"สิริวัฒน์"ร่วมคุมบังเหียน AMAC เปิดเกมลุยธุรกิจเทรดดิ้งเหล็ก Q4/52

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday September 17, 2009 09:48 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสิริวัฒน์ โตวิชรกุล ผู้บริหารธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในเครือ"อมรพันธ์กรุ๊ป"กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"ถึงการเข้าลงทุน ใน บมจ.อะโกร อินดัสเตรียล แมชชีนเนอรี่(AMAC)ด้วยการซื้อหุ้น 7.3% จากกลุ่มทุนเกาหลี ถือเป็นการลงทุนในระยะยาว เพราะสนใจการปรับเปลี่ยนธุรกิจหลักของ AMAC มาสู่การเทรดดิ้งเหล็ก แทนการขายเครื่องจักรกลการเกษตร เชื่อว่าจะช่วยให้ธุรกิจเติบโตได้ และเอื้อประโยชน์ต่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์

"ที่สนใจเพราะ AMAC ก็จะเปลี่ยนธุรกิจ ซึ่งเราก็สนใจและเงินลงทุนก็ไม่ได้เยอะมากแค่ 10 ล้านบาทสำหรับที่จะมาเปิดธุรกิจใหม่ๆ ที่ยังไม่เคยทำ จึงตัดสินใจที่จะเข้ามาลงทุน และผมทำอสังหาฯอยู่ก็เอื้อธุรกิจกัน และเป็นการลงทุนระยะยาว"นายสิริวัฒน์ กล่าว

ส่วนในอนาคตจะซื้อหุ้น AMAC เพิ่มอีกหรือไม่นั้น ขณะนี้คงยังไม่มีการซื้อหุ้นเพิ่ม โดยจะคงถือหุ้นในสัดส่วนเท่านี้ไปก่อน เพื่อรอดูสถานการณ์ โดยเฉพาะกิจการเทรดดิ้งเหล็ก ซึ่งบริษัทมีความรู้เกี่ยวกับความเคลื่อนไหวเรื่องราคาเหล็กพอสมควร เพราะธุรกิจของบริษัทคือ บริษัทสิริยา โฮมแลนด์ จำกัด ผู้ประกอบการบ้านเดี่ยวแบรนด์"สิริยา" ใช้เหล็กมากอยู่แล้ว การเข้ามาตรงนี้ก็จะทำให้ได้เปรียบไปนิดหนึ่ง แต่ไม่มีแนวคิดที่จะควบรวมกิจการ

"แต่เรื่องการควบรวมกิจการกับสิริยาโฮมแลนด์ คงไม่มีแน่"นายสิริวัฒน์ กล่าว

ทั้งนี้ นายสิริวัฒน์ ซื้อหุ้น AMAC จาก ASAM INVESTMENT ADVISORY CO.,LTD. ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในลำดับ 4 ทำให้โครงสร้างผู้ถือหุ้นที่ถือเกิน 5% ภายหลังการจำหน่ายหุ้นดังกล่าว เป็นดังนี้ นายชำนิ จันทร์ฉาย 25 ล้านหุ้นหรือ 12.12% นายสุทธิศักดิ์ โล่ห์สวัสดิ์ 9.69% นายศิริวัฒน์ อนันต์คูศรี 9.45% นายสิริวัฒน์ โตวชิรกุล 7.30% และนายวิสูต กัจฉมาภรณ์ 5.57%

นายสิริวัฒน์ เปิดเผยว่า จะเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการบริษัทนัดแรกในวันประชุมผู้ถือหุ้น 18 ก.ย.นี้ หลังจากที่ประชุมคณะกรรมการ AMAC แต่งตั้งให้ตนเองเข้ามาเป็นกรรมการบริษัทแทน นายคิม ฮวาน คยูน ตัวแทนของกลุ่มทุนเกาหลี ซึ่งในวันดังกล่าวที่ประชุมผู้ถือหุ้นจะพิจารณาการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนให้ PP 4 ราย โดยคาดว่าเงินจากการเพิ่มทุนเข้ามาในต.ค.-พ.ย.นี้

อนึ่ง บอร์ด AMAC ให้จัดสรรหุ้นเพิ่มทุน 336 ล้านหุ้นราคาหุ้นละ 0.30 บาทให้แก่บุคคลแบบเฉพาะเจาะจง 4 ราย คนละ 84 ล้านหุ้น คือ นายชัชวาลย์ เจียรวนนท์,นายภมรกรณ์ เล็กปรีชากุล,นายรณฤทธิ์ ตั้งคารวคุณ และนายสถาพร ติยะวัชรพงศ์

นายสิริวัฒน์ กล่าวถึงกระแสการเป็นนอมีนีให้ PP ทั้ง 4 รายว่า ผมไม่ทราบ แต่การหันไปทำเทรดดิ้งเหล็กก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไรเพราะในตัวบริษัทเองก็ไม่ค่อยดีอยู่แล้วก็ต้องหาโอกาสในธุรกิจใหม่ๆ

