TRUE คาด H2/52 ผลงานดีขึ้น หลังพลิกกำไรใน Q2-ควบคุมค่าใช้จ่าย

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday August 17, 2009 16:40 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหาร บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) ระบุว่า แม้เศรษฐกิจของประเทศยังคงชะลอตัว แต่รายได้จากบริการโดยรวม และ EBITDA ของบริษัทในไตรมาส 2/52 ยังคงเติบโตจากไตรมาสเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลสำเร็จจากโปรโมชั่นโทรภายในเครือข่ายและการควบคุมค่าใช้จ่ายภายในกลุ่ม และกลยุทธ์คอนเวอร์เจนซ์ยังคงมีความคืบหน้า คาดว่าผลการดำเนินงานโดยรวมของกลุ่มทรูจะปรับตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง

ผลประกอบการของ TRUE ไตรมาส 2/52 อยู่ในระดับที่น่าพอใจ ทรูยังคงประสบความสำเร็จในการควบคุมค่าใช้จ่ายของกลุ่ม รวมทั้งสามารถลดค่า IC สุทธิของทรูมูฟลงติดต่อกันเป็นไตรมาสที่ 4/52 นอกจากนี้ แพ็คเกจบริการบรอดแบนด์ความเร็ว 8 Mbps ได้รับความนิยมอย่างมาก ยิ่งไปกว่านั้น กลยุทธ์ขยายบริการ สู่ตลาดกลาง-ล่างของทรูวิชั่นส์ ยังคงเพิ่มจำนวนผู้ใช้บริการอย่างต่อเนื่อง

กลยุทธ์คอนเวอร์เจนซ์ยังคงมีความคืบหน้า โดยมีผู้ใช้บริการผลิตภัณฑ์และบริการของกลุ่มทรูตั้งแต่ 2 รายการขึ้นไปเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 26 จากปีที่ผ่านมา ทำให้ปัจจุบันมีจำนวนเกินกว่า 2 ล้านครัวเรือน บริษัทจะยังคงมุ่งเน้นนโยบายต่างๆ ดังกล่าว ซึ่งจะทำให้บริษัทสามารถเติบโตอย่างต่อเนื่องในครึ่งปีหลัง

ครึ่งแรกของปี 52 รายได้จากการให้บริการของบริษัท(ไม่รวมค่า IC) อยู่ที่ 26 พันล้านบาท ซึ่งใกล้เคียงกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมาท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ยังคงชะลอตัว อย่างไรก็ตาม บริษัทมี EBITDA เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.3 เป็น 10.2 พันล้านบาท รวมทั้ง อัตราการทำกำไร ณ ระดับ EBITDA เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 37.5 จากร้อยละ 35.9 เนื่องจากทรูมูฟสามารถลดค่า IC สุทธิได้จำนวน 435 ล้านบาท และจากการควบคุมค่าใช้จ่ายภายในกลุ่มทรู

สำหรับ ทรูมูฟ รายได้จากการให้บริการ (ไม่รวมค่า IC) เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.4 เทียบกับไตรมาสเดียวกันปีที่ผ่านมา เป็น 5.6 พันล้านบาท ในขณะที่ EBITDA เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 32.9 เป็น 1.57 พันล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลจากรายจ่ายค่า IC สุทธิ และค่าใช้จ่ายลดลง ประกอบกับรายได้ปรับตัวดีขึ้นจากโปรโมชั่นโทรภายในโครงข่ายและจากบริการแบบรายเดือน นอกจากนั้น รายได้จากบริการที่ไม่ใช่เสียง (Non-voice) เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.3 จากไตรมาสเดียวกันในปีที่ผ่านมา เนื่องจากฐานลูกค้าผู้ใช้บริการส่งข้อความ (SMS) เติบโตต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม ยอดผู้ใช้บริการรายใหม่ของทรูมูฟในไตรมาส 2/52 ยังทรงตัว โดยมีผู้ใช้บริการรายใหม่เพิ่มขึ้นประมาณ 243,000 ราย นอกจากนี้ ยอดผู้ใช้บริการแบบรายเดือนยังเติบโตสูงขึ้น ด้วยการดำเนินกลยุทธ์คอนเวอร์เจนซ์ และการจำหน่าย iPhone 3G จะเห็นได้จากผู้ใช้บริการแบบรายเดือนมีจำนวนเพิ่มขึ้นประมาณ 80,000 ราย ทำให้ฐานลูกค้าแบบรายเดือนเติบโตประมาณร้อยละ 50 จากปีที่ผ่านมา โดยมีรายได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.9 จากปีก่อนหน้า เป็น 1.4 พันล้านบาท

