GLOW รอผงาดปี 55 กำไรโตก้าวกระโดดถึง 8 พันลบ. จากกำลังผลิตไฟฟ้าเพิ่ม

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday August 6, 2009 11:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.โกลว์ พลังงาน (GLOW) คาดว่ากำไรสุทธิในปีนี้จะดีกว่าปีก่อนที่ 3.54 พันล้านบาท และมีโอกาสแตะระดับ 4 พันล้านบาท ไม่รวมกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน(FX) เป็นผลจากมาร์จิ้นที่เพิ่มสูงขึ้นเมื่อต้นทุนราคาชื้อเพลิงลดลง ขณะที่ปีนี้ คาดการณ์ปริมาณการขายไฟฟ้าของบริษัทจะเพิ่มขึ้นราว 5-10% จากเดิมที่เคยคาดว่าจะลดลง 5-6% เนื่องจากลูกค้าภาคอุตสาหกรรมเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ในเดือนพ.ค.-มิ.ย.ที่ผ่านมา ทำให้ผลประกอบการในไตรมาส 2/52 ดีกว่าไตรมาส 1/52 และคาดว่ารายได้กำไรในครึ่งปีหลังจะดีกว่าครึ่งปีแรก จากยอดขายไฟฟ้าสูงขึ้น

พร้อมมั่นใจกำไรสุทธิปี 53 เติบโตต่อเนื่อง จากกำลังการผลิตโรงไฟฟ้า SPP เพิ่มเข้ามาที่เริ่มรับรู้ไตรมาส 3/53 และในช่วงไตรมาส 3-4 ของปี 54 มีกำลังการผลิตใหม่ 2 โรงเข้ามาอีก 67% ของกำลังการผลิต เป็น 3.2 พันเมกะวัตต์ จากปัจจุบันผลิตราว 2 พันเมกะวัตต์ โดยในปี 55 จะได้รับรู้รายได้กำไรเต็มปี ส่งผลให้กำไรสุทธิก้าวกระโดด เข้าสู่ระดับไม่ต่ำกว่า 8 พันล้านบาท

*ปี 52 กำไรดีกว่าปีก่อน จากปริมาณขายไฟฟ้าเพิ่ม

นายสุทธิวงศ์ คงสิริ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายการเงิน GLOW คาดว่า กำไรสุทธิปี 52 ดีกว่าปีก่อน และเชื่อว่าจะทำได้สูงถึง 4 พันล้านบาท จากกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งหมดราว 2 พันเมกะวัตต์ เนื่องจากในเดือนพ.ค.-มิ.ย. ความต้องการใข้ไฟฟ้าเริ่มกลับเข้ามาสู่ภาวะปกติ ทำให้ปริมาณขายไฟฟ้าในไตรมาส 2/52 ลดลงเพียง 5% จากไตรมาส 1/52 ที่ลดลงถึง 20%

และในไตรมาส 3/52 ปริมาณขายไฟฟ้าดีขึ้นกว่าในไตรมาส 2/52 จึงคาดว่าทั้งปี 52 ปริมาณขายไฟฟ้าของบริษัทจะเพิ่มขึ้น 5-10% จากก่อนหน้าที่คาดว่าจะลดลง 5-6% เพราะในไตรมาส 4 ปีก่อนยอดขายไฟฟ้าปรับตัวลงไปมาก ซึ่งมองว่าธุรกิจไฟฟ้าได้ผ่านจุดต่ำสุดตั้งแต่ปลายปีก่อนไปแล้ว

ประกอบกับ ต้นทุนเชื้อเพลิงทั้งถ่านหินและก๊าซก็ปรับตัวลดลง โดยปรับลง 50% และ 20% จากปีก่อน ตามลำดับ ขณะที่ค่าเอฟทีได้มีการปรับขึ้น 2 ครั้งเมื่อปลายปีที่แล้ว และช่วง ม.ค. 52 ทำให้บริษัทมีมาร์จิ้นสูงขึ้น

และในช่วงครึ่งปีหลังสต็อกถ่านหินเก่าที่มีต้นทุนสูงหมดไปทำให้ต้นทุนถ่านหินต่ำลงไปอีก ก็คาดว่ากำไรในครึ่งปีหลังน่าจะสูงขึ้นตามมาร์จิ้นที่ปรับตัวดีขึ้น รวมทั้งไม่มีการปิดซ่อมบำรุงในครึ่งปีหลังแล้ว หลังจากที่ปิดซ่อมบำรุงใหญ่ไปแล้วในไตรมาส 1/52

"กำไรปีนี้จะดีกว่าปีที่แล้ว เหตุผลหลักจากต้นทุนเชื้อเพลิงถูกลง มาร์จิ้นปีนี้กลับมาเป็นปกติ คิดว่าจะกลับมามีกำไรในระดับ 4 พันล้านบาทได้ ไม่นับรวมกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งอาจจะมีกำไรมากกว่านี้" นายสุทธิวงศ์ กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"

