บมจ. อะโกร อินดัสเตรียล แมชชีนเนอรี่ (AMAC) ชี้แจงเพิ่มเติมเกี่ยวกับการขยายขอบเขตการดำเนินธุรกิจการค้าสินค้าเหล็กทุกชนิด ในลักษณะของการซื้อมาขายไปว่า เป็นธุรกิจที่มีโอกาสการขยายตัวสูงตามการเติบโตของอุตสาหกรรมก่อสร้างและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ
ในขณะที่ธุรกิจเครื่องจักรกลทางการเกษตรในปัจจุบันของบริษัทฯ มีการแข่งขันที่ค่อนข้างรุนแรง ส่งผลให้บริษัทมีผลประกอบการในแต่ละไตรมาสไม่ขยายตัวตามที่คาดการณ์ไว้ คณะกรรมการบริษัทฯ จึงได้พิจารณาแนวทางการสร้างความมั่นคงของบริษัทฯ โดยการขยายขอบเขตการดำเนินธุรกิจ
อย่างไรก็ตาม การดำเนินธุรกิจทั้งสองประเภทข้างต้น มีความจำเป็นต้องใช้เงินทุนหมุนเวียนสูง ซึ่งคณะกรรมการบริษัทฯ ได้พิจารณาว่า ปัจจัยเรื่องเงินทุนหมุนเวียนและเรื่องระยะเวลาการได้รับเงินทุนหมุนเวียนมีผลอย่างมีนัยสำคัญต่อการกระตุ้นการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ ภายใต้สภาวะความผันผวนทางเศรษฐกิจปัจจุบัน โดยบริษัทฯ อยู่ระหว่างการพัฒนาแผนธุรกิจการค้าสินค้าเหล็กทุกชนิดในไตรมาส 3 นี้ และคาดว่าจะสามารถเริ่มธุรกิจเชิงพาณิชย์ได้ในไตรมาส 4 หากการระดมทุนในครั้งนี้เป็นผลสำเร็จ
ทั้งนี้กรรมการบริษัทฯ หลายท่าน ซึ่งประกอบด้วย นายชำนิ จันทร์ฉาย นายวิสูต กัจฉมาภรณ์และนายศิริวัฒน์ อนันต์คูศรี เป็นผู้มีความชำนาญในอุตสาหกรรมเหล็กเป็นอย่างดี ทั้งรู้จักกับเจ้าของผู้ประกอบกิจการผลิตเหล็กโดยตรง ตัวแทนจำหน่าย ตลอดจนผู้ใช้สินค้าเหล็กทั่วไป
สำหรับเหตุผลที่คณะกรรมการบริษัทฯ ทำการเพิ่มทุนแบบ Private Placement ให้กับบุคคล 4 ราย แทนที่จะเพิ่มทุนให้กับผู้ถือหุ้นเดิมหรือประชาชนทั่วไป เนื่องจากคณะกรรมการบริษัทฯ ได้พิจารณาถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการระดมทุนเพื่อแก้ปัญหาสภาพคล่องของกิจการและรองรับการขยายขอบเขตการดำเนินธุรกิจค้าสินค้าเหล็ก เพื่อสร้างความมั่นคงทางผลประกอบการให้แก่บริษัทฯ คณะกรรมการจึงมีความเห็นว่า วิธีการระดมทุนโดยการจัดสรรแก่บุคคลแบบเฉพาะเจาะจง เป็นวิธีการที่เหมาะสมต่อสภาพปัจจุบันของบริษัทฯ เนื่องจากการระดมเพิ่มทุนด้วยวิธีการจัดสรรแก่บุคคลแบบเฉพาะเจาะจง สามารถดำเนินการได้ในระยะเวลาอันรวดเร็ว รวมถึงบริษัทฯ สามารถได้รับประโยชน์จากเงินทุนที่ได้รับ และศักยภาพส่วนบุคคลของผู้ที่ได้รับการจัดสรรหุ้นในการดำเนินธุรกิจในอนาคต
