บมจ.แพรนด้า จิวเวลรี่(PRANDA)คาดกำไรสุทธิปี 52 ใกล้เคียงปีก่อนที่มีกำไร 183.95 ล้านบาท ขณะที่รายได้รวมลดลงไม่เกิน 15% หรือมาอยู่ที่ประมาณ 3.8 พันล้านบาท จากปีก่อนทำรายได้ 4 พันล้านบาท เนื่องจากอัตรากำไรขั้นต้น(มาร์จิ้น)สูงขึ้นหลังบริษัทผลิตอัญมณีที่ใช้วัตถุดิบจากเงินมากกว่าทอง โดยใช้ในสัดส่วนสูงถึง 80% พร้อมทั้งขยายตลาดเดิมและตลาดใหม่เพิ่ม
ขณะที่ทางการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม(VAT)การนำเข้าวัตถุดิบอัญมณีช่วยทำให้ราคาวัตถุดิบถูกลง-ต้นทุนลดลง คาดว่าจะส่งผลดีต่อผลประกอบการรายได้และกำไรของบริษัทอย่างชัดเจนในปีหน้า
นางสุนันทา เตียสุวรรณ์ รองประธานกรรมการบริหาร PRANDA คาดว่า รายได้และกำไรในครึ่งปีหลังจะดีกว่าครึ่งปีแรก โดยขณะนี้เริ่มมีออเดอร์เข้ามาหลังจากที่สต็อกของลูกค้าลดลง ซึ่งปกติครึ่งปีแรกจะมีสัดส่วนรายได้ราว 40% และที่เหลือ 60% จะอยู่ในช่วงครึ่งปีหลัง
"ตอนนี้ออเดอร์เข้ามามากขึ้นเริ่มเข้าเทศกาลแล้ว เราทำจำนวนต่อชิ้นไม่น้อยกว่าปีที่แล้วแต่มูลค่าต่อชิ้นน้อยลง ทำให้รายได้ลดลง ไม่น่าเกิน 15% จากปีก่อน แต่เชื่อว่ากำไรใกล้เคียงปีก่อน เพราะทำตัวเรือนเป็นเงินได้มาร์จิ้นดีกว่ามาก"นางสุนันทา กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"
บริษัทได้ปรับกลยุทธ์ผลิตจิวเวลรี่ใช้วัตถุดิบจากเงินมากขึ้น หลังจากเห็นสัญญาณออเดอร์ทยอยปรับลดลงมา 2 ปีแล้ว ประกอบกับ ราคาทองคำพุ่งขึ้นมาก ทำให้บริษัทหันมาเพิ่มการผลิตจิวเวลรี่ที่มีเงินเป็นส่วนประกอบหลัก ปัจจุบันมีสัดส่วนถึง 80% ส่วนที่เหลือ 20% จะผลิตอัญมณีที่ทองคำเป็นส่วนประกอบหลัก
"เรารู้ว่าภาวะข้างนอกเป็นยังไง ทุกคนเขาก็ปรับตัวเอง เขาก็ดูแลเรื่องการขายสต็อกกัน ไม่เก็บมาก สั่งจำนวนที่เหมาะสมที่เขาต้องขาย ฉะนั้น ออเดอร์จะเล็กลง ซึ่งทยอยเล็กลงมา 2 ปีก่อนแล้ว ออเดอร์ขณะนี้ก็มีมากขึ้น ออเดอร์ไม่ยาว แต่เป็นออเดอร์สั้นๆ ที่เร่งเอาของ"นางสุนันทา กล่าว
ในช่วงครึ่งปีแรก บริษัททำรายได้กว่า 1 พันล้านบาท ลดลงจากครึ่งปีแรกของปีก่อนตามภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกที่ชะลอตัว โดยเฉพาะในไตรมาส 1//52 ยอดขายตกลงไปมาก ทำให้บริษัทต้องทุ่มทำการตลาดมากขึ้นทั้งตลาดเดิมและตลาดใหม่ ซึ่งหวังว่าครึ่งหลังของปีจะดีขึ้น
"ในครึ่งปีหลัง ความมั่นใจใช้จ่ายดีขึ้น เศรษฐกิจก็มาองว่าน่าจะดีขึ้น และเป็นเทศกาลใช้สอยอยู่แล้ว ดูแล้วแนวโน้มน่าจะโอเค ดีขขึ้น เพราะไตรมาสแรก ผลจากภาวะเศรษฐกิจต่างๆ ทำให้คนต้องระมัดระวัง"นางสุนันทา กล่าว
ปัจจุบัน บริษัทส่งออก 80% ของรายได้รวม และ 20% ขายในประเทศ ซึ่งเป็นการขายเครื่องประดับทองคำ"พรีม่าโกลด์"ทั้งนี้ ตลาดส่งออกสำคัญได้แก่ ตลาดสหรัฐ 38% , ยุโรป 35% , ญี่ปุ่น 12% ที่เหลือเป็นตลาดเอเชีย
ขณะเดียวกัน บริษัทมีโรงงานใน 4 ประเทศ รวม 6 แห่ง โดยในไทย มี 3 แห่ง นอกนั้นเป็นโรงงานในเวียดนาม อินโดนีเซีย และ จีน
นางสุนันทา กล่าวว่า จากการที่ครม.มีมติยกเลิกการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม(VAT) ในการนำเข้าวัตถุดิบอัญมณี ส่งผลให้บริษัทได้ลดต้นทุนวัตถุดิบลง แต่คงยังไม่ลดลงในทันที เพราะยังต้องรอการประกาศจากทางการ อีกทั้งบริษัทจะต้องรอลูกค้าออเดอร์ก่อนจึงจะสั่งนำเข้าวัตถุดิบ จึงเชื่อว่ากรณีเรื่อง VAT จะส่งผลดีในช่วงปลายปีนี้หรือไม่ก็ต้นปีหน้า
นอกจากในแง่ของต้นทุนที่ลดลงแล้ว บริษัทก็จะมีสภาพคล่องมากขึ้น เพราะก่อนหน้านี้แม้ว่าจะสามารถขอคืน VAT ที่จ่ายไปได้ในภายหลัง แต่ก็ต้องใช้เวลาบางรายอาจเป็นปี
นางสุนันทา กล่าวว่า เมื่อต้นทุนลดลง ทำให้การผลิตสินค้าระดับ MASS สามารถพัฒนาเรื่องรูปแบบสินค้ามากขึ้น เพราะทำให้บริษัทมีโอกาสหาแหล่งอัญมณีอย่างอื่นนอกเหนือ ทับทิม ไพลิน เพื่อนำเข้ามาผลิตส่งออกได้เพิ่มงานหลากหลาย
"เมื่อทุกอย่างดีขึ้น คาดว่ากำไรจะดีขึ้นกว่าปีนี้ และเราก็มีการควบคุมค่าใช้จ่าย" นางสุนันทา กล่าว
ทั้งนี้ บริษัทเห็นว่ายังไม่มีความจำเป็นต้องเพิ่มฐานการผลิต เพียงแต่เพิ่มกะการทำงานเพิ่มขึ้นได้ แต่จะเพิ่มงบการตลาด เพื่อขยายการตลาดให้มากขึ้น