น.ส.ทมยันตี คงพูลศิลป์ ผู้จัดการอาวุโส ฝ่ายลงทุนสัมพันธ์ บมจ.ชิน คอร์ปอเรชั่น(SHIN) เปิดเผยว่า แม้ว่าบริษัทจะมีปัญหาฟรีโฟลตอยู่ในระดับต่ำกว่ากฎเกณฑ์ที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.)ที่กำหนดให้ต้องมีฟรีโฟลตไม่น้อยกว่า 15% โดยขณะนี้บริษัทมีฟรีโฟลตเพียง 3% แต่บริษัทยังยืนยันว่าผู้ถือหุ้นใหญ่ไม่มีแนวคิดที่จะเพิกถอนหุ้น SHIN ออกจากตลาดหลักทรัพย์ และยังพยายามที่จะแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น
อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าหุ้น SHIN เป็นหุ้นที่ที่นักลงทุนถือไว้เพื่อรอรับการจ่ายปันผล ทำให้ปริมาณการซื้อขายในตลาดอยู่ในระดับต่ำ แต่ผู้ถือหุ้นใหญ่ก็มีแนวคิดที่แก้ปัญหาฟรีโฟลตต่ำ แต่ ณ ตอนนี้ เวลาและจังหวะไม่เหมาะสมกับการที่จะเพิ่มฟรีโฟลต จึงต้องรอเวลาที่เหมาะสมต่อไป
น.ส.ทมยันตี กล่าวว่า บริษัทยังคงรับรู้รายได้จากบมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส(ADVANC) และ บมจ.ไทยคม (THCOM) และ ยังรับรู้รายได้จากบมจ.ซีเอส ล็อกซอินโฟ (CSL) ที่ถือหุ้นใหญ่โดย THCOM ซึ่งถือว่าเป็นบริษัทที่ยังคงมีอัตราการเติบโต โดยเฉพาะการให้บริการอินเตอร์เน็ตบรอดแบนด์ในกลุ่มลูกค้าด้านอสังหาริมทรัพย์
นอกจากนั้น บริษัทยังรับรู้รายได้จากธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคมในต่างประเทศต่างประเทศ อย่าง เอ็มโฟน โดยขณะนี้ให้บริการในประเทศกัมพูชา ซึ่งครองส่วนแบ่งการตลาดเป็นอันดับ 2 ที่ 27% มีลูกค้ากว่า 9 แสนราย และมีแผนจะขยายลูกค้าเพิ่มเติม เนื่องจากอัตราการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ในกัมพูชายังอยู่ในระดับต่ำ ประมาณ 25% ร
รวมถึงการบริหารงานในลาวเทเลคอม ซึ่งมีส่วนแบ่งการตลาดเป็นอันดับ 1 ที่ 60% มีลูกค้ามากกว่า 1 ล้านรายและมีแผนที่จะเพิ่มลูกค้าในส่วนของโทรศัพท์พื้นฐาน และอินเตอร์เน็ต และการโทรระหว่างประเทศ "ทาง SHIN ยังคงมองโอกาสการเติบโตของธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ โดยจะเน้นในธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคมและมีเดีย ที่เรามีความรู้ความสามารถและเคยทำมาในอดีต"น.ส.ทมยันตี กล่าว
น.ส.ทมยันตี กล่าวว่า บริษัทยังมีการเติบโตในธุรกิจจานดาวเทียม DTV ซึ่งปัจจุบันมีลูกค้ามากกว่า 4.4 แสนครอบครัว และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง เนื่องจากบริษัทเน้นการพัฒนา Content เพิ่มเติม โดยจะหาพันธมิตรอย่าง แกรมมี่ และ กันตนา มาให้บริการ Content ที่หลากหลายเพิ่มขึ้น
และ บริษัทยังมีการรับรู้รายได้จากธุรกิจมีเดีย โดยในปัจจุบันแม้ว่าไอทีวีจะปิดกิกจารไป แต่ยังมีรายได้จาก บริษัท แมทช์บอกซ์ จำกัด (Matchbox) ซึ่งเป็นบริษัทโฆษณา
สำหรับปัญหาโครงสร้างผู้ถือหุ้นที่มองว่าผิดพ.ร.บ.การถือครองหลักทรัพย์ของต่างชาติ ทางบริษัท ยืนยันว่า ปัจจุบันหุ้น SHIN ถือหุ้นใหญ่โดยคนไทย 56.59% และไม่มีความผิดตามกฎหมายอย่างที่กังวลว่าจะมีปัญหาในอนาคต