พร้อมเชื่อว่า ในปี 52 บริษัทจะสามารถจ่ายเงินปันผลได้สูงกว่าปีก่อนที่มีอัตราจ่ายหุ้นละ 1.736 บาท และมั่นใจจะสามารถจ่ายเงินปันผลได้เพิ่มขึ้นทุกปี จากในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา จำนวนเงินจ่ายเงินปันผลของบริษัทเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 5% ต่อปี ขณะที่นโยบายการจ่ายเงินปันผลไม่น้อยกว่า 50% ของกำไรสุทธิ

*กำไรโตต่อเนื่อง เชื่อปี 55 ก้าวกระโดดจากกำลังการผลิตใหม่เพิ่ม

รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายการเงิน GLOW เชื่อว่า กำไรสุทธิในปี 53 จะเพิ่มขึ้นจากปี 52 จากการทยอยรับรู้รายได้ในไตรมาส 3 จากโรงไฟฟ้า SPP แห่งใหม่(ใช้ถ่านหิน) ขนาด 115 เมกะวัตต์ และปี 54 กำไรสุทธิยังเติบโตต่อเนื่อง จากกำลังการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอีก 1.04 พันเมกะวัตต์ จาก 2 โรงไฟฟ้าใหม่ ซึ่งจะทยอยรับรู้ในครึ่งหลังปี 54 หรือประมาณ 50% ของกำลังการผลิตใหม่ และจะไปรับรู้รายได้เต็มปีในปี 55 ส่งผลให้กำไรสุทธิเติบโตอย่างก้าวกระโดด

"ผลกำไรในปี 55 จะก้าวกระโดดอย่างมาก จากในปี 53 เริ่มกระโดดเล็กๆ และ ปี 54 กระโดดมากขึ้น...กำลังการผลิตเราเพิ่มขึ้น 67% แต่กำไรเราจะโตมากกว่า 100% ก็คิดว่าอย่างต่ำต้องได้ 8 พันล้านบาท" นายสุทธิวงศ์ กล่าว

ทั้งนี้ ทั้ง 3 โรงไฟฟ้าใหม่ บริษัทได้เซ็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในส่วนโรงไฟฟ้าเก็คโค่-วัน (บริษัทถือหุ้น 65%) กำลังผลิต 660 เมกะวัตต์ ระยะเวลา 25 ปี , โรงไฟฟ้า SPP (ใช้ก๊าซ) กำลังการผลิต 380 เมกะวัตต์ ได้เซ็นสัญญาลูกค้าอุตสาหกรรม ระยะเวลา 20 ปี สำหรับโรงไฟฟ้า SPP ที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง ที่เปิดปลายปีนี้ บริษัทได้ลูกค้าใหม่ 10 ราย

"โรงไฟฟ้าใหม่เพิ่มกำลังการผลิตได้ 67% แต่กำไรที่ได้จะได้มากกว่านี้ มาร์จิ้นเราจะได้สูงขึ้น"นายสุทธิวงศ์ กล่าว

นอกจากนี้ บริษัทเชื่อว่าจะไม่ได้รับผลกระทบจากการทางการทบทวนแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย ( PDP 2009) เพราะโรงไฟฟ้าของบริษัทยังใหม่ ซึ่งต้นทุนการผลิตถูกกว่าโรงอื่น โดยโรงไฟฟ้าของบริษัทที่ทำสัญญากับ กฟผ.ไว้ 25 ปี ดำเนินไปประมาณ 10 ปี

*ภายในปี 54 ไม่มีแผนเพิ่มทุน พร้อมลงทุนโครงการใหม่แต่ไม่เกินตัว

นายสุทธิวงศ์ กล่าวว่า จากการลงทุน 3 โรงไฟฟ้าใหม่ดังกล่าว บริษัทใช้งบลงทุน 6 หมื่นล้านบาท โดยเงินกู้ของโรงไฟฟ้า IPP (เก็คโค่-วัน) บริษัทได้เงินกู้สถาบันการเงินระยะยาว 20 ปี อัตราดอกเบี้ยคงที่ 5.5%ต่อปี โดยแบ่งเป็นเงินบาท 1 หมื่นล้านบาท และ 460 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อให้สอดคล้องกับรายได้ของบริษัทที่ได้รับเป็นเงินเหรียญสหรัฐจากกฟผ.ซึ่งเป็นลูกค้ารายใหญ่ ทั้งนี้เงินกู้ส่วนนนี้จะทยอยใช้ไปจนถึงปี 54 ที่สร้างโรงไฟฟ้าเสร็จ

การใช้เงินกู้จำนวนดังกล่าว ทำให้บริษัทมอัตราส่วนหนี้สินค่อทุนขณะนี้ประมาณ 1 เท่า และจะเพิ่มเป็น 2 เท่าในปี 54 ซึ่งถือว่าสูงในอุตสาหกรรมเดียวกัน แต่บริษัทจะมีต้นทุนทางการเงินคงที่ หลังจากนั้นปี 55 เริ่มทำรายได้ ก็จะทยอยคืนหนี้ กำไรก็จะเริ่มดีขึ้น

