นายวีระพันธุ์ ทีปสุวรรณ ประธานกรรมการ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) เปิดเผยว่า ธนาคารได้ลงนามกับ บริษัทจีอี แคปปิตอล ในสัญญาขายหุ้นในธุรกิจการเงินเพื่อรายย่อยของจีอี มันนี่ในประเทศไทยให้กับธนาคาร ตามที่ธนาคารได้รับความเห็นชอบจากผู้ถือหุ้น และอยู่ระหว่างดำเนินการตามข้อกำหนดต่าง ๆ รวมถึงการขออนุมัติจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
ทั้งนี้ การซื้อกิจการครั้งนี้จะมีมูลค่าประมาณ 13,789 ล้านบาท หรือ ประมาณ 405.4 ล้านดอลลาร์ โดยราคาดังกล่าวอาจจะมีการปรับเปลี่ยนในขั้นสุดท้าย และคาดว่าการซื้อกิจการดังกล่าวจะเสร็จสมบูรณ์ในไตรมาส 4/52
"ข้อตกลงครั้งนี้ถือเป็นอีกก้าวหนึ่งที่สำคัญในการเป็นพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ระหว่างธนาคาร กับจีอี แคปปิตอล และสร้างความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นอีกด้วย และมั่นใจว่าการซื้อธุรกิจของจีอี มันนี่ ประเทศไทยในครั้งนี้ รวมถึงการซื้อกิจการอื่นๆ ก่อนหน้านี้ จะช่วยขยายฐานธุรกิจลูกค้ารายย่อย เพื่อให้ธนาคารให้เติบโตในระยะต่อไป " นายวีระพันธุ์ กล่าว
นายดมิทรี สต็อคตัน กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร จีอี แคปปิตอล โกลบอล แบงกิ้ง กล่าวว่า การรวมธุรกิจของบริษัท เป็นส่วนหนึ่งของ BAY และการกำหนดกลยุทธ์หลักและวิสัยทัศน์ที่เป็นเอกภาพสำหรับธุรกิจในประเทศไทย จะช่วยผลักดันให้ธุรกิจและบุคลากรมีโอกาสดีที่สุดที่จะประสบความสำเร็จในระยะยาว ภายใต้ความร่วมมือที่คงให้ความสำคัญกับการสร้างฐานธุรกิจธนาคารเพื่อผู้บริโภครายย่อยในประเทศไทยผ่านธนาคาร เพื่อที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผู้ถือหุ้นของเรา พร้อมกับเพิ่มความ ยืดหยุ่น คล่องตัว และทางเลือกใหม่ๆ แก่ลูกค้า
สำหรับการขายธุรกิจของจีอี มันนี่ ในประเทศไทยให้ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ประกอบด้วยธุรกิจหลักของจีอี มันนี่ อันได้แก่ ธุรกิจบัตรเครดิต ธุรกิจสินเชื่อเพื่อการซื้อสินค้าแบบผ่อนชำระ และสินเชื่อส่วนบุคคล ตลอดจนกิจการ ร่วมทุนในธุรกิจบัตรเครดิต ได้แก่ บริษัท บัตรกรุงศรีอยุธยา จำกัด บริษัท เทสโก้ คาร์ด เซอร์วิสเซส จำกัด และ บริษัท เจอเนอรัล คาร์ด เซอร์วิสเซส จำกัด
ซึ่งจะช่วยขยายธุรกิจเพื่อผู้บริโภครายย่อยของ BAY ให้มีความหลากหลายยิ่งขึ้น และด้วยจำนวนฐานลูกค้าของจีอี มันนี่ ประเทศไทยจำนวน 4 ล้านราย พนักงานประมาณ 2,400 คน และเครือข่ายสาขาบัตรเฟิร์สช้อยส์ 27 แห่ง เมื่อผนวกเข้ากับเครือข่ายสาขาของธนาคาร ที่ครอบคลุมทั่วประเทศแล้ว จะช่วยเพิ่มทางเลือกแก่ลูกค้าทั้งด้านบริการและผลิตภัณฑ์ทาง การเงินที่หลากหลายมากขึ้น