(เพิ่มเติม) THCOM ยืนยัน SAMART ไม่เคยเจรจาซื้อกิจการทั้งผ่านบริษัทและผ่าน SHIN

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday September 14, 2009 14:36 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอารักษ์ ชลธาร์นนท์ ประธานเจ้าหน้าที่คณะผู้บริหาร บมจ.ไทยคม(THCOM)กล่าวยืนยันว่า บริษัทไม่ได้เคยได้รับการติตต่อจาก บมจ.สามารถ คอร์ปอเรชั่น(SAMART)ในการเข้าซื้อหุ้นบริษัท ทั้งการติดต่อผ่านบริษัทโดยตรง หรือผ่านทาง บมจ.ชิน คอร์ปอเรชั่น (SHIN) ที่เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท

ทั้งนี้ หาก SAMART ต้องการเข้ามาซื้อกิจการ THCOM ในรูแบบเทกโอเวอร์จะต้องใช้เงินเกือบ 1 หมื่นล้านบาทจากการประเมินมูลค่าตามราคาตลาด

"SAMART เคยเป็นข่าวว่าจะเข้าซื้อกิจการของเรามาแล้วรอบหนึ่ง แต่ตลอด 3-5 ปีที่ผ่านมา ไม่เคยมีการพูดคุยหรือเจรจาโดยครงกับผู้บริหาร เพราะโดยส่วนตัวผมก็เป็นผู้บริหารใน SHIN ด้วย และไม่เห็นประโยชน์ว่า SAMART จะนำธุรกิจด้านดาวเทียมไปสานต่ออย่างไร เพราะธุรกิจดาวเทียมกว่าจะเห็นกำไรใช้เวลานาน แต่หากซื้อผ่านเทมาเส็ก ผมไม่สามารถตอบคำถามแทนได้ หากมองโดยหลักการเป็นเรื่องยาก เพราะเทมาเส็กไม่ได้ถือหุ้นเราโดยตรง"นายอารักษ์ กล่าว

นายอารักษ์ กล่าวยอมรับว่า ที่ผ่านมาบริษัทใช้เงินลงทุนมหาศาลในการทำธุรกิจดาวเทียม จึงมีผู้สนใจร่วมลงทุนในหลายรูปแบบ แต่ส่วนใหญ่จะเข้ามาในรูปแบบเป็นพันธมิตรที่บริษัทเข้าไปลงทุน ตัวอย่างเช่น iPSTAR บริษัทต้องมีพันธมิตรในแต่ละประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นองค์กรรัฐ และต้องใช้เวลาในการเจรจาและทำการตลาด ซึ่งปัจจุบัน บริษีทสามารถเจรจาลุล่วงแล้ว 14 ประเทศ

ล่าสุด บริษัทอยู่ระหว่างติดตั้ง Gatewayในอินเดีย ซึ่งคาดว่าจะแล้วภายในเดือน ต.ค.นี้ และจะเริ่มรับรู้รายได้บางส่วนในปีนี้ เช่นเดียวกับของจีน ได้ลงนามสัญญาร่วมกับไชน่า เทเลคอม เชื่อว่ารายได้จากจีนจะเข้ามาในปีนี้เช่นเดียวกัน

*คาดปันผลงวดปี 52 ได้หลังชำระหนี้

นายอารักษ์ กล่าวว่า ในปีนี้ บริษัทมั่นใจว่าจะมีกำไรสุทธิหลังจากที่เริ่มเห็นกำไรสุทธิในไตรมาส 2/52 และ iPSTAR มีลูกค้าเพิ่มขึ้น และเข้าสู่จุดคุ้มทุนแล้ว โดยเชื่อว่าหากมีการชำระหนี้เจ้าหนี้รายเดิมแล้วเสร็จจากการออกหุ้นกู้จำนวน 7 พันล้านบาท หลังการชำระหนี้แล้วบริษัทจะมีความสามารถจ่ายเงินปันผลในงวดปี 52 โดยมีนโยบายจ่ายเงินปันผลไม่น้อยกว่า 40%ของกำไรสุทธิ

"ผมเห็นใจผู้ถือหุ้น เพราะเราไม่สามารถจ่ายปันผลหลายปีตั้งแต่ปี 2001(พ.ศ.2544) ถ้ามีโอกาสชำระหนี้เสร็จ ก็จะจ่ายปันผล เพราะเราก็มีกำไรแล้ว ซึ่งเป็นครั้งแรกในรอบหลายปี"ประธานเจ้าหน้าที่คณะผู้บริหาร THCOM กล่าว

