นายสมบัติ กิจจาลักษณ์ กรรมการผู้จัดการ บมจ.รถไฟฟ้ากรุงเทพ(BMCL) คาดว่า รายได้ของบริษัทในปี 52 จะเติบโตราว 8-9% ต่ำกว่เป้าที่ตั้งไว้ 10% โดยการเติบโตของรายได้จะมาจากจำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้น ทั้งปีน่าจะมีจำนวนเฉลี่ย 1.9 แสนเที่ยว/วัน สูงกว่าที่เคยประมาณการไว้ที่ 1.8 แสนเที่ยว/วัน และรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากการที่ผู้โดยสารเดินทางระยะยาวมากขึ้นเป็นเฉลี่ย 8 สถานี หรือ 24 บาท/เที่ยว จากเดิมเฉลี่ย 6 สถานี หรือ 21-22 บาท/เที่ยว
ในไตรมาส 3/52 คาดว่ารายได้จะดีกว่าไตรมาส 2/52 เนื่องจากในช่วงไตรมาส 2/52 มีการปิดโรงเรียนในกรุงเทพหลายวันเพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 รวมทั้งในระยะนี้ กทม.ได้ปิดซ่อมสะพานลอยข้ามแยกหลายแห่ง ทำให้ประชาชนหันมาใช้การเดินทางด้วยรถไฟฟ้ามากขึ้น ประกอบกับ ได้รับผลดีจากการเปิดใช้ส่วนต่อขยายรถไฟฟ้า BTS ไปยังวงเวียนใหญ่-ตากสินด้วย
"รายได้ในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมาเติบโตแล้ว 8% เพราะเรามีผู้โดยสารเพิ่มขึ้น และเดินทางระยะยาวเพิ่มขึ้น ถึงสิ้นปีเราก็ยังลุ้นอยู่ว่าจะถึงเป้า 10% หรือเปล่า ขึ้นกับภาวะเศรษฐกิจ และถ้านักท่องเที่ยวกลับมาก็เชื่อว่าจะมีการใช้งานมากขึ้น" นายสมบัติ กล่าว
อย่างไรก็ตาม นายสมบัติ กล่าวว่า พอใจกับรายได้ปีนี้ที่ยังเติบโตได้ สวนทางภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว และขณะนี้รายได้ก็เริ่มมีทิศทางดีขึ้น โดยผู้โดยสารในวันธรรมดาเพิ่มขึ้นมาเป็น 2 แสนเที่ยว/วัน จากที่เคยอยู่ในระดับ 1.8-1.9 แสนเที่ยว/วัน ขณะที่วันเสาร์ยังคงมีจำนวน 1.5 แสนเที่ยว/วัน และวันอาทิตย์ มีจำนวน 1 แสนเที่ยว/วัน นอกจากนี้สัดส่วนผู้โดยสารที่ใช้ตั๋วเดือน(30 วัน) เพิ่มเป็น 18% จาก 14% ในปีก่อน
รวมทั้ง บริษัทมีแผนจะร่วมมือกับโรงแรม คอนโดมิเนียม อาคารสำนักงานที่อยู่ตามเส้นทางรถไฟฟ้าใต้ดินในการร่วมออกบัตรโดยสาร โดยวันนี้ได้เปิดตัวบัตรโดