ADVANC ทุ่ม 7 หมื่นลบ.พัฒนา 3G ช่วง 3-5 ปีแรกดันธุรกิจโต/ลังเลพัฒนาบนคลื่นเดิม

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday September 15, 2009 18:13 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์เซอร์วิส(ADVANC)คาดว่าบริษัทจะต้องใช้เงินลงทุนเครือข่ายระบบ 3G ประมาณกว่า 7 หมื่นล้านบาท ในช่วง 3-5 ปีแรก เพื่อให้ครอบคลุมพื้นทีให้บริการมากที่สุด โดยปีแรกคาดว่าจะใช้เงินลงทุน 2.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งขณะนี้บริษัทได้เตรียมทุนไว้เกินกว่า 1 หมื่นล้านบาทแล้ว

สำหรับวงเงินส่วนที่เหลือยังมีทางเลือกอื่น ๆ ได้แก่ การออกหุ้นกู้ หรือกู้จากสถาบันการเงิน เป็นต้น แต่ ณ ตอนนี้ยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะใช้แนวทางใด คงจะต้องรอให้ประมูลใบอนุญาตได้ก่อน

ขณะเดียวกัน บริษัทกำลังตัดสินใจว่าจะดำเนินการระบบ 3G บนคลื่นเดิม 900 MHz หรือไม่เพราะเหลืออายุสัมปทานอีก 6 ปีหรือหมดในปี 58 โดยเตรียมเจรจาทีโอทีเจ้าของสัมปทานเพื่อปูทางไว้ก่อน

"ตั้งแต่ต้นปีเราได้เตรียมเงินที่ใช้ลงทุน 3G ทั้งขอเครดิตแบงก์ และของเราเองก็มีเกินกว่า 1 หมื่นล้านบาท...ตั้งงบประมาณ 7 หมื่นล้านบาท คงจะไม่ครอบคลุมทั้งประเทศ เป็นการทยอยลงทุน ซึ่งต่อไประบบ 2G ก็คงต้องเลิกใช้กันไป"นายวิเชียร เมฆตระการ หัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่ผู้บริหาร ADVANC กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าบริษัทจะต้องใช้งบลงทุนในระบบ 3G ค่อนข้างสูงในช่วงแรกที่จะส่งผลกดดันกำไรของบริษัท แต่บริษัทยังคงนโยบายการจ่ายเงินปันผลให้ได้สม่ำเสมอเช่นเดียวกันในปีก่อน ๆ โดยในปี 50 บริษัทจ่ายเงินปันผล 6.30 บาทต่อหุ้น

นายวิเชียร กล่าวว่า บริษัทตั้งเป้าจะเข้าประมูลใบอนุญาตให้บริการเครือข่ายระบบ 3G บนคลื่นความถี่ 2.1 กิ๊กกะเฮิร์ตซ ขนาด 15 MHz จากทั้งหมดที่มี 4 ใบ เป็น ขนาด 15 MHz จำนวน 1 ใบ และ 10 MHz จำนวน 3 ใบ เพราะต้องการครองส่วนแบ่งตลาดอันดับ 1 ไว้เหมือนเดิม ปัจจุบัน บริษัทมีผู้ใช้บริการราว 28 ล้านเลขหมาย หรือมีส่วนแบ่งตลาด 50% และเป็นอันดับ 1 ของผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ โดยขนาดที่ 15 MHz จะมีความเร็วสูงและสามารถรองรับจำนวนลูกค้าได้ในปริมาณมาก และให้บริการได้ดีกว่า

อย่างไรก็ตาม จากร่างประกาศเชิญชวนประกวดราคาเข้าประมูลใบอนุญาตให้บริการเครือข่ายระบบ 3G ที่คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม(กทช.)อนุมัติในเบื้องต้นนั้น นายวิเชียร กล่าวว่า บริษัทยังกังวลและรู้สึกสับสนว่าการประมูลราคาใบอนุญาตจะสิ้นสุดแมื่อไร เพราะไม่ได้มีการกำหนดไว้ เพียงแต่ระบุว่าหากภายใน 30 นาทีไม่มีใครเสนอราคาประมูลให้หยุดการประมูล แต่ไม่ได้บอกว่าเป็นการสิ้นสุดการประมูล ซึ่งประเด็นนี้คงจะไปสอบถามในวันที่กทช.เปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ 28 ก.ย.นี้

แต่ในประเด็นคุณสมบัติผู้เข้าประมูลใบอนุญาตนั้น บริษัทไม่กังวล เพราะมีคุณสมบัติเป็นนิติบุคคลไทย ซึ่งมี บมจ.ชิน คอร์ปอเรชั่น(SHIN)ถือหุ้นใหญ่ 42.65%

ขณะที่ ข้ออกำหนดของ กทช.จะต้องขยายเครือข่ายได้ 50% พื้นที่ให้บริการภายใน 2 ปีแรก นายเวิเชียร กล่าวว่า ไม่เป็นอุปสรรค เพราะเปิดให้บริการในหัวเมืองใหญ่ รวมทั้งกรุงเทพมหานคร ก็สามารถทำสัดส่วนได้ตามที่กำหนดอยู่แล้ว

"การลงทุน 3G หากจะครอบคลุมพื้นที่ 100% เป็นเรื่องที่ต้องใช้เงินลงทุนมหาศาล แต่บริษัทจะใช้รูปแบบทยอยลงทุนเบื้องต้นปีแรก 2.5 หมื่นล้านบาท แต่มั่นใจว่าจะสามารถให้บริการได้ตามกำหนด 50% ของพื้นที่ เนื่องจากแค่พื้นที่ หัวเมืองใหญ่ รวมกรุงเทพ ก็เกิน 50% ของพื้นที่ประเทศไทยแล้ว"นายวิเชียร กล่าว

