โอเปเรเตอร์ใหญ่ทั้ง 3 รายมองแนวโน้มธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ของไทยในครึ่งปีหลังทรงตัวจากครึ่งปีแรก เป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจ ขณะที่ทุกค่ายเน้นควบคุมต้นทุน พร้อมคาดว่าการให้บริการ 3G เต็มรูปแบบยังไม่เกิดภายในปีนี้
นายธนา เธียรอัจฉริยะ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มงานพาณิชย์ บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) คาดว่าการเติบโตของบริษัทในครึ่งปีหลังจะไม่แตกต่างจากครึ่งปีแรก โดยในไตรมาส 2/52 รายได้ปรับลดลง 2% จากไตรมาส 1/52 ซึ่งถือว่าไม่มาก และมั่นใจบริษัทจะรักษากระแสเงินสด(cashflow) ในปีนี้ไว้ที่ 1.2 หมื่นล้านบาท
"ผมว่าครึ่งปีหลังทรง ๆ ภาวะตลาดซึม ๆ คล้าย ๆ ครึ่งปีแรก...เราไม่ได้ตั้งเป้าหมายเติบโต แต่เราตั้งเป้ารักษา cashflow ไว้ที่ 1.2 หมื่นล้านบาท เพื่อให้บริษัทแข็งแรง" นายธนา กล่าว
นายธนา คาดว่า ในครึ่งปีหลังคงยังไม่เห็นการออกใบอนุญาตระบบ 3G ในอนาคตอันใกล้ ฉะนั้นในครึ่งปีหลงอุตสาหกรรมโทรคมนาคมคงจะยังไม่มีอะไรตื่นเต้น และเชื่อว่าทุกโอเปอเรเตอร์จะไม่ทำสงครามราคากัน แต่จะเน้นเรื่องต้นทุน ควบคุมค่าใช้จ่าย
ด้านนายสมชัย เลิศสุทธิวงศ์ รองกรรมการผู้อำนวยการสายงานการตลาด บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) หรือ เอไอเอส มองว่าตลาดมือถือในครึ่งปีหลังแม้จะปรับตัวลดลง แต่ก็ยังดีกว่าอุตสาหกรรมอื่นที่ปรับตัวลงไปมากกว่า
"เราก็เชื่อว่ามือถือยังดีกว่าเศรษฐกิจโดยรวม ของเราได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ "นายสมชัย กล่าว
ส่วนนายสุภกิจ วรรธนะดิษฐ์ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการพาณิชย์ บริษัท ทรูมูฟ จำกัด (TRUE MOVE)เห็นเช่นเดียวกันว่าธุรกิจโทรมือถือปรับตัวลดลงน้อยกว่าอุตสาหกรรมอื่นในภาวะเศรษฐกิจยังชะลอตัว โดยเฉพาะรายได้จากโรมมิ่ง, โทรต่างประเทศ ที่ลดลงเป็นผลจากนักท่องเที่ยงลดลง การเดินทางน้อยลง ทำให้รายได้ส่วนนี้หายไปอย่างเห็นได้ชัด
ปัจจุบัน เอไอเอสเป็นผู้ให้บริการมือถือที่มีลูกค้าสูงสุด 27 ล้านเลขหมาย, DTAC มีจำนวน 20 ล้านเลขหมาย และ TRUE MOVE มีจำนวนลูกค้า 15 ล้านเลขหมาย (ณ สิ้นไตรมาส 1/52)