ด้านทรูออนไลน์ มีรายได้จากการให้บริการเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.4 จากปีที่ผ่านมา เป็น 6.5 พันล้านบาท ทั้งนี้เนื่องจากแหล่งรายได้ใหม่ๆ เช่น บริการโทรศัพท์ข้ามแดนระหว่างประเทศ (IDD) และธุรกิจ Data Gateway มีพัฒนาการการเติบโตของธุรกิจและมีผลประกอบการที่ดีขึ้น นอกจากนั้น ยังเป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของบริการคอนเวอร์เจนซ์ รวมทั้งรายได้จากบริการบรอดแบนด์ ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.8 จากปีก่อนหน้าเป็น 1.3 พันล้านบาท ทั้งนี้ จำนวนผู้ใช้บริการบรอดแบนด์ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เป็นประมาณ 647,000 ราย ในขณะเดียวกัน แพ็กเกจอินเทอร์เน็ตความเร็ว 8 Mbps ได้รับความนิยมอย่างมาก ทำให้รายได้เฉลี่ยต่อผู้ใช้บริการหนึ่งราย (ARPU) ปรับตัวเพิ่มขึ้น

สำหรับทรูวิชั่นส์ แม้จะมีผลกระทบตามฤดูกาลและผลจากสภาพเศรษฐกิจที่ยังคงชะลอตัว แต่จำนวนสมาชิกของทรูวิชั่นส์ยังคงเพิ่มขึ้นร้อยละ 37 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันในปีที่ผ่านมา เป็น 1.6 ล้านครัวเรือน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลจากกลยุทธ์การขยายบริการสู่ตลาดระดับกลาง-ล่าง ทั้งนี้ ในไตรมาส 2 ทรูวิชั่นส์มีรายได้จากบริการลดลงร้อยละ 3 จากปีที่ผ่านมา เป็น 2.3 พันล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการปรับผังรายการอะคาเดมี แฟนเทเชียไปไว้ในไตรมาส 3 อย่างไรก็ตาม รายได้จากค่าสมาชิกของทรูวิชั่นส์ยังคงเพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.2

นายศุภชัย กล่าวว่า บริษัทยังคงดำเนินนโยบายลดภาระหนี้อย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงครึ่งแรกของปี 2552 บริษัทได้ชำระคืนหนี้จำนวน 3.5 พันล้านบาท ทำให้ปัจจุบันอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อ EBITDA EBITDA เป็น 3.1 เท่า เมื่อเทียบกับ 3.9 เท่าในไตรมาสเดียวกันปีก่อนหน้า

ด้านนายนพปฎล เดชอุดม หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการเงิน TRUE กล่าวว่า ระดับหนี้สินระยะยาวของกลุ่มทรู ลดลงมาอย่างต่อเนื่อง จนขณะนี้อยู่ในระดับต่ำที่สุดนับตั้งแต่วิกฤตเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียปี 2540 แม้ว่าบริษัทจะได้ลงทุนและขยายธุรกิจออกไปในหลายๆ ประเภท อาทิ ธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ ธุรกิจโทรทัศน์ระบบบอกรับเป็นสมาชิก และอื่นๆ ก็ตาม

ในไตรมาสนี้ ทรูยังคงดำเนินนโยบายควบคุมค่าใช้จ่ายอย่างเข้มงวด ยิ่งไปกว่านั้น การซื้อคืนหุ้น BITCO จำนวน 6 พันล้านหุ้นจากเครือเจริญโภคภัณฑ์ เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 3.5 พันล้านบาท ทำให้สัดส่วนการถือหุ้นของทรูในทรูมูฟเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 98.9 ซึ่งจะยิ่งทำให้ทรูสามารถนำเสนอแพ็คเกจคอนเวอร์เจนซ์ต่างๆ ได้อย่างคล่องตัวและหลากหลายยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ การออกหุ้นกู้สกุลเงินบาทครั้งที่ 2 จะช่วยลดภาระการใช้คืนหนี้สินของธุรกิจทรูออนไลน์ โดยการปรับเปลี่ยนจำนวนการชำระหนี้ ให้สอดคล้องกับกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน ซึ่งวิธีการดังกล่าวจะช่วยลดความเสี่ยงด้านการเงินของบริษัทได้อย่างดี



เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