(เพิ่มเติม) รฟม.คาดเปิดประมูลส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินในเดือน พ.ย.

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday August 27, 2009 10:17 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม อธิบดีกรมทางหลวง ในฐานะประธานกรรมการ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) คาดว่าส่วนต่อขยายสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางแค และบางซื่อ-ท่าพระ ระยะทางรวม 27 กม.จะเปิดประมูลได้ภายในเดือนพ.ย. หลังจากมีการทบทวนมูลค่าโครงการอีกครั้งหนึ่ง ก่อนเข้าครม.พิจารณาอนุมัติในราวปลายต.ค. โดยจะใช้เงินกู้ในประเทศ

"เราจะ revise แบบ และราคากลางใหม่ทุกรายการ จากนั้นให้ครม.อนุมัติวงเงินก่อสร้าง น่าจะเข้าได้ปลายตุลาคม คิดว่าจะดำเนินการประกวดราคาได้ภายใน เดือนพฤศจิกายน" นายสุพจน์กล่าว

ทั้งนี้ โครงการส่วนต่อขยายสายสีน้ำเงิน มีมูลค่าโครงการ 4.8-4.9 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นราคาที่คำนวณไว้เมื่อปี 50

ประธานกรรมการ รฟม. กล่าวว่า การเปิดประมูลดังกล่าวจะทำเหมือนสายสีม่วง ที่จะให้เอกชนยื่นประกวดราคาทั้ง 3 ซอง ได้แก่ ซองคุณสมบัติ ซองทางด้านเทคนิค และ ซองราคา

ส่วนโครงกานส่วนต่อขยายสายสีเขียว ช่วงหมอชิต — สะพานใหม่ , ช่วงแบร์ริ่ง — สมุทรปราการ คาดว่าจะใช้เงินกู้จากธนาคารโลก ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) และ ธนาคารเพื่อความร่วมมือแห่งประเทศญี่ปุ่น (ไจก้า) วงเงินรวม 7 หมื่นล้านบาท ซึ่งหากได้เงินแล้ว การประกวดราคาก็เป็นไปตามเงื่อนไขของไทย ไม่จำเป็นต้องส่งให้เจ้าของเงินกู้อนุมัติเหมือนสายสีม่วง ซึ่งก็จะทำให้การดำเนินการทำได้รวดเร็ว

นายสุพจน์ คาดว่า โครงการสายสีเขียวทั้งสองส่วนจะเปิดประกวดราคาได้ไม่เกินปี 54 โดยจะมีการปรับปรุงแบบจากเดิมที่เคยทำไว้ก่อนหน้านี้ โดยก่อนจะเริ่มประกวดราคาคาดว่าจะมีการเจรจาต่อรองกับ บมจ.ระบบขนส่งมวลชน (BTS) ในการเดินรถสายสีเขียวส่วนต่อขยาย หากเจรจาไม่ได้ ก็ต้องออกแบบใหม่ โดยให้ผู้โดยสารไปเปลี่ยนเส้นทางที่สถานีพหลโยธิน

"เรื่องงานก่อสร้างได้ตกลงแล้วให้ทาง รฟม.เป็นคนทำ และคนเดินรถก็เป็นของกทม. ซึ่งก็น่าจะเป็น BTS เข้าไปเดินรถ แต่ก่อนไปเปิดประมูลเราต้งอเจรจากับทาง BTS ก่อน ถ้าตกลงกันได้ก็เชื่อมต่อหมอชิดเลย แต่ถ้าไม่ได้ก็ต้องเปลี่ยนรถที่สถานีพหลโยธิย" นายสุพจน์ กล่าว

ด้านนายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กล่าวว่า แหล่งเงินที่จะใช้ลงทุนในโครงการส่วนต่อขยายสายสีน้ำเงินนั้น เบื้องต้นจะกู้เงินจากธนาคารพาณิชย์ในประเทศ โดยจะทยอยกู้เงินปีละ 1 หมื่นล้านบาท และหลังจากนั้น จะออกพันธบัตร รฟม. โดยมีกระทรวงการคลังค้ำประกัน อายุ 10 ปีขึ้นไป หรืออายุ 30 ปี เพื่อรีไฟแนนซ์หนี้ให้มีระยะเวลานานขึ้น โดยจะออกพันธบัตรครั้งละ 1 หมื่นล้านบาท หรืออาจจะใช้เงินกู้ อายุ 18 เดือน ซึ่งขณะนี้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ระยะสั้นต่ำมาก หรือประมาณกว่า 1% และก็จะออกพันธบัตรรีไฟแนนซ์เปลี่ยนอายุหนี้เช่นกัน

"ขอรอดูตารางการใช้เงิน จึงจะสรุปรูปแบบการหาเงิน กระทรวงการคลังเตรียมพร้อมไว้แล้ว " นายพงษ์ภาณุ กล่าว

สำหรับส่วนต่อขยายสายสีเขียว คาดว่าจะเป็นเงินกู้ของธนาคารโลก ADB และ ไจก้า ซึ่งก่อนหน้านี้ไทยได้ขอชะลอไปก่อน แต่คาดว่าจะเบิกใช้ในช่วงเดือนมี.ค.-เม.ย.ปี 53



เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