นายพุฒิเมศ เลิศวิริยะเศรษฐ์ กรรมการ และผู้จัดการทั่วไป ดูแลฝ่ายปฏิบัติการ บมจ. ไดโดมอน กรุ๊ป (DAIDO) เปิดเผยกับ"อินโฟเควสท์"ว่า บริษัทตั้งเป้ายอดขายและรายได้ปีนี้จะต้องไม่ต่ำกว่า 300 ล้านบาท หรือเติบโตไม่น้อยกว่า 15% จาก 259.70 ล้านบาทในปี 51 โดยรายได้หลักยังมาจากธุรกิจร้านอาหาร ไดโดมอน ประมาณ 90% ส่วนที่เหลือมาจากร้านอาหารน้องใหม่ในเครือ อีก 3 แบรนด์ คือ ยาสุกิ, อูมามิ และมิตาเกะ
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เราโตคือการขยายพื้นที่ให้บริการ และลูกค้าเก่าๆ เริ่มหวนกลับมาใช้บริการหลังจากหายไปพร้อมๆกับความคิดที่ว่าไดโดมอนเลิกกิจการไปแล้ว
"มีอยู่ช่วงนึงทุกคนคิดว่าเราหายไป แต่พอเราย้อนกลับมาลูกค้าก็เริ่มทยอยกลับมาใช้บริการเหมือนกัน นั่นคือสิ่งที่ทำให้เราเชื่อว่ากลุ่มลูกค้าของไดโดมอนไม่ได้หายไปไหน แต่ถึงหายไปก็พร้อมจะกลับมาเมื่อถึงเวลาเหมาะสม"นายพุฒิเมศ กล่าว
สำหรับแผนงานจากนี้ไปจะมีการขยายพื้นที่ ขยายร้านอาหารในเครือเพิ่มเติม ตามเงินทุนที่พอจะมีเหลือใช้หรือตามเงื่อนไขที่เจ้าของพื้นที่เสนอมา ซึ่งเรามองว่าเป็นข้อเสนอที่ดีและเหมาะสม โดยเรายังยืนยันการเปิดสาขาภายในห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า หรือแหล่งช้อปปิ้งมอลล์ต่างๆ ที่มีผลตอบแทนที่คุ้มค่า มี Pay Date Period ที่เหมาะสม และเงื่อนไขของทางห้างหรือเจ้าของพื้นที่ไม่ทำให้บีบเราจนมากเกินไป
นายพุฒิเมศ กล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทมีร้านอาหารในเครือ 4 แบรนด์ คือ ไดโดมอน, ยาสุกิ, อูมามิ และ มิตาเกะ ร้านเทปันยากิ รวมประมาณ 31 สาขา เป็นไดโดมอน 26 สาขาทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด, ยาสุกิ มี 3 สาขา 1 ในนั้นอยู่ภายในบริเวณเดียวกับไดโดมอนที่ซีคอนสแควร์, อูมามิ 2 สาขา ส่วนมิตาเกะ ตอนนี้ยังมีแค่ 1 สาขา
ปัจจุบันสัดส่วนรายได้ก้อนใหญ่ยังมาจากไดโดมอนเกือบ 90% แต่ในอนาคตมีแผนจะปรับสัดส่วนรายได้จาก 3 แบรนด์น้องใหม่เพิ่ม โดยคาดว่าใน 3 ปี สัดส่วนรายได้จากยาสุกิ จะเพิ่มเป็น 20% อูมามิ และมิตาเกะเป็นอย่างละ 10%
