นายชำนิ จันทร์ฉาย กรรมการ บมจ.อะโกร อินดัสเตรียล แมชชีนเนอรี่(AMAC)เปิดเผยกับ"อินโฟเควสท์"โดยปฏิเสธกระแสข่าวที่จะนำเงินจากการขายหุ้นเพิ่มทุนให้กับกลุ่มผู้ถือหุ้นใหม่ไปซื้อธุรกิจโรงเหล็กนอกตลาดหวังฟันกำไร 100 ล้านบาท และยืนยันว่าไม่ได้ขายหุ้น AMAC ที่ถืออยู่ออกไปแต่อย่างใด
"ไม่จริง ขอปฏิเสธ ไม่จริงเลย เพิ่งตอบตลาดหลักทรัพย์ไป ตอนนี้มีคนโทร.มาที่บริษัทเยอะมาก เงินเพิ่มทุนเอามาใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนล้วนๆ ไม่มีการเอาไปซื้อทรัพย์สินหรือซื้อหุ้นอะไรทั้งสิ้น ซึ่งเป็นข้อตกลงข้อแรกที่สำคัญ ที่ประชุมบอร์ดตกลงกันเช่นนี้"นายชำนิ กล่าว
"ข้อที่ 2 มีกระแสข่าวว่าขายหุ้นในส่วน 75% คนอื่นผมไม่รู้ แต่ผมถือมา 2-3 ปีแล้ว และก็จะถือต่อไป ขอยืนยันว่าไม่ขาย 1 หุ้นก็ไม่ขาย"นายชำนิ กล่าว
วานนี้ AMAC แจ้งว่าที่ประชุมบอร์ดอนุมัติขยายขอบเขตการดำเนินธุรกิจการค้าสินค้าเหล็กและให้เพิ่มทุนจดทะเบียน 336,000,000 หุ้น ขายในราคาหุ้นละ 0.30 บาทให้แก่บุคคลแบบเฉพาะเจาะจง 4 ราย คนละ 84 ล้านหุ้น คือ นายชัชวาลย์ เจียรวนนท์, นายภมรกรณ์ เล็กปรีชากุล, นายรณฤทธิ์ ตั้งคารวคุณ และ นายสถาพร ติยะวัชรพงศ์
นายชำนิ กล่าวถึงสาเหตุที่ตัดสินใจเลือกแนวทางการขายหุ้นเพิ่มทุนให้ PP เพราะหลังจากที่บริษัทพิจารณาแนวทางต่าง ๆ ไม่ว่าจเป็นการกู้เงินจากแบงก์ ก็มีปัญหาเรื่องหลักทรัพย์ค้ำประกันที่ทรัพย์สินยังติดจำนองอยู่ ส่วนการเพิ่มทุนให้กับผู้ถือหุ้นเดิม(PO)ก็ต้องใช้เวลาค่อนข้างนานกว่า เหลือทางเดียวคือการขายหุ้นเพิ่มทุนให้ PP เป็นทางที่เหมาะสมที่สุด
อย่างไรก็ตาม การขายหุ้นเพิ่มทุนให้ PP ก็ต้องไปหาคนที่มีเงินและมีศักยภาพด้านอื่นด้วย ต้องเป็น somebody ด้วย เพราะการเชิญผู้ที่มีศักยภาพเข้ามาถือหุ้น ก็จะช่วยเหลือบริษัทได้เพิ่มขึ้นจากด้านเงินทุน ซึ่งกลุ่มผู้ถือหุ้นใหม่ก็มีคุณสมบัติที่เหมาะสม เนื่องจากมีธุรกิจตัวเอง และไม่ติดใจว่าจะต้องเข้ามาเป็นกรรมการ AMAC หรือไม่
"เราก็แฮบปี้เพราะไม่ได้เปลี่ยนแปลงโครงสร้างการบริหาร เขาเชื่อว่าถ้าลงทุนด้วยจะดีเพราะเป็นธุรกิจเสริม และถ้าหากในอนาคตบริษัททำได้ดีธุรกิจโตขึ้นไป หรือเกิดอาจจะต้องเพิ่มทุน พวกนี้มีเงินแน่ และรู้จักกับคนที่ใช้เหล็กทำโครงการ ก็จะสามารถมาช่วยทางด้าน AMAC ได้ ยืนยัน 4 คนนี้ไม่ได้เป็นนอมินีให้ใคร"นายชำนิ กล่าว