*ตั้งป้อมลุยเทรดดิ้งเหล็ก มองอนาคตหากไปได้สวยต้องมองหาแหล่งเงินทุนเพิ่ม

นายสิริวัฒน์ กล่าวว่า ธุรกิจเทรดดิ้งเหล็กจะเป็นธุรกิจหลักของ AMAC บริษัทนับจากนี้ไป แม้ว่าบริษัทจะยังคงขายเครื่องจักรกลเกษตรภายใต้แบรนด์"สิงห์คะนองนา"แต่มีวอลุ่มค่อนข้างน้อย และมีส่วนแบ่งตลาด(มาร์เก็ตแชร์)เพียงประมาณ 5% ขณะที่ธุรกิจเทรดดิ้งเหล็กนั้น นายชำนิ จันทร์ฉาย กรรมการและผู้ถือหุ้นใหญ่ มีประสบการณ์ด้านนี้ สามารถแนะนำซัพพลายเออร์ และลูกค้าให้กับบริษัทได้

"ปีนี้น่าจะได้เห็นแน่นอนเทรดดิ้งเหล็ก เพราะถ้าเงิน PP มาก็โอเคลงได้ทันทีเท่าที่คุยมาไม่น่ามีปีญหาเพราะ 4 คนแต่ละท่านก็มีเงิน"นายสิริวัฒน์ กล่าว

เช้านี้ AMAC แจ้งการหยุดสายการผลิตเป็นการชั่วคราวระหว่างวันที่ 10 กันยายน 2552 ถึง วันที่ 30 กันยายน 2552 เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจถดถอย แต่ยังเปิดจำหน่ายสินค้าตามปกติ

นายสิริวัฒน์ กล่าวว่า คงจะเป็นการหยุดสายการผลิตเครื่องจักรไถนา ส่วนหลังจากนี้จะกลับมาผลิตอีกเมื่อไร ยังไม่ทราบรายละเอียด เพราะเพิ่งจะเข้าไปเป็นกรรมการ และเตรียมรอที่จะประชุมผู้ถือหุ้นผ่านแผนขายหุ้นให้ PP เข้ามา และทำธุรกิจเทรดดิ้ง ส่วนธุรกิจเครื่องจักรไถนาคงต้องไปคุยกันอีกที

สำหรับการทำธุรกิจเทรดดิ้งเหล็กจำเป็นต้องใช้เงินทุนหมุนเวียนค่อนข้างมาก เม็ดเงินเพียง 100 ล้านบาทถือว่าน้อยมาก ยิ่งหากจะต้องแข่งขันกับคู่แข่งก็จำเป็นต้องมีเงินมากพอสมควร หากธุรกิจเดินไปได้ดีระดับหนึ่ง ก็อาจจะต้องมีการขยายฐานลูกค้า ซึ่งในตอนนั้นก็คงต้องมองถึงแหล่งเงินทุนที่จะเข้ามาเสริม อาจเป็นการกู้จากธนาคารหรือทางอื่น

อย่างไรก็ตาม หากในอนาคต AMAC จำเป็นต้องเพิ่มทุน ก็พร้อมที่จะสนับสนุน เพียงแต่ขณะนี้คงจะรอเงินจาก PP เข้ามาใช้ทำธุรกิจเทรดดิ้งในช่วงเริ่มต้นไปก่อน

"ถ้าดีเราก็พร้อมลุย แต่ก็ต้องดูในปีนี้ถ้ายังไม่กระเตื้องเพราะเรื่องเศรษฐกิจด้วยอะไรหลายๆอย่าง คนก็กลัวไปหมด แค่การเมืองอย่างเดียวทุกคนก็กลัวแล้ว...เงินแค่ 100 ล้านบาท พรวดเดียวก็หมดแล้ว ก็ต้องขอดูสถานการณ์ แต่เรามีโอกาสเพราะอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ บวกกับในกลุ่มของเราก็ได้รับประโยชน์ทางด้านก่อสร้างด้วยอาจจะไม่มากเป็นแค่ส่วนหนึ่งแต่ก็รู้สึกว่า win-win" นายสิริวัฒน์ กล่าว

นอกจากนั้น ยังต้องพิจารณาถึงนโยบายของภาครัฐด้วย เห็นได้จากที่ผ่านมามีข่าวว่าจะปรับราคาแนะนำเหล็กขึ้น แต่ขณะนี้ไม่แน่นอนเสียแล้ว ซึ่งบริษัทก็ยังคงเดินหน้าไปตามแผนที่จะเริ่มธุรกิจเทรดดิ้งเหล็กภายในไตรมาส 4/52

นายสิริวัฒน์ กล่าวว่า AMAC จะพลิกฟื้นเมื่อไหร่ คงยังตอบไม่ได้ เพราะตอนนี้ยังไม่ได้เข้าไปบริหาร แต่ที่บริษัทเสนอมาธุรกิจใหม่คงจะทำกำไรได้แต่ไม่น่าจะเยอะมากในช่วงแรก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