อย่างไรก็ตาม บริษัทตั้งเป้าว่าภายใน 5 ปี บริษัทจะให้บริการได้ครอบคลุมพื้นที่มากที่สุด เนื่องจากเป็นจุดเด่นของบริษัทที่มีสัญญาณครอบคลุมพื้นที่มากที่สุดและเป็นจุดขายของบริษัทมาโดยตลอด ซึ่งเชื่อว่าการให้บริการโครงข่าย 3G จะสามารถทำให้บริษัทรักษาจุดเด่นไว้ได้

นายวิเชียร คาดว่าหลังได้ใบอนุญาตบริการเครือข่ายระบบ 3G ในปีหน้า จะทำให้รายได้ของบริษัทเติบโตกว่าปีนี้ เนื่องจากเชื่อว่าบริการ 3G จะช่วยทำให้มีปริมาณการใช้ข้อมูล(DATA)ผ่านโทรศัพท์มือถือเพิ่มมากขึ้นเป็น 20-30% จากเดิมมีสัดส่วน 11% แต่อย่างไรก็ตาม รายได้จาก Voice ก็ยังคงเป็นรายได้หลักของบริษัท หรือไม่น้อยกว่า 50%

ทั้งนี้ ADVANC ได้จัดตั้งบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN) ซึ่งถือหุ้นอยู่ 99.9% ของทุนจดทะเบียน 350 ล้านบาท โดยจะให้ AWN เป็นผู้เข้าประมูลใบอนุญาต 3G

*รอตัดสินใจใช้ 3G บนคลื่นเดิมต่อ

หัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่ผู้บริหาร ADVANC กล่าวว่า บริษัทยังไม่สามารถตัดสินใจได้ว่าจะพัฒนาโครงข่ายระบบ 3G บนคลื่น 900 MHz ต่อไปหรือไม่ เนื่องจากคลื่น 900 MHz ซึ่งเป็นคลื่นที่อยู่ภายใต้สัญญาร่วมการงาน กับบมจ.ทีโอที เพราะเงื่อนไขสัญญา บริษัทต้องส่งมอบอุปกรณ์ให้กับเจ้าของโครงข่าย ขณะที่บริษัทจะหมดสัญญาอายุสัมปทานในปี 58

"การพัฒนาต้องมีความชัดเจนเพราะบริษัทเป็นบริษัทจดทะเบียนต้องมีคำตอบที่ชัดเจนให้กับผู้ถือหุ้นว่าการพัฒนาบนเคลื่นเดิม กับการพัฒนาแยกกันนั้นจะส่งผลอย่างไรบ้าง วันนี้ยังไม่มีความชัดเจน เราจะคุยกับ ทีโอที ก็ต่อเมื่อเราได้ไลเซ่นส์ 3G"นายวิเชียร กล่าว

ทั้งนี้ การตัดสินใจว่าจะดำเนินการอย่างไรกับสัมปทานเดิมคงต้องมีการเจรจากับทีโอทีถึงรายละเอียดสัญญาร่วมการงานโดยบริษัทต้องคำนึงถึงค่าใช้จ่าย และผลประโยชน์ผู้ถือหุ้นต้องมีความชัดเจนในสัญญา ปัจจุบันบริษัทต้องจ่ายส่วนแบ่งรายได้ให้กับทีโอที เฉลี่ย 25-26% โดยการเจรจาครั้งใหม่ก็ต้องหารือส่วนแบ่งผลประโยชน์ที่เหมาะสมหากจะเดินหน้าทำ 3G บนคลื่นเดิม

ขณะเดียวกัน คู่แข่ง ได้แก่ ทรูมูฟ อายุสัมทานหมดก่อน ADVANC 2 ปี ส่วนบมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น(DTAC)อายุสัญญาสัมปทานหมดหลังบริษัท 2 ปี ดังนั้น การตัดสินใจต้องรอดูสถานการณ์หลายอย่างประกอบการพิจารณาด้วย รวมทั้ง การลงทุน 3G ก็ใช้เงินลงทุนจำนวนมาก ดังนั้นต้องใช้เวลากว่าจะคุ้มทุน แต่ไม่สามารถบอกได้ว่าจะเป็นเมื่อไร เนื่องจากต้นทุนยังไม่ชัดเจน โดยเฉพาะต้นทุนใบอนุญาต แต่ที่แน่คือต้นทุนด้านส่วนแบ่งรายได้ลดลง

ในส่วนของการที่ลูกค้าจำนวน 28 ล้านรายจะเปลี่ยนมาใช้ระบ 3G หรือไม่นั้น เป็นสิทธิของลูกค้า แต่บริษัทจะใช้วิธีทางการตลาดเพื่อจูงใจให้ลูกค้าเอไอเอสเลือกใช้ระบบ 3G ทั้งนี้ เชื่อว่าการเกิด 3G จะทำให้อุตสาหกรรมโทรคมนาคมมีการพัฒนามีเทคโนโลยีใหม่ๆ แต่ธุรกิจจะเติบโตมากน้อยอย่างไรขึ้นกับภาวะเศรษฐกิจและปัจจัยการเมือง ซึ่งได้สะท้อนให้เห็นในปีนี้แล้ว



แท็ก (ADVANC)   โฟร์   3G  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