ด้านนายธนฑิต เจริญจันทน์ หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน THCOM เปิดเผยว่า บริษัทเตรียมออกหุ้นกู้เสนอขายในช่วงต้น พ.ย. 52 วงเงินไม่เกิน 7 พันล้านบาท อายุ 3 ปี และ 5 ปี อัตราดอกเบี้ยประมาณ 5-6% โดยคาดว่าหุ้นกู้อายุ 3 ปีจะมีอัตราดอกเบี้ยประมาณ 5% และหุ้นกู้อายุ 5 ปี อัตราดอกเบี้ยเกือบ 6%

เบื้องต้นจะออกเป็นหุ้นกู้สกุลบาทโดยจัดสรรให้นักลงทุนรายย่อยมากกว่านักลงทุนสถาบัน และไม่มีกรีนชูออปชั่น เชื่อว่าหลังการชำระหนี้ทั้งหมดราว 220 ล้านเหรียญสหรัฐ จะทำให้บริษัทมีต้นทุนการเงินลดลงประมาณ 1- 1.5% และจะลดความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนที่เริ่มมีความผันผวนสูงขึ้น

*คาดได้ข้อสรุปไทยคม 2 ปลายปีนี้

นายอารักษ์ คาดว่า จะได้ข้อสรุปในการเจรจากับกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศ (ไอซีที)เพื่อขอแก้ไขสัญญาสัมปทานดาวเทียมไทยคมภายในปีนี้ เนื่องจากดาวเทียมไทยคม 2 จะหมดอายุช่วงต้นปี 53 แต่ในทางปฏิบัติงานของดาวเทียมยังมีอายุใช้งานได้อีกประมาณ 1 ปี ซึ่งจะเป็นช่วงเวลาที่บริษัทสามารถโอนย้ายลูกค้าจากดาวเทียมไทยคม 2 ไปยังดาวเทียมดวงอื่น ถ้ากระทรวงไอซีทียอมให้แก้ไขสัญญาเพื่อเปิดโอกาสให้เช่าดาวเทียมดวงอื่นมาใช้แทน และดาวเทียมไทยคม 5 ก็สามารถรองรับลูกค้าบางส่วนของไทยคม 2

ทั้งนี้ บริษัทเห็นว่าการสร้างดาวเทียมไทยคม 6 มาทดแทนดาวเทียมไทยคม 2 เพื่อให้เป็นไปตามสัญญาสัมปทานจะทำให้การโอนย้ายลูกค้าไม่ทันการณ์ เพราะต้องใช้เวลาติดตั้ง 2-3 ปี และจะต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก ซึ่งจะทำให้บริษัทสูญเสียโอกาสสร้างรายได้ให้กับรัฐบาล และยืนยันว่าหากใช้วิธีการเช่า รัฐก็ไม่ได้เสียประโยชน์

"ก็ยอมรับว่า สัญญาไม่ได้เปิดกว้างให้เราเช่าดาวเทียมดวงใหม่มาทดแทนดาวเทียมไทยคม 2 ได้ แต่บริษัทเห็นว่าวิธีการเช่าเป็นวิธีที่ดีที่สุด และเกิดประโยชน์ทั้งสองฝ่าย เพราะหากลงทุนใหม่ต้องใช้เงินจำนวนมาก และความต้องการใช้ไม่แน่นอนว่าจะมีเยอะหรือเปล่า เพราะถ้าสร้างมาแล้วไม่มีลูกค้า ก็จะเสียประโยชน์ทั้งรัฐและบริษัท"นายอารักษ์ กล่าว

ปัจจุบัน บริษัทชำระส่วนแบ่งรายได้ให้กับกระทรวงไอซีทีที่ 17.5% ของรายได้ ซึ่งถือว่าสูงที่สุดในการจ่ายค่าสัมปทานให้ภาครัฐ เมื่อเทียบกับประเทศอื่นทั่วโลก โดยบริษัทมีระยะเวลาสัญญาสัมปทานดาวเทียมกับกระทรวงไอซีทีเหลืออีก 12 ปี หรือครบกำหนดในปี 2564



เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