ชมรมฯ วอนทบทวนร่าง พ.ร.บ.บัตรเครดิตฉบับใหม่ มีช่องโหว่-ไม่เป็นธรรม

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday August 6, 2009 18:05 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธวัชชัย ธิติศักดิ์สกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารอาวุโส สายงานธุรกิจบัตรเครดิต บมจ.บัตรกรุงไทย(KTC)ในฐานะสมาชิกชมรมบัตรเครดิต เปิดเผยว่า ต้องการเรียกร้องให้กระทรวงยุติธรรมรับฟังข้อเสนอแนะของผู้ประกอบการบัตรเครดิตเกี่ยวกับ ร่าง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจบัตรเครดิตฉบับใหม่ เนื่องจากมองว่าบางมาตราการที่ออกมามีบางข้อไม่เหมาะสมในทางปฎิบัติ อีกทั้งยังเป็นการนำไปสู่การออกพ.ร.บ.บัตรเครดิตที่ไม่มีความสมบรูณ์และไม่สามารถปฎิบัติได้จริง ทั้งผู้ประกอบการและผู้ใช้บัตร

อย่างไรก็ตาม จากการประเมินเบื้องต้นภายใต้ พ.ร.บ.ฉบับนี้ออกมาและบังคับใช้ไม่น่าจะส่งผลต่อการทำธุรกิจของผู้ประกอบการแต่จะไปส่งผลต่อค่าใช้จ่ายที่ปรับเพิ่มขึ้น

"ผมไม่เข้าใจว่า พ.ร.บ. ทำออกมาได้ยังไงเพราะบางข้อก็มีช่องโหว่และอาจทำร้ายผู้บริโภคด้วยซ้ำ คนร่างไม่เข้าใจธุรกิจบัตรเครดิต ร่างฉบับนี้เหมือนตัดแปะไม่สมบูรณ์ ถ้าออกมาจะรู้ไหมเนี่ยว่าจะส่งผลต่อผู้ประกอบการอย่างไร ดังนั้นจึงอยากให้มีส่วนรวมในการเข้าไปร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวด้วย" นายธวัชชัย กล่าว

ทางชมรมฯ มองว่า ร่าง พ.ร.บ.ยังมีช่องโหว่ที่อาจจะก่อผลเสียต่อผู้บริโภคและผู้ประกอบการบัตรเครดิต ได้แก่ การบังคับให้ผู้ประกอบการฟ้องร้องลูกหนี้ที่ผิดนัดชำระหนี้ภายในระยะเวลา 1 ปี และหากเกินเวลาก็จะไม่สามารถฟ้องร้องได้ ประเด็นนี้ควรขยายระยะเวลาฟ้องร้องออกไป 5 ปีเพื่อให้ลูกหนี้มีความสามารถเคลียร์หนี้ได้มากขึ้นจากที่ให้ผู้ประกอบการเจรจาประนอมหนี้ภายใน 1 ปีเพราะอาจไม่สามารถดำเนินการทัน

นอกจากนั้น การกำหนดบทลงโทษกับผู้ประกอบการบัตรเคดิตมีความรุนแรงเกินไป เช่น หากผู้ติดตามหนี้ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามจนทำให้ก่อความเสียหายต่อผู้ถือบัตรจะต้องรับผิดชอบกับความเสียหายที่เกิดขึ้นจริง และมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปีหรือปรับตั้งแต่ 1 แสนถึง 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เมื่อเทียบกับฐานความผิดในประมวลคดีอาญาที่มีบทลงโทษเบากว่าหากผิดโดยการหมิ่นประมาทจะวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับเท่านั้น

รวมทั้งร่างกฎหมายฉบับนี้ไม่มีการกำหนดบทลงโทษให้ครอบคลุมถึงผู้ที่นำบัตรไปใช้ในทางทุจริต และลูกหนี้ที่มีเจตนาหลบหลีกการชำระหนี้กับผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิต

นายธวัชชัย กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมา พ.ร.บ.บัตรเครดิตฉบับนี้ได้ผ่านการประชาพิจารณ์แล้ว จึงพบว่ามีบางข้อที่ไม่เห็นด้วย แต่อย่างไรก็ตาม คงขึ้นอยู่กับขั้นตอนต่อไปที่กระทรวงยุติธรรมจะเป็นผู้พิจารณา และก็จะส่งให้สำนักคณะกรรมการกฤษฏีกาตีความและส่งไปยังสภาผู้แทนราษฎรถึงจะไปที่รัฐสภาถึงจะมีการบังคับใช้จึงทำให้มีระยะเวลาในการพิรณาว่าเหมาะสมหรือไม่


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