บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศผลอันดับเครดิตหุ้นกู้มีประกันชุดใหม่ในวงเงินไม่เกิน 1,000 ล้านบาทของ บมจ. ศุภาลัย (SPALI) ที่ระดับ “A-" ในขณะเดียวกันก็ประกาศคงอันดับเครดิตองค์กรของบริษัทศุภาลัยที่ระดับ “BBB+" ด้วยแนวโน้ม “Stable" หรือ “คงที่"
โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงผลงานที่ยาวนานในตลาดพัฒนาที่อยู่อาศัย แบรนด์สินค้าที่ได้รับการยอมรับในโครงการบ้านจัดสรรและคอนโดมิเนียม ความสามารถในการควบคุมต้นทุนการดำเนินงาน และฐานะทางการเงินที่มั่นคงแม้ในช่วงภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว อย่างไรก็ตาม ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ถูกลดทอนบางส่วนจากภาวะธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่ถดถอยและมีธรรมชาติที่ผันผวน ในขณะที่อันดับเครดิตของหุ้นกู้นั้นยังได้รับการปรับเพิ่มขึ้น 1 ขั้นด้วยมูลค่าของอาคารสำนักงานให้เช่า “ศุภาลัย แกรนด์ ทาวเวอร์" ซึ่งใช้เป็นหลักประกันที่ระดับ 1.7 เท่าของมูลค่าหุ้นกู้คงค้างตลอดอายุของหุ้นกู้
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนถึงการคาดการณ์ว่าบริษัทจะสามารถพัฒนาและโอนห้องชุดในโครงการคอนโดมิเนียมได้ตามแผน ทั้งนี้ หลังเสร็จสิ้นโครงการซื้อคืนหุ้นสามัญในต้นปี 2552 คาดว่าบริษัทจะสามารถรักษาอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนให้อยู่ในระดับไม่เกิน 50% แม้ว่ายังมีโครงการคอนโดมิเนียมอีกหลายโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างก็ตาม หากบริษัทสามารถรักษาความสามารถในการทำกำไรและความแข็งแกร่งของกระแสเงินสดภายหลังจากที่มาตรการภาษีของภาครัฐสิ้นสุดลงเอาไว้ได้ อันดับเครดิตหรือแนวโน้มอันดับเครดิตอาจได้รับการปรับเพิ่มขึ้น
ทริสเรทติ้งรายงานว่า บริษัทศุภาลัยเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ประเภทที่อยู่อาศัยชั้นนำของไทยซึ่งก่อตั้งในปี 2532 โดยตระกูลตั้งมติธรรมที่ปัจจุบันยังคงเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทในสัดส่วนทั้งสิ้น 28% ณ เดือนสิงหาคม 2552 บริษัทมีโครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนา ณ เดือนมีนาคม 2552 จำนวนมากกว่า 30 โครงการ ด้วยมูลค่ายอดขายคงเหลือประมาณ 13,000 ล้านบาท จำแนกเป็นโครงการคอนโดมิเนียมและโครงการบ้านจัดสรรอย่างละครึ่ง ราคาขายโดยเฉลี่ยของที่อยู่อาศัยในทุกโครงการของบริษัทอยู่ที่ 2.4 ล้านบาทต่อหน่วย ซึ่งสะท้อนถึงกลยุทธ์การให้ความสำคัญกับกลุ่มลูกค้าระดับรายได้ปานกลาง ความได้เปรียบในการแข่งขันของบริษัทมาจากความสามารถในการควบคุมต้นทุนในการดำเนินงานซึ่งทำให้บริษัทสามารถเสนอขายที่อยู่อาศัยซึ่งอยู่ในโครงการจัดสรรที่กระจายตัวอยู่ในทำเลที่หลากหลายด้วยราคาที่น่าสนใจ รวมทั้งการมีแบรนด์สินค้าซึ่งเป็นที่ยอมรับในตลาด