กรรมการ AMC กล่าวอีกว่า สำหรับเงินเพิ่มทุนส่วนหนึ่งจากทั้งหมด 102 ล้านบาทจะนำมาใช้ให้ซัพพลายเครดิตกับลูกค้าเพิ่มเติม เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในตลาด โดยเฉพาะในธุรกิจเครื่องจักรกลยี่ห้อสิงห์คะนองนา และรถไถยี่ห้ออิเสกิ ซึ่งคู่แข่งของบริษัททั้งยันม่าร์ คูโบต้า หรือ ยี่ห้อที่นำเข้าจากประเทศจีน มีการแข่งขันกันลดราคา และให้เครดิตเทอมกับผู้ซื้อค่อนข้างยาว บริษัทจึงจำเป็นต้องมีเงินทุนหมุนเวียนเข้ามาสนับสนุนในจุดนี้เพิ่มมากขึ้นด้วย
"ที่ผ่านมาเราไม่สามารถที่จะลีสซิ่งมารองรับลูกค้าได้ เพราะฉะนั้นการแข่งขันก็สู้เค้าไม่ได้ ก็ฝืนทำมา 2 ปี ก็ประคองไม่ขาดทุนแต่ก็ไม่กำไรเยอะ ก็ทำความอึดอัดให้กับนักลงทุนเยอะ ผมก็อึดอัด"นายชำนิ กล่าว
นอกจากนั้น เงินเพิ่มทุนอีกส่วนหนึ่งจะนำไปเริมทำธุรกิจใหม่ คือ ธุรกิจเทรดดิ้งเหล็ก ในรูปแบบของการซื้อมาขายไป ไม่ได้คิดจะนำไปใช้ซื้อซื้อหุ้นโรงเหล็กหรือบริษัทอื่น ส่วนจะจัดสรรการใช้เงินเพิ่มทุนระหว่างธุรกิจเครื่องจักรกลเกษตรกับเทรดดิ้งเหล็กเท่าไรก็ยังจะต้องพิจารณากันอีกที
"ผมและในคณะกรรมการอยู่ในอุตสาหกรรมเหล็กมาก่อน ดูแล้วผลประกอบการไม่ได้คืบหน้าเท่าที่ควร ก็บอกว่าต้องหาธุรกิจเสริมเข้ามา เพราะผมชำนาญเรื่องเหล็กก็จะเอาเหล็กมาจากโรงงานนี้และมาขายต่อให้ทางนี้ก็ทำได้ แค่เพิ่มบุคลากร 3-4 คนก็ทำได้ แล้วทำตัวเป็นยี่ปั๊ว"นายชำนิ กล่าว
ส่วนปีนี้จะเป็นกำไรได้หรือไม่หลังจากทำธุรกิจเทรดดิ้งเหล็กนั้น นายชำนิ กล่าวว่า ขณะนี้ยังตอบไม่ได้ชัดเจน แต่เชื่อว่าน่าจะต้องดีกว่าเดิม เพราะเป็นแค่การซื้อมาขายไป ซึ่งเราเองก็รู้จริงในธุรกิจมั่นใจว่าทำได้
ทั้งนี้ รายได้ของ AMAC ในปีนี้ หากไม่มีธุรกิจเทรดดิ้งเหล็กเข้ามาเสริม ก็คาดว่ารายได้จะทรงตัวใกล้เคียงกับปีก่อน โดยขณะนี้เท่าที่ผ่านไปแล้วในครึ่งปีแรกมียอดขายกว่า 30 ล้านบาท หากมีธุรกิจเทรดดิ้งเหล็กเข้ามาก็จะดีกว่าเดิมแน่นอน แต่ก็ขึ้นกับเงินเพิ่มทุนจะเข้ามาเร็วแค่ไหน
"ถ้ามี working cap. เข้ามา 100 ล้านบาท น่าจะหมุนได้ 2-3 รอบก่อน หรือประมาณ 200-300 ล้านบาท"นายชำนิ กล่าว
AMAC จะจัดการประชุมผู้ถือหุ้นในวันที่ 18 ก.ย.52 เพื่อให้ผู้ถือหุ้นอนุมัติแผนเพิ่มทุน หลังจากนั้นก็ไม่เกิน 10 วันเงินคาดว่าจะได้รับเงินเพิ่มทุนเข้ามา จากนั้นบริษัทก็ต้องรีบซื้อเหล็กเพื่อนำมาจัดจำหน่ายตามแผนงาน "ราคาหุ้นที่หวือหวา และถ้าหากมีพาดพิงมาที่ผม ระบุว่าชำนิเป็นผู้วางหมาก ผมรับปากว่าผมวางหมากเรื่องของ business plan แต่ไม่ได้วางหมากเรื่องราคาหุ้น ผมไม่ขาย ผมมีอยู่ 25 ล้านหุ้น ไม่ขาย"นายชำนิ กล่าวย้ำ