บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท แอ๊ดวานซ์ อะโกร จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “BBB" ด้วยแนวโน้ม “Stable" หรือ “คงที่" โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงฐานะของบริษัทในการเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมการผลิตเยื่อกระดาษชนิดเยื่อใยสั้นและกระดาษพิมพ์เขียนของไทย รวมถึงการมีโรงงานที่มีประสิทธิภาพและมีการผลิตที่ครบวงจร ชื่อเสียงที่แข็งแกร่งของผลิตภัณฑ์กระดาษ “ดับเบิ้ล เอ" รวมถึงโครงสร้างทางการเงินที่ปรับตัวดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ปัจจัยบวกดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากการที่อุตสาหกรรมเยื่อและกระดาษมีราคาค่อนข้างผันผวน ความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ผลการดำเนินงานที่ปรับตัวลดลงจากผลกระทบของภาวะเศรษฐกิจโลกที่ซบเซา ภาระการลงทุนขนาดใหญ่ในระยะเวลาอันใกล้ และความกังวลเกี่ยวกับการบริหารการเงินของบริษัทให้สอดคล้องกับเงื่อนไขสัญญาเงินกู้
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนถึงความคาดหวังว่าผลการดำเนินงานของบริษัทน่าจะดีขึ้นในระยะสั้นถึงปานกลางเมื่อความต้องการใช้กระดาษเริ่มฟื้นตัว อัตราส่วนหนี้สินต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทน่าจะอยู่ที่ระดับ 40%-50% แม้บริษัทจะมีแผนการลงทุนในโรงงานผลิตเยื่อกระดาษโรงที่ 3 ก็ตาม แนวโน้มอันดับเครดิตยังสะท้อนถึงความตั้งใจของผู้บริหารที่จะยังคงเปิดเผยข้อมูลทางการเงินและการดำเนินงานของบริษัทตามปกติ และพยายามลดรายการที่ไม่จำเป็นระหว่างบริษัทกับบริษัทที่เกี่ยวข้องลง นอกจากนี้ แนวโน้มอันดับเครดิตยังพิจารณารวมถึงการที่บริษัทจำหน่ายโรงไฟฟ้าออกไปซึ่งจะช่วยเสริมสภาพคล่องและแก้ปัญหาการละเมิดเงื่อนไขในสัญญาเงินกู้ของบริษัท
ทริสเรทติ้งรายงานว่า บริษัทแอ๊ดวานซ์ อะโกร เป็นผู้ผลิตเยื่อกระดาษและกระดาษพิมพ์เขียนรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทยโดยเป็นเจ้าของโรงงานผลิตเยื่อกระดาษจำนวน 2 โรงซึ่งมีกำลังการผลิตรวมประมาณ 580,000 ตันต่อปี และมีเครื่องจักรผลิตกระดาษจำนวน 3 เครื่องซึ่งมีกำลังการผลิตประมาณ 558,000 ตันต่อปี เยื่อกระดาษที่ผลิตได้ประมาณ 70%-80% นั้นบริษัทนำมาใช้เพื่อการผลิตกระดาษ และส่วนที่เหลือส่งจำหน่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศ บริษัทเป็นผู้ส่งออกเยื่อใยสั้นรายสำคัญในประเทศโดยคิดเป็นจำนวน 143,808 ตันในปี 2550 และ 82,856 ตันในปี 255 1 โดยปริมาณเยื่อกระดาษที่ส่งออกในปี 2551 ลดลงมากกว่า 40% เมื่อเทียบกับปีก่อนด้วยสาเหตุสำคัญจากราคาเยื่อกระดาษที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างมากในไตรมาสที่ 3 ของปี 2551 ตามราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2551 และความต้องการที่ลดลงอย่างรวดเร็วจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ยอดจำหน่ายผลิตภัณฑ์กระดาษในปี 2551 ก็ลดลงประมาณ 6.5% จากปีก่อน โดยส่วนใหญ่เกิดจากปริมาณการส่งออกที่ลดลง อย่างไรก็ดี เนื่องจากบริษัทยังสามารถคงราคาขายของ “กระดาษดับเบิ้ล เอ" ไว้ได้ จึงทำให้มูลค่าของยอดขายกระดาษพิมพ์เขียนของบริษัทลดลงเพียง 1% เมื่อเทียบกับปีก่อน ในทางตรงกันข้าม ราคาขายของเยื่อกระดาษและกระดาษม้วนลดลงอย่างมากนับตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ของปี 2551 ซึ่งเป็นลักษณะของสินค้าโภคภัณฑ์ทั่วไป