"ขณะนี้ D/E เราสูงกว่าเมื่อเทียบกับบริษัทอื่นในกลุ่มเดียวกัน แต่เราเน้นให้มีกระแสเงินสดมากกว่าภาระหนี้ คิดเป็น 1.6 เท่าทุกๆปี ซึ่งหมายถึงเรามีเงินคืนหนี้ทุกๆปี เราไม่มีความเสี่ยงที่จะรีไฟแนนซ์หนี้ แต่ถ้าเราจะออกตราสารหนี้หรือกู้ใหม่เพื่อลงทุนใหม่แต่ไม่ใช่ใช้หนี้เก่า ไม่มีเรื่อง Refinance เราไม่มีภาระชำระหนี้แต่ละปีสูง เราไม่มีทางกู้สั้น แล้วค่อยไป Rollover จะไม่มีทางเกิดขึ้นที่ชำระหนี้ไม่ได้ ไม่มีทางเกิดขึ้น"

"ความเสี่ยงของ GLOW อย่างเดียวคือ บริษัทต้องลงทุนใหม่ และหาเงินไม่ได้ แต่ความเสี่ยงที่บริษัทไม่มีกระแสเงินสดไม่พอคืนหนี้ไม่มี ฉะนั้น คนจะกังวลว่าเวลาเราไปลงทุนเยอะๆ แล้วมีความเสี่ยงใหม่ อาจจะเพิ่มทุนไหม แต่บอกว่าเรามั่นใจได้ว่า ณ วันนี้ Balance Sheet ที่มีอยู่ และด้วยสภาพคล่องที่มีอยู่ในตลาดตอนนี้ ไม่มีความเสี่ยงเรื่องนี้ แบงก์อยากจะให้เรากู้เงิน ฉะนั้น มั่นใจว่าในช่วงนี้จนถึงปี 54 เราจะไม่มีการเพิ่มทุน" นายสุทธิวงศ์ กล่าว

นอกจากนี้ บริษัทยังได้ศึกษาแผนการสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำในลาวที่ติดกับโครงการโรงไฟฟ้าห้วยเฮาะ ที่คาดว่ารัฐบาลลาวจะเซ็นเอ็มโอยูเพื่อเข้าศึกษาโครงการภายในปีนี้ โดยคาดว่าจะเกิดการลงทุนในอีก 3 ปีข้างหน้า

ขณะเดียวกันก็ศึกษาโครงการพลังงานลมในแถบภาคอีสาน รวมทั้งยังได้ศึกษาโครงการสร้างโรงไฟฟ้าในเวียดนามที่จะป้อนให้กับโรงงานปิโตรเคมีของบมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (SCC)ไปลงทุนในเวียดนาม

ทั้งนี้โครงการในลาว นายสุทธิวงศ์กล่าวว่า บริษัทได้เข้าซื้อหุ้นโครงการห้วยเหาะ 67.25% กำลังการผลิต 152 เมกะวัตต์ บริษัทเตรียมศึกษาพื้นที่ใกล้เคียงกับโครงการนี้ เพราะมองว่าบริษัทจะสามารถต่อยอดโรงไฟฟ้าที่อาจจะสร้างเพิ่มกำลังการผลิตเป็นเท่าตัว

อย่างไรก็ดี การศึกษาเพื่อการลงทุนในอนาคต บริษัทก็รู้ตัวเองว่าขณะนี้งบลงทุนเริ่มเต็มแล้วเมื่อเทียบกับทุนที่มีอยู่ โดยความสามารถกู้เงินจะจำกัด หลังจากบริษัทได้เงินกู้ 6 หมื่นล้านบาทแล้ว

"สมมติว่า โครงการทุกอย่างที่เราศึกษาดีหมดเลย เราก็คงทำทุกอันไม่ได้ เราก็คงต้องเลือกทำโครงการที่มองแล้วว่า มี Return ดี และ เม็ดเงินลงทุนไม่มาเพิ่มภาระให้กับบริษัทจนถึงกับมีปัญหาได้ เพราะทุกวันนี้เรารู้ตัวหนี้เราสูง แต่เราเอาไปลงทุนก็จะสูงแค่ขั่วคราว พอมีรายได้ใหม่หนี้ก็จะลดลง แต่ถ้าทำอะไรเพิ่มระยะเวลาลดหนี้ก็จะใช้เวลานานขึ้น ฉะนั้น ก็เลือกทำโครงการขนาดเล็กลง" นายสุทธิวงศ์ กล่าว

อนึ่ง GLOW มีผู้ถือหุ้นใหญ่คือ กลุ่ม GDF SUEZ ราว 69% โดยบริษัทเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าใหญ่เป็นอันดับ 3 ของประเทศ มีกำลังการผลิตไฟฟ้าและไอน้ำรวมทั้งหมด 1,966 เมกะวัตต์ โดย 2 ใน 3 ขายให้กับ กฟผ. ที่เหลือ 1 ใน 3 ขายให้กับกลุ่มอุตสาหกรรม



เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