ม.ล.ทองมกุฎ ทองใหญ่ กรรมการผู้จัดการ บล.ซิตี้คอร์ป(ประเทศไทย)จำกัด ในฐานะนายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ต่างประเทศ กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"ว่า ตลาดหุ้นไทยในปัจจุบันยังไม่มีความพร้อมที่จะเปิดเสรีธุรกิจหลักทรัพย์ เพราะตลาดยังแคบอยู่ ควรจะเร่งการพัฒนาทั้งสินค้าและผู้เล่นให้เหมาะสมก่อน ขณะที่การใช้ค่าคอมมิชชั่นแบบขั้นบันไดจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อคุณภาพของโบรกเกอร์
"ตลาดบ้านเรายังค่อนข้างแคบ product offering ยังไม่มากพอ และฐานลูกค้า retial ยังไม่กว้างพอ ยังไม่ลึกพอ ถ้าเทียบกับเกาหลี ที่มี product เยอะมาก มี option มี future ซึ่งเราก็มี แต่ยังไม่เติบโต ขนาดแม่บ้านเกาหลียังเล่น future, derivative, stock ทุกอย่าง"ม.ล.ทองมกุฎ กล่าว
ก้าวแรกของการเปิดเสรี คือการคิดค่าคอมมิชชั่นแบบขั้นบันได ล่าสุดนายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ระบุว่าสมาคมฯเตรียมเสนอปรับปรุงเกณฑ์เป็น หากมูลค่าซื้อขายต่ำกว่า 5 ล้านบาท คิดค่าคอมฯ 0.25%, มูลค่าซื้อขายตั้งแต่ 5-20 ล้านบาท คิดที่ 0.22%, มูลค่าซื้อขาย 20-100 ล้านบาท คิดที่ 0.18% และ มูลค่าซื้อขายมากกว่า 100 ล้านบาทขึ้นไป จะให้สามารถต่อรองอัตราค่าคอมฯ โดยเสรี
จากก่อนหน้านี้ ก.ล.ต.กำหนดหลักเกณฑ์ค่าคอมมิชชั่นแบบขั้นบันไดในเบื้องต้นว่า หากต่ำกว่า 1 ล้านบาท คิดที่ 0.25% ตั้งแต่ 1-10 ล้านบาท คิดที่ 0.22% ตั้งแต่ 10-20 ล้านบาท คิดที่ 0.18% และตั้งแต่ 20 ล้านบาทขึ้นไป ต่อรองโดยเสรี
*คิดอย่างไรกับเกณฑ์การเก็บค่าคอมมิชชั่นแบบขั้นบันไดแบบใหม่
"การเก็บค่าคอมมิชชั่นจากลูกค้า โดยตั้งเกณฑ์ไว้ที่จำนวนเงินที่ซื้อขายต่อวันที่สามารถต่อรองค่าคอมมิชชั่นได้ไว้ที่ 20 ล้านบาท เราคิดว่ามันไม่พอ ซึ่งคิดสำหรับนักลงทุนสถาบันแล้วไม่มีปัญหาเลย เราทำได้ 100 กว่าล้านบาทต่อวัน ทำได้ทุกวันอยู่แล้ว แต่ถ้าค่าคอมฯลด ก็อาจจะทำให้คุณภาพของงานวิจัย และคุณภาพของการบริการ มันจะไหลไปด้วย
จริง ๆ แล้ว ความคิดแรกก็คือ มันไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อโบรกฯฝรั่ง เพราะฐานลูกค้าของเราจ่ายค่าคอมฯมากกว่า 0.25% อยู่แล้ว อย่างเช่นเกาหลี ค่าคอมฯอยู่เฉลี่ยที่ 0.30-0.35% อยู่แล้ว เมืองไทยก็เหมือนกัน ฐานลูกค้าของเราก็จ่ายมากกว่าอยู่แล้ว
