศทางที่ดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจของประเทศสหรัฐฯ ทำให้ราคาหุ้นอาจปรับตัวเพิ่มขึ้นได้อีกหากผลกำไรที่ประกาศออกมาเหนือความคาดหมายของผู้ลงทุน และปัจจัยสุดท้ายที่สำคัญก็คือ ค่าความเสี่ยงของการลงทุนในหุ้นของสหรัฐฯ โดยวัดจากดัชนีค่าความผันผวนของตลาดหุ้นสหรัฐฯ และ Credit Spread เริ่มปรับตัวลดลงมาต่ำกว่าระดับก่อนที่บริษัทวาณิชธนกิจ เลห์แมน จะล้มในเดือนกันยายนปีที่ผ่านมา แต่ดัชนีราคาหุ้น S&P 500 ของตลาดหุ้นสหรัฐฯ กลับตกลงมาอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า ก่อนเกิดเหตุการณ์ เลห์แมน ล้มถึง 300 จุด
"สำหรับผู้ลงทุนในหุ้นแล้ว หากพิจารณาจากบทเรียนของการปรับตัวเพิ่มขึ้นของตลาดหุ้นทั่วโลก โดยเฉพาะตลาดหุ้นในประเทศเกิดใหม่ และตลาดหุ้นเอเชียแปซิฟิก ซึ่งมีการปรับตัวของราคาหุ้นเพิ่มสูงขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ภายในระยะเวลาเพียง 6 -7 เดือน ก็น่าจะลองพิจารณาการลงทุนในหุ้นของสหรัฐฯ ไว้บ้าง เพราะจริงอยู่ว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจของยักษ์ใหญ่ประเทศนี้ แม้เพิ่งจะเริ่มต้นและมียังมีความไม่แน่นอนก็ตาม แต่หากยังมีการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องราคาหุ้นของบริษัทในสหรัฐฯ ก็น่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ อย่างรวดเร็วไม่แพ้ใครเช่นกัน"นายพิชากล่าว