สำหรับไดโดมอน และ ยาสุกิแม้จะมีสไตล์ที่คล้ายคลึงกัน คือ เป็นอาหารปิ้งย่างบาร์บีคิว แต่ก็จะแตกต่างกันในเรื่องของรูปแบบการบริการ คือ ไดโดมอน ลูกค้าสามารถเลือกได้ว่าต้องการแบบบุฟเฟ่ต์ ราคา 199 บาทต่อหัว (ไม่รวมเครื่องและอาหารอื่นๆ) หรือต้องการแบบสั่งเป็นชุดและจานเดียวแล้วแต่ความต้องการของลูกค้า แต่ถ้าเป็น "ยาสุกิ" ที่เราแตกแบรนด์มาเพราะต้องการทำร้านที่เป็น Single Price ราคาถูกกว่าไดโดมอน โดยคิดราคาต่อหัว 269 บาท (รวมทุกอย่าง) เพื่อตอบสนองกลุ่มลูกค้าที่ชื่นชอบการทานจะเน้นบุฟเฟ่ต์ แบบ All You can eat เพียงอย่างเดียว ซึ่งเชื่อว่าทั้งสองแบรนด์จะไม่มีการแย่งกลุ่มลูกค้ากันเอง เนื่องจากก่อนที่เราจะแตกแบรนด์ใหม่หรือคิดคอนเซ็ปต์ใหม่ออกมาจะต้องมั่นใจแล้วว่าจะไม่มีการแย่งลูกค้ากันเองแม้จะมีสาขาอยู่ในพื้นที่เดียวกันหรือใกล้เคียงกันก็ตาม
ส่วน"อูมามิ" เป็นร้านอาหารญี่ปุ่นสไตล์เดียวกับร้านอาหารญี่ปุ่นฟูจิ มุ่งจับกลุ่มลูกค้าระดับกลาง ซึ่งจริงๆ เคยเป็นเมนูที่ออกมาแบบเป็นเทศกาลในร้านไดโดมอน แล้วปรากฎว่าลูกค้าถามหา เราก็เลยตัดสินใจสร้างเป็นแบรนด์ใหม่ขึ้นมาเมื่อประมาณ 52 ปีที่ผ่านมา ขณะที่ "มิตาเกะ" เป็นร้านอาหารญี่ปุ่น มี 3 เมนูหลัก คือ เทปันยากิ สุกี้ยากี้ และชาบู เกิดขึ้นจากครั้งแรกที่จะทำตั้งใจทำเป็นเทปันยากิเพียงอย่างเดียว แต่เนื่องจากพื้นที่ที่จะไปลงคือที่ไอที สแควร์หลักสี่มีขนาดใหญ่มาก เราก็เลยเอาสุกี้ญี่ปุ่นและชาบูไปลงด้วย ซึ่งลูกค้าก็ให้การตอบรับค่อนข้างน่าพอใจ
*ตั้งงบลงทุนปี 52-53 ประมาณ 40 ลบ.ขยายพื้นที่บริการ-ปรับปรุงสาขาเดิม
นายพุฒิเมศ กล่าวว่า ในปีนี้มีแผนจะขยายพื้นที่ให้บริการ คือ อยู่ในห้างเดิมแต่ขยายพื้นที่และทำเป็นอีกบรรยากาศ คือ ที่ห้างสรรพสินค้าแฟร์รี่ จ.ขอนแก่น และไดอาน่า หาดใหญ่ ซึ่งปัจจุบันมีร้านไดโดมอนอยู่แล้ว แต่กำลังจะทำร้านอื่นในพื้นที่เดียวกัน เหมือนเอาแบรนด์อื่นไปลงคู่กัน อาจจะเป็นยาสุกิ หรืออูมามิ คาดว่าจะเปิดบริการได้ในช่วงเดือน ต.ค.-พ.ย.นี้ นอกจากนี้จะมีการปรับปรุงสาขาที่ฟิวเจอร์ รังสิต คาดว่าปีนี้จะใช้งบลงทุนเกือบๆ 20 ล้านบาท
ส่วนปี 53 ก็จะยังเป็นการขยายสาขาภายใต้ 4 แบรนด์หลักนี้อยู่ โดยคาดว่าปี 53 จะขยายพื้นที่หรือเปิดร้านใหม่อีกประมาณ 3 แห่ง ขึ้นอยู่กับความพร้อมของสถานที่ คารดว่าจะใช้งบลงทุนอีกประมาณ 20 ล้านบาท
