บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตองค์กรและตราสารหนี้ของ บริษัท เอเชี่ยน พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “BBB+" ด้วยแนวโน้ม “Stable" หรือ “คงที่" อันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงผลงานของบริษัทในตลาดพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ประเภทที่อยู่อาศัย ตลอดจนตราสินค้าที่ได้รับการยอมรับในตลาดทาวน์เฮ้าส์และคอนโดมิเนียมในเมือง และความยืดหยุ่นในการบริหารงานซึ่งทำให้บริษัทสามารถปรับเปลี่ยนและพัฒนาโครงการให้เป็นไปตามแนวโน้มของอุตสาหกรรมได้อย่างทันเหตุการณ์ อย่างไรก็ตาม จุดแข็งดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวที่ส่งผลให้อุปสงค์ในธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์อ่อนตัวลง ตลอดจนลักษณะของธุรกิจที่ผันผวน และนโยบายการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ที่เข้มงวดขึ้นซึ่งส่งผลทำให้ผู้ซื้อบ้านกู้เงินเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยได้ยากขึ้น ในขณะที่การขยายโครงการคอนโดมิเนียมจำนวนมากในช่วงปีที่ผ่านมาซึ่งทำให้บริษัทมีภาระหนี้สูงขึ้นยังเป็นปัจจัยที่น่าห่วง
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนถึงการคาดการณ์ว่าบริษัทจะสามารถบริหารการก่อสร้างและโอนโครงการคอนโดมิเนียมได้ตามแผน แม้ว่าโครงสร้างเงินกู้ของบริษัทจะได้รับแรงกดดันจากการลงทุนในโครงการคอนโดมิเนียมหลายโครงการ แต่ก็คาดว่าจะรักษาระดับให้อยู่ในช่วง 50%-55% เอาไว้ได้ในระยะ 2-3 ปีข้างหน้า
ทริสเรทติ้งรายงานว่า บริษัทเอเชี่ยน พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ ก่อตั้งในปี 2532 โดยนายอนุพงษ์ อัศวโภคิน และนายพิเชษฐ วิภวศุภกร ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท โดยถือหุ้นรวมกันคิดเป็นสัดส่วน 36% บริษัทพัฒนาสินค้าที่อยู่อาศัยที่หลากหลายตั้งแต่ทาวน์เฮ้าส์ใจกลางเมืองไปจนถึงคอนโดมิเนียมและบ้านเดี่ยว ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา บริษัทมียอดขายเฉลี่ยปีละ 7,000 ล้านบาท และในแต่ละปีก็มียอดขายสินค้าแต่ละประเภทที่กระจายตัวแตกต่างกันไป โดยยอดขายทาวน์เฮ้าส์คิดเป็น 37%-80% ของยอดขายรวม ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความยืดหยุ่นในการปรับเปลี่ยนการพัฒนาโครงการให้เป็นไปตามความต้องการของตลาด ในขณะที่ยอดขายคอนโดมิเนียมอยู่ในระหว่าง 5%-46% และยอดขายบ้านเดี่ยวคิดเป็น 12%-17% ในช่วงเดียวกัน ความได้เปรียบในการแข่งขันของบริษัทมาจากการมีแหล่งทำเลที่ดีที่เน้นพื้นที่ในเมืองและความสามารถของผู้บริหารในการปรับเปลี่ยนรูปแบบการพัฒนาโครงการได้อย่างรวดเร็วเพื่อให้เป็นไปตามความต้องการที่เปลี่ยนไปของลูกค้า ราคาขายเฉลี่ยต่อหน่วยในโครงการทั้งหมดของบริษัทซึ่งเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 4.8 ล้านบาทแสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนกลยุทธ์ที่เน้นโครงการบ้านเดี่ยวเพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ณ เดือนมีนาคม 2552 บริษัทมีโครงการที่กำลังเปิดขายรวมทั้งสิ้น 30 โครงการ คิดเป็นมูลค่าคงเหลือสำหรับขายน้อยกว่า 9,000 ล้านบาท โดยมูลค่าของคอนโดมิเนียมคิดเป็น 24% ของโครงการทั้งหมด ในขณะที่ทาวน์เฮ้าส์และบ้านเดี่ยวมีมูลค่าคิดเป็น 43% และ 33% ตามลำดับ
