ก.ล.ต.นับ 1 ไฟลิ่ง"ไทย อะโกร เอ็นเนอร์ยี่" ขายหุ้น IPO 200 ล้านหุ้น

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday September 16, 2009 17:46 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) นับ 1 ไฟลิ่งการออกและเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนจำนวน 200 ล้านหุ้นของบมจ.ไทย อะโกร เอ็นเนอร์ยี่(TAE) มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท หรือคิดเป็นร้อยละ 25 ของทุนจดทะเบียนและทุนเรียกชำระแล้วของบริษัทภายหลังจากการเสนอขายหลักทรัพย์แล้ว ซึ่งเท่ากับ 800 ล้านบาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญ 800 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท โดยมีบล.บัวหลวง เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน

บริษัทจะนำเงินที่ได้จากการเสนอขายนี้เพื่อใช้ลงทุนในโรงงานผลิตเอทานอลสายการผลิตที่ 2 และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนของบริษัท และจะนำหุ้นสามัญทั้งหมดของบริษัทจำนวน 800 ล้านหุ้นเข้าเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

บมจ. ไทย อะโกร เอ็นเนอร์ยี่(TAE) เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายเอทานอลเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงรายแรกของประเทศไทย มีโรงงานผลิตเอทานอลจากกากน้ำตาล (Molasses) (สายการผลิตที่ 1)ที่ จ.สุพรรณบุรี ปัจจุบันใช้กำลังการผลิตถึงประมาณ 90% ของกำลังการผลิตติดตั้ง

และได้รับใบอนุญาตให้ขยายกำลังการผลิตเอทานอลจากมันสำปะหลัง และ/หรืออ้อย (สายการผลิตที่ 2) อีก 200,000 ลิตรต่อวัน หรือ 66.00 ล้านลิตรต่อปี มูลค่าลงทุน 1,500 ล้านบาท รวมแล้วบริษัทจะมีกำลังการผลิตติดตั้ง 365,000 ลิตรต่อวัน หรือ 120.45 ล้านลิตรต่อปี

ทั้งนี้ บริษัทได้รับสิทธิประโยชน์จากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) โดยคาดว่าสายการผลิตที่ 2 จะก่อสร้างแล้วเสร็จและเริ่มผลิตเอทานอลออกจำหน่ายได้ประมาณไตรมาส 1/54

ณ วันที่ 30 เม.ย.52 บมจ.ลานนารีซอร์สเซส (LANNA) ถือหุ้นใน TAE จำนวน 454.50 ล้านหุ้น หรือ 75.75% ของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของบริษัทก่อนการเสนอขายหุ้นแก่ประชาชน ทั้งนี้ ภายหลังการเสนอขายหุ้น IPO จะทำให้สัดส่วนการถือหุ้นของ LANNA ในบริษัทลดลงเหลือ 56.82% ของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของบริษัท

ในไตรมาส 1/52 บริษัทมีรายได้จากการขายเอทานอลเท่ากับ 227.53 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 18.46% จากไตรมาส 1/51 สาเหตุจากปริมาณการขายที่มากต่อเนื่องจากปี 51 แม้ว่าราคาอ้างอิงตามตลาดบราซิลจะลดลงเล็กน้อย ขณะที่อัตรากำไรสุทธิในช่วงไตรมาส 1/52 อยู่ที่ 37.35%

การดำเนินธุรกิจของบริษัทมีปัจจัยความเสี่ยงที่สำคัญ เช่น นโยบายภาครัฐ ราคาขายเอทานอล ปริมาณการขายเอทานอล ราคากากน้ำตาล ปริมาณกากน้ำตาลและภาวะเอทานอลล้นตลาด เป็นต้น

นอกจากนี้ บริษัทมีปัจจัยเสี่ยงจากการมีคู่ค้าน้อยราย ความเสี่ยงจากการก่อสร้าง และการประกอบธุรกิจของสายการผลิตที่ 2 ซึ่งคาดว่าจะสามารถดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์ได้ภายในไตรมาส 1/54 ความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินสกุลยูโรซึ่งนำมาก่อสร้างสายการผลิตที่ 2 ซึ่งปัจจัยความเสี่ยงทั้งหมดส่งผลกระทบต่อฐานะการเงินและผลการดำเนินงานของบริษัท

นอกจากความเสี่ยงด้านการดำเนินธุรกิจแล้ว บริษัทมีความเสี่ยงด้านการบริหารจัดการจากการที่มีผู้ถือหุ้นรายใหญ่ถือหุ้นมากกว่าร้อยละ 50 และความเสี่ยงด้านการนำหลักทรัพย์เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