ขณะที่การระดมทุนโดยจัดสรรแก่ผู้ถือหุ้นเดิม จะเป็นการสร้างภาระแก่ผู้ถือหุ้นและอาจจะไม่ได้รับการตอบรับภายใต้ผลประกอบการปัจจุบัน รวมถึงผลจากปัจจัยทางเศรษฐกิจและสภาวะของตลาดหลักทรัพย์ ส่วนการระดมทุนจากประชาชนทั่วไป จะมีขั้นตอนการดำเนินการและใช้ระยะเวลาที่มากกว่า อาจทำให้บริษัทฯ มีความเสี่ยงที่จะไม่สามารถเพิ่มทุนได้ตามเป้าหมายที่วางไว้
ด้านการหาแหล่งเงินทุนจากสถาบันการเงิน ปัจจุบันบริษัทฯ มีข้อจำกัดในเรื่องการจัดหาสินทรัพย์เพื่อใช้เป็นหลักประกันวงเงินสินเชื่อเพิ่มเติม
นอกจากบริษัทฯ จะได้รับเงินเพิ่มทุนแล้ว บริษัทฯ ยังมีโอกาสได้รับการสนับสนุนและส่งเสริมช่องทางในการดำเนินธุรกิจในอนาคตจากศักยภาพส่วนบุคคลในแต่ละท่าน ดังนี้ นายชัชวาลย์ เจียรวนนท์ ประกอบธุรกิจการเงิน การลงทุน ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานกรรมการและประธานกรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน) นายภมรกรณ์ เล็กปรีชากุล ประกอบธุรกิจอุตสาหกรรมเคมี พลาสติก บริษัท ช. เคมีไทย จำกัด นายรณฤทธิ์ ตั้งคารวคุณ ประกอบธุรกิจสีอุตสาหกรรมและสีทาบ้าน ตราสีเดลต้า นายสถาพร ติยะวัชรพงศ์ ประกอบธุรกิจผลิตรถจักรยานส่งออก บริษัท แอล เอ ไบซิเคิ้ล จำกัด
ส่วนวัตถุประสงค์ที่เสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ในราคาต่ำคณะกรรมการบริษัทฯ ได้พิจารณากรอบราคาเสนอขายหุ้นที่เหมาะสมนั้น คณะกรรมการบริษัทฯ ได้พิจารณาว่า ราคาซื้อขายในตลาดฯ ช่วงที่ผ่านมาอยู่ระหว่าง 0.35-0.37 บาทต่อหุ้น และปริมาณการซื้อขายอยู่ในเกณฑ์ต่ำ ดังนั้นราคาที่ได้เจรจากับนักลงทุนเป้าหมายจนได้ข้อสรุปเป็นราคา 0.30 บาทต่อหุ้น ซึ่งเป็นราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาด และเห็นว่าเงินที่ได้รับจากการเพิ่มทุนในครั้งนี้จะเป็นการสร้างโอกาสในการเพิ่มมูลค่าแก่ส่วนของผู้ถือหุ้น เนื่องจากบริษัทจะได้มีเงินทุนสำหรับประกอบกิจการ และสามารถสร้างผลกำไรให้แก่บริษัท และบริษัทฯ จะมีสภาพคล่องทางการเงินที่ดีขึ้นรวมทั้งเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยอีกด้วย
การเพิ่มทุนครั้งนี้ ผู้ได้รับการจัดสรรอาจจะเสนอบุคคลเข้าเป็นกรรมการรวมกันสูงสุดไม่เกิน 4 ท่าน จากจำนวนคณะกรรมการทั้งหมดคงเดิม 12 ท่าน ทั้งนี้ ทีมบริหารหลักยังคงอยู่ ซึ่งประกอบด้วย นายสุทธิศักดิ์ โล่ห์สวัสดิ์ นายชำนิ จันทร์ฉาย นายวิสูต กัจฉมาภรณ์และนายศิริวัฒน์ อนันต์คูศรี จึงไม่ส่งผลกระทบต่อโครงสร้างการบริหารอย่างมีนัยสำคัญ