การมียอดขายรอการรับรู้รายได้ในปีก่อนจำนวนมากทำให้ผลการดำเนินงานในปี 2551 และไตรมาสแรกของปี 2552 ของบริษัทยังคงแข็งแกร่ง ในปี 2551 บริษัทชะลอแผนลงทุนในโครงการคอนโดมิเนียมเนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ทำให้บริษัทมียอดขายโครงการเพียง 7,471 ล้านบาทในปี 2551 ซึ่งลดลงอย่างมากจากยอดสูงสุดในปี 2550 ที่ 15,675 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ยอดขายรอการรับรู้รายได้ของบริษัทยังคงแข็งแกร่งโดยมีมูลค่ามากกว่า 11,000 ล้านบาท ณ เดือนมีนาคม 2552 ซึ่งประมาณ 9,600 ล้านบาทมาจากโครงการคอนโดมิเนียม 10 แห่ง บริษัทมีรายได้จากการขายเพิ่มขึ้นเป็น 9,832 ล้านบาทในปี 2551 จาก 7,825 ล้านบาทในปี 2551 ในไตรมาสแรกของปี 2552 รายได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ยังคงเพิ่มขึ้นเป็น 2,816 ล้านบาท จาก 1,316 ล้านบาทในช่วงเดียวกันของปี 2551 อันเป็นผลจากการที่โครงการคอนโดมิเนียม 3 แห่งแล้วเสร็จและโอนให้แก่ลูกค้าในช่วงต้นปี 2552 ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทยังคงดีอยู่จากประโยชน์ที่ได้รับจากมาตรการด้านภาษีของภาครัฐ
ในปีที่ผ่านมาบริษัทมีค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารคอนโดมิเนียมลดลงเนื่องจากการเปิดตัวโครงการน้อยลงหลังจากปี 2550 ซึ่งทำให้อัตรากำไรจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้นจาก 20% ในปี 2550 เป็น 25% ในช่วงปี 2551 และ 3 เดือนแรก ของปี 2552 กระแสเงินสดของบริษัทยังคงแข็งแกร่งจากการที่อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมอยู่ที่ระดับ 22%-23% มาตั้งแต่ปี 2550 จนถึงปี 2551 อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายลดลงจาก 9 เท่าในปี 2550 เป็น 7 เท่าในปี 2551 และไตรมาสแรกของปี 2552 เนื่องจากโครงสร้างเงินกู้ต่อฐานทุนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยระดับเงินกู้ยืมของบริษัทเพิ่มขึ้นจาก 5,509 ล้านบาทในปลายปี 2550 เป็น 7,986 ล้านบาท ณ ปลายปี 2551 และ 6,739 ล้านบาท ณ ปลายไตรมาสแรกของปี 2552 โดยคาดว่าเงินกู้ของบริษัทจะคงอยู่ที่ระดับประมาณ 7,000 ล้านบาทตลอดปี 2552 เพื่อรองรับโครงการที่อยู่อาศัยที่ยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนซึ่งอยู่ระหว่าง 48%-54% ในปีที่ผ่านมาคาดว่าจะยังคงตัวต่อไปในระยะ 2-3 ปีข้างหน้า ซึ่งจะช่วยให้บริษัทสามารถรักษาฐานะทางการเงินให้อยู่ในระดับที่รับได้ในช่วงเวลาที่มีการก่อสร้างโครงการคอนโดมิเนียมหลายโครงการ
ทริสเรทติ้งกล่าวว่า ภาวะตลาดที่อยู่อาศัยในปีที่ผ่านมาค่อนข้างผันผวนอันเป็นผลมาจากความไม่มั่นคงทางการเมืองและวิกฤติการณ์ทางการเงินของโลก แม้ว่ามาตรการด้านภาษีซึ่งอนุญาตให้ผู้ซื้อบ้านสามารถนำเงินซื้อบ้านในวงเงินสูงสุดไม่เกิน 300,000 บาทไปใช้ลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แต่ก็คาดว่าตลาดอสังหาริมทรัพย์ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลจะปรับตัวลดลงตามภาวะเศรษฐกิจและจะยังคงหดตัวในปี 2552 ดังนั้น ผู้ประกอบการควรต้องบริหารสภาพคล่องอย่างระมัดระวังและดำรงความยืดหยุ่นทางการเงินให้เพียงพอต่อภาระผูกพันทางการเงินต่างๆ ในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัวเพื่อที่จะดำรงสถานะอันดับเครดิตเอาไว้