ด้านแผนการตลาดจะเน้นการทำกิจกรรมแบบ Below The Line คือ การทำโปรโมชั่นลด แลก แจก แถม ณ จุดขาย ซึ่งเรามั่นใจว่าด้วยความโดดเด่นของอาหาร บริการเป็นตัวสร้างชื่อ ไม่ถึงขนาดลงทุนสร้างอะไรมากๆ แต่เน้นการใช้เงินเพื่อปรับปรุงสาขามากกว่า ยังไม่เน้นเรื่องการทำโฆษณา เพราะบริษัทเองก็ยังมีภาระที่ยิ่งใหญ่กว่า นั่นคือกันเงินส่วนหนึ่งเพื่อการจ่ายหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการ บางส่วนไว้ใช้ในการลงทุนปรับปรุงสาขา
อย่างไรก็ตาม ด้วยรูปแบบและเอกลักษณ์แบบเฉพาะตัวของไดโดมอน เราเชื่อว่าสามารถสร้างแบรนด์หลักและน้องๆทั้ง 3 ให้เป็นที่รู้จักได้ไม่แพ้ร้านอาหารของเจ้าอื่นๆ
"ตอนนี้ปัญหาของเรามีอยู่จุดเดียวเท่านั้น ลูกค้าไม่ได้ลอง แต่ถ้าลูกค้าได้ลองแล้วน่าจะยอมรับในรสชาติของเรา ตอนนี้เราเลยพยายามทำให้ลูกค้าได้ลองเข้ามาสัมผัส ซึ่งสิ่งที่เราทำ เชื่อว่าจะค่อยๆขยายฐานของตัวเราเอง"นายพุฒิเมศ กล่าว
*ประเมินช่วงเวลาออกจากแผนฟื้นฟูกิจการยาก
นายพุฒิเมศ กล่าวว่า บริษัทยังไม่ทราบว่าจะได้ออกจากแผนฟื้นฟูกิจการเมื่อไหร่ แต่ในระหว่างนี้บริษัทก็ยังคงเดินหน้าธุรกิจต่อไป โดยเฉพาะกิจการร้านอาหารที่เป็นเส้นเลือดใหญ่ของบริษัท
"บอกตามตรง ตอนนี้เรายังไม่รู้ว่าเราจะออกจากแผนฟื้นฟูกิจการได้เมื่อไหร่ เพราะเราพอออกจากแผนฟื้นฟูฯ ก็ต้องทำตามกฎของตลาดที่จะต้องมีกำไร 3 ไตรมาสติดต่อกัน"นายพุฒิเมศ กล่าว
ปัจจุบัน DAIDO อยู่ระหว่างดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการ ซึ่งตามแผนฟื้นฟูกิจการบริษัทต้องเพิ่มทุนจาก 26 ล้านบาทเป็น 191 ล้านบาท โดยออกหุ้นใหม่ 33 ล้านหุ้น หุ้นละ 4.21 บาท แต่การเพิ่มทุนไม่สำเร็จทำให้ต้องตีโอนสิทธิการเช่าเพื่อชำระหนี้ 111 ล้านบาทให้กับธนาคารธนชาต และธนาคารกรุงไทย ทำให้บริษัทเหลือกิจการ 3 สาขา (จาก 16 สาขา) และมีสินทรัพย์รวม ณ สิ้นปี 2551 ลดจาก 156 ล้านบาทเหลือเพียง 94 ล้านบาท
นอกจากนี้จะต้องหาผู้ร่วมทุนครั้งที่ 2 ภายใน 180 วัน โดยบริษัทต้องเพิ่มทุน 33 ล้านบาท ลดราคาเหลือหุ้นละ 1.06 บาท และเพิ่มทุนครั้งที่ 3 เพื่อรองรับการแปลงหนี้เป็นทุนในอัตรา 5 บาท ต่อ 1 หุ้นให้แก่เจ้าหนี้อีกกลุ่มซึ่งมียอดหนี้เงินต้น 297 ล้านบาท โดยให้ดำเนินการภายใน 60 วัน