ทริสจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่มีประกันชุดใหม่ BECL ที่ “A-"

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday August 26, 2009 09:47 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศผลการจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่มีประกันชุดใหม่ในวงเงินไม่เกิน 1,000 ล้านบาทของ บริษัท ทางด่วนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BECL) ที่ระดับ “A-" ในขณะเดียวกันยังประกาศยืนยันผลอันดับเครดิตองค์กรของ BECL ที่ระดับ “A" และยืนยันอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่มีประกันชุดเดิมของบริษัทที่ระดับ “A-" ด้วยแนวโน้ม “Stable" หรือ “คงที่" โดยอันดับเครดิตสะท้อนปริมาณการจราจรบนทางด่วนที่สม่ำเสมอ รวมทั้งกระแสเงินสดที่แน่นอน ประโยชน์จากการเป็นทางด่วนเพียงระบบเดียวที่เชื่อมต่อกับระบบทางด่วนขั้นที่ 1 หรือทางพิเศษเฉลิมมหานคร และการมีคณะผู้บริหารที่มีผลงานเป็นที่ยอมรับ อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากจำนวนหนี้สินที่อยู่ในระดับสูง ความไม่แน่นอนของนโยบายภาครัฐด้านระบบการขนส่งในอนาคต และการแทรกแซงของรัฐในการปรับอัตราค่าผ่านทางด่วน ทั้งนี้ บริษัทจะนำเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ชุดใหม่ไปใช้เป็นเงินสำรองเพื่อชำระคืนหนี้หุ้นกู้ที่จะครบกำหนดไถ่ถอนในเดือนสิงหาคม 2553

แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนถึงการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าปริมาณการจราจรบนทางด่วนจะยังคงอยู่ในระดับสูงซึ่งจะทำให้บริษัทมีกระแสเงินสดที่เพียงพอสำหรับการชำระหนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดว่าบริษัทจะยังคงรักษามาตรฐานในการให้บริการและดูแลรักษาพื้นผิวการจราจรบนทางด่วนให้อยู่ในสภาพดีเพื่อรักษาปริมาณการจราจรให้อยู่ในระดับที่สูงต่อไป ทริสเรทติ้งรายงานว่า บริษัททางด่วนกรุงเทพจัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินการก่อสร้างและบริหารโครงการทางด่วนขั้นที่ 2 (โครงการทางพิเศษศรีรัช) และส่วนต่อขยายต่างๆ โดยได้รับสัมปทานในระบบ Build-Transfer-Operate (BTO) ระยะเวลา 30 ปีจากการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) โดยทางพิเศษศรีรัชเป็นทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร ระยะทางทั้งสิ้นประมาณ 38.5 กิโลเมตร และแบ่งออกเป็น 4 ส่วน ซึ่งเชื่อมต่อกับทางพิเศษเฉลิมมหานครที่ก่อสร้างและบริหารโครงการโดย กทพ. โครงการดังกล่าวก่อให้เกิดเส้นทางเชื่อมต่อจากศูนย์กลางของกรุงเทพฯ ไปยังทิศเหนือ ตะวันออก ตะวันออกเฉียงเหนือ และตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้เกิดโครงข่ายถนนที่ครอบคลุมพื้นที่ในเขตกรุงเทพฯ เพื่อเป็นทางเลือกในการเดินทางของประชาชนเมื่อการจราจรบนถนนปกติในใจกลางกรุงเทพฯ และชานเมืองมีปัญหาติดขัด นอกจากนี้ บริษัทยังได้จัดตั้งบริษัทย่อยคือ บริษัท ทางด่วนกรุงเทพเหนือ จำกัด (NECL) เพื่อให้เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างและบริหารโครงการทางพิเศษอุดรรัถยา (ทางด่วนสายบางปะอิน-ปากเกร็ด) หรือทางด่วนส่วน C+ ซึ่งมีระยะทางรวม 32 กิโลเมตร ภายใต้สัญญาสัมปทานแบบ BTO ระยะเวลา 30 ปีจาก กทพ. ปัจจุบันบริษัทถือหุ้นใน NECL ในสัดส่วน 53.33% ของทุนจดทะเบียนของ NECL