ทริสเรทติ้งกล่าวถึงผลประกอบการของบริษัทศุภาลัยในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาว่ายังคงอยู่ในระดับที่น่าพอใจ โดยบริษัทมีรายได้เพิ่มขึ้นกว่า 43% เป็น 4,630 ล้านบาทในช่วงครึ่งแรกของปี 2552 จาก 3,230 ล้านบาทในช่วงเดียวกันของปีก่อน รายได้ของบริษัทส่วนใหญ่มาจากการขายที่อยู่อาศัยเป็นหลัก ในขณะที่รายได้จากค่าเช่าอาคารสำนักงานและโรงแรมยังมีสัดส่วนไม่มาก ผลของมาตรการทางด้านภาษีของรัฐบาลและการมียอดขายที่เพิ่มขึ้นอย่างมากทำให้บริษัทมีอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้นเป็น 40% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2552 จาก 31% ในช่วงเดียวกันของปี 2551 อัตราส่วนผลตอบแทนต่อเงินทุนถาวรในปี 2550-2551 อยู่ที่ประมาณ 20% และเพิ่มจาก 12.8% (ยังไม่ได้ปรับเป็นตัวเลขเต็มปี) ในช่วงครึ่งแรกของปี 2551 เป็น 16.6% ในช่วงเดียวกันของปี 2552 อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนก็ปรับตัวดีขึ้นภายหลังจากที่บริษัทซื้อหุ้นสามัญคืนเสร็จสิ้นในต้นปี 2552 และโอนห้องชุดในคอนโดมิเนียม 2 โครงการใหญ่ไปในช่วงครึ่งแรกของปี 2552 โดย ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2552 บริษัทใช้เงินไปแล้วกว่า 300 ล้านบาทเพื่อซื้อหุ้นสามัญจำนวน 134 ล้านหุ้น (หรือ 7.8% ของจำนวนหุ้นสามัญคงเหลือ) โดยมีเงื่อนไขที่จะต้องขายหรือยกเลิกหุ้นดังกล่าวทั้งหมดออกไปภายในเวลา 3 ปี นอกจากนี้ ในช่วงครึ่งแรกของปี 2552 บริษัทยังได้โอนที่อยู่อาศัยถึง 1,690 หน่วยให้แก่ผู้ซื้อซึ่งคิดเป็นมูลค่ามากกว่า 4,400 ล้านบาท นับว่ามีมูลค่ามากกว่ายอด 3,000 ล้านบาทในช่วงเดียวกันของปี 2551 มีผลทำให้ระดับเงินกู้ยืมลดลงจาก 5,000 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2551 เป็น 4,364 ล้านบาท ณ กลางปี 2552 โดยอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนลดลงจาก 49% ในปลายปี 2551 เป็นเกือบ 41% ณ ปลายเดือนมิถุนายน 2552
ทริสเรทติ้งยังกล่าวถึงภาวะตลาดที่อยู่อาศัยในปีที่ผ่านมาว่าค่อนข้างผันผวนอันเป็นผลมาจากการเมืองภายในประเทศที่ไม่มีเสถียรภาพและวิกฤติการณ์ทางการเงินทั่วโลก แม้ว่ามาตรการด้านภาษีซึ่งอนุญาตให้ผู้ซื้อบ้านสามารถนำเงินซื้อบ้านในวงเงินสูงสุดไม่เกิน 300,000 บาทไปใช้ลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้ แต่ก็คาดว่าตลาดอสังหาริมทรัพย์ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลจะปรับตัวลดลงตามภาวะเศรษฐกิจและจะหดตัวในปี 2552 ดังนั้น ผู้ประกอบการควรต้องบริหารสภาพคล่องอย่างระมัดระวังและดำรงความยืดหยุ่นทางการเงินให้เพียงพอที่จะรองรับภาระผูกพันทางการเงินต่างๆ ในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจยังไม่แน่นอนเพื่อที่จะดำรงสถานะอันดับเครดิตเอาไว้