แต่กลัวว่าการแข่งขันของ Local Broker จะมี offer จากสถาบันด้วยที่จ่ายค่าคอมมิชชั่นถูกมาก ซึ่งถ้ามาลดค่าคอมฯตรงนี้แล้วใครจะมาลงทุนงานวิจัยและพัฒนางานให้ดีขึ้น อย่างคราวที่แล้วเมื่อปี 2001 จะเปิดเสรีลดค่าคอมฯเป็นศูนย์เลย คำถามผมคือว่าอย่างนี้ใครจะมาลงทุนงานวิจัยดี ๆ และทำอะไรเพื่อพัฒนาให้ดีขึ้น มันไม่คุ้ม
สิ่งที่ไม่รู้คือสถาบันไทยคิดอย่างไร มองกันอย่างไร ผมจึงคิดว่าควรจะคุยกันเป็น Industry ในการหาว่าระดับไหนที่จะเหมาะ ไม่ใช่โบรกฯ ไทยถูกกว่าก็ได้มากกว่า อย่างนี้มันทำให้คุณภาพงานวิจัยและคุณภาพบริการตกไปด้วย ซึ่งมันก็ไม่ดีสำหรับ Industry ที่มีผู้ลงทุนผ่านกองทุน จริงไหมครับ ผมคิดว่าน่าจะดูว่าระดับไหนที่น่าจะเหมาะ ต่ำไปก็ไม่คุ้มค่า cost ของโบรกฯที่จะลงทุนให้คุณภาพงานวิจัยดี"
*คิดว่าค่าคอมฯระดับไหนถึงจะเหมาะสม
"อย่างค่าคอมฯที่ต่างประเทศจะมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 0.30-0.35% เมืองไทย 0.25% อยู่แล้ว อย่างไปเทรดที่ฮ่องกง, เกาหลีก็จะใช้ค่าคอมฯ 0.30-0.35%
ไม่มีใครใช้ค่าคอมฯ 0.10-0.15% หรอก อาจจะมีก็แบบ Special trade อาจจะมีลดค่าคอมฯ แล้วแต่โบรกฯจะตกลงกับลูกค้า ถ้าคุณลดค่าคอมฯมากอย่างนี้ จะมีเงินที่ไหนไปลงทุน ถ้าอยากจะให้คนไทยลงทุนตาม Fundamental ก็จะต้องมีงานวิจัยดี ๆ ออกมา Support"
*หากเปิดเสรีค่าคอมฯแล้วจะถึงกับทำให้โบรกฯต่างชาติต้องปิดสาขาลงหรือไม่
"ก็ต้องดูว่ามันขนาดไหน ถ้ามองดูค่าคอมฯลดจริง ๆ ทุกคนลด มันอาจจะดีกว่าที่จะไม่อยู่เมืองไทย ไม่ลงทุนเมืองไทยดีกว่า แต่ตอนนี้ผมคิดว่าไม่ถึงจุดนั้นนะ ผมคิดว่า Local Broker คงมีปัญหาเยอะ อย่างงบฯไตรมาส 1/52 ก็เห็นขาดทุนกันเยอะมากเลย ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะตลาดฯมันตก
เกณฑ์ที่ตั้งมาที่ระดับจำนวนเงินที่ซื้อขายต่อวัน 20 ล้านบาท ผมว่ามันต่ำไป มันก็เหมือนกับเปิดเสรีเป็นศูนย์ โบรกฯต่างชาติได้เสนอไปที่ 0.25% เมื่อจำนวนเงินที่ซื้อขายต่อวันอยู่ที่ 300 ล้านบาทขึ้นไป ซึ่งที่จริง 0.25% มันก็ต่ำ เพราะต่างประเทศยังเทรดด้วยค่าคอมฯที่ 0.30-0.35% เลย ยกเว้นแต่มี Special trade อาจจะมี Special rate ก็เป็นไปได้
ที่จริงตลาดหลักทรัพย์ฯ ควรสร้างฐานลูกค้าให้ดีก่อนในจุด trade มากกว่า ซึ่งที่ผ่านมาตลาดหลักทรัพย์ก็ทำไว้ดีมาก เริ่มเห็น Derivative ก็มาแล้ว แต่ก็ต้องพัฒนาให้มากกว่านี้หน่อย สังเกตุว่า retial เป็นกลุ่ม ๆ ปั่นเยอะ เสียหายเยอะ มี insider ก็ยังไม่ค่อยเข้มงวด
ตลาดไทยต้องใช้เวลาก่อน เพราะฐานลูกค้ามันแคบ แต่มันดีขึ้นทุกปี ตลาดฯมีการเพิ่ม product เพิ่มหลายอย่างเพื่อพัฒนาให้ดี แต่มันยังไม่พัฒนาเหมือนตลาดอื่น"