ทริสเรทติ้งกล่าวว่า ปัจจัยที่มีความสำคัญต่อผลประกอบการของบริษัทได้แก่ปริมาณการจราจรบนทางด่วน อัตราค่าผ่านทาง และต้นทุนในการดำเนินงาน ปริมาณการจราจรบนทางด่วนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา แต่ก็เริ่มปรับลดลงในปี 2551 เนื่องจากผลกระทบของการเปิดใช้ถนนวงแหวนใต้โดยไม่เก็บค่าผ่านทาง รวมทั้งจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก และภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว อย่างไรก็ตาม หลังจากถนนวงแหวนใต้เริ่มเก็บค่าผ่านทางในเดือนมีนาคม 2552 ปริมาณจราจรในส่วนของทางด่วนขั้นที่ 1 และทางด่วนส่วน D ก็เริ่มปรับตัวดีขึ้น นอกจากนี้ ปริมาณจราจรบนทางด่วนส่วน C ก็ปรับตัวดีขึ้นเช่นเดียวกันจากการเปิดใช้ศูนย์ราชการที่ถนนแจ้งวัฒนะ ทริสเรทติ้งคาดว่าในระยะปานกลางและระยะยาวปริมาณจราจรบนทางด่วนจะยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการขยายตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศ รวมทั้งการเพิ่มขึ้นของที่อยู่อาศัยในเขตปริมณฑล และการจราจรที่ติดขัดบนถนนปกติ ทั้งนี้ คาดว่าผลประกอบการของบริษัทจะยังคงแข็งแกร่งจากปริมาณการจราจรบนทางด่วนที่สม่ำเสมอ การปรับอัตราค่าผ่านทาง และความสามารถของคณะผู้บริหารในการควบคุมต้นทุนการดำเนินงาน

ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2552 อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญของบริษัทปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนและเมื่อสิ้นปี 2551 โดยรายได้ค่าผ่านทางเพิ่มขึ้น 9.28% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนมาอยู่ที่ 3,710 ล้านบาท เงินทุนจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้นเป็น 2,368 ล้านบาท เทียบกับ 1,927 ล้านบาทในช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งเป็นผลมาจากการปรับเพิ่มขึ้นของอัตราค่าผ่านทางในส่วนของระบบทางด่วนขั้นที่ 1 และขั้นที่ 2 ในเดือนกันยายน และของทางด่วนส่วน C+ ในเดือนพฤศจิกายน 2551 เป็นสำคัญ อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานของบริษัทเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 86.2% เทียบกับ 83.8% ในช่วง 6 เดือนแรกและทั้งปีของปี 2551 ทั้งนี้ เป็นผลมาจากการที่ค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมทางด่วนในช่วงครึ่งแรกของปี 2552 ลดลงจากการปรับเลื่อนแผนการซ่อมแซมทางด่วนออกไปอยู่

ในช่วงครึ่งหลังของปี ณ เดือนมิถุนายน 2552 ภาระหนี้ของบริษัทมีอยู่ทั้งสิ้น 23,237 ล้านบาท ลดลง 2,338 ล้านบาท จาก 25,575 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2551 การมีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่สูงขึ้นจากการปรับเพิ่มค่าทางด่วน ตลอดจนการมีภาระหนี้ที่ลดลงจากการทยอยชำระหนี้เงินกู้ และการลดลงของค่าใช้จ่ายทางการเงินทำให้โครงสร้างเงินทุนและความสามารถในการชำระหนี้ของบริษัทมีความแข็งแกร่งยิ่งขึ้น อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ 57.9% ในเดือนมิถุนายน 2552 จาก 61.33% ณ สิ้นปี 2551 อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายแข็งแกร่งขึ้น โดยอยู่ที่ 5.75 เท่าในช่วงครึ่งแรกของปี 2552 จาก 4.53 เท่าในปี 2551 ณ เดือนมิถุนายน 2552 อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมอยู่ที่ 10.19% (ยังไม่ได้ปรับเป็นตัวเลขเต็มปี) เทียบกับ 7.59% ในช่วงเดียวกันของปีก่อน แม้ว่าภาระหนี้ของบริษัทจะอยู่ในระดับค่อนข้างสูง แต่สถานะสภาพคล่องของบริษัทก็อยู่ในระดับที่แข็งแกร่งจากการมีกระแสเงินสดที่ค่อนข้างแน่นอนจากปริมาณการจราจรบนทางด่วนที่สม่ำเสมอ ตลอดจนการมีภาระทางการเงินที่คาดการณ์ได้ และการสนับสนุนที่ดีจากสถาบันการเงินหลายแห่ง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