ทริสเรทติ้งกล่าวว่า ณ เดือนมีนาคม 2552 บริษัทแอ๊ดวานซ์ อะโกรมีหนี้จำนวน 10,643 ล้านบาท ลดลงจาก 12,038 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2551 โดยมีหนี้เงินกู้ระยะสั้นในสัดส่วนประมาณ 40% ของหนี้สินรวม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหนี้เพื่อการค้า ในขณะที่เงินกู้ระยะยาวส่วนใหญ่เป็นหุ้นกู้ระยะยาวชนิดไม่ด้อยสิทธิอัตราดอกเบี้ย 11% ซึ่งจะครบกำหนดไถ่ถอนในปี 2555 โดยมีมูลค่าคงเหลือ 160.59 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สัญญาเงินกู้ของบริษัทมีข้อจำกัดเกี่ยวกับการรวมกิจการ การจำหน่ายทรัพย์สิน การจ่ายเงินปันผล การห้ามก่อให้เกิดภาระผูกพันแก่ที่ดิน อาคาร และอุปกรณ์ รวมทั้งการดำรงอัตราส่วนทางการเงิน ณ สิ้นปี 2551 บริษัทมีการละเมิดเงื่อนไขบางประการเกี่ยวกับการดำรงอัตราส่วนทางการเงินในสัญญาเงินกู้กับธนาคารพาณิชย์ในประเทศบางแห่ง แต่บริษัทก็ได้รับการผ่อนผันจากธนาคารในประเทศแห่งหนึ่งแล้ว และกำลังขอผ่อนผันจากธนาคารอีกแห่งหนึ่ง นอกจากนี้ บริษัทยังได้ลงนามในสัญญาจะซื้อจะขายโรงไฟฟ้าจำนวน 3 โรงให้แก่บริษัทที่เกี่ยวข้องคือ บริษัท เนชั่นแนล พาวเวอร์ ซัพพลาย จำกัด เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2552 ซึ่งจะช่วยให้สภาพคล่องของบริษัทดีขึ้น และจะสามารถแก้ปัญหาการละเมิดเงื่อนไขในสัญญากู้ยืมเงินได้
ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2552 อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทอยู่ที่ 44% ซึ่งสูงกว่าที่ประมาณการไว้ เนื่องจากบริษัทมีการซื้อคืนหุ้นของบริษัทจำนวน 9.21% ของจำนวนหุ้นทั้งหมดในช่วงครึ่งหลังของปี 2551 ในราคา 39 บาท/หุ้น หรือเป็นเงินทั้งสิ้นประมาณ 1,912.9 ล้านบาท ทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้นลดลงในจำนวนที่เท่ากัน อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทไม่น่าจะปรับลดในระยะใกล้ ทั้งนี้ เนื่องจากบริษัทมีแผนจะลงทุนประมาณ 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐในโรงกระดาษโรงที่ 3 ซึ่งมีกำลังการผลิตที่ประมาณ 210,000 ตันต่อปี โดยบริษัทมีแผนจะใช้เงินกู้ประมาณ 100 ล้านดอลลาร์ และส่วนที่เหลือจะใช้กระแสเงินสดจากการดำเนินงานและจากการขายโรงไฟฟ้า กระแสเงินสดจากการดำเนินงานในไตรมาสแรกของปี 2552 ลดลงประมาณ 52% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มาอยู่ที่ 436 ล้านบาท โดยสาเหตุหลักมาจากอัตรากำไรที่ลดลงของการจำหน่ายเยื่อกระดาษและยอดจำหน่ายกระดาษที่ลดลงทั้งในแง่ปริมาณและราคา อย่างไรก็ตาม กระแสเงินสดจากการดำเนินงานในไตรมาสแรกของปี 2552 ก็ปรับตัวดีขึ้นมากจากในไตรมาสที่ 4 ของปี 2551 ที่มีกระแสเงินสดติดลบ 87 ล้านบาท ราคาเยื่อกระดาษเริ่มมีการปรับเพิ่มขึ้นในเดือนพฤษภาคม 2552 จึงคาดว่าผลประกอบการของบริษัทในไตรมาสที่ 2 ของปี 2552 น่าจะปรับตัวดีขึ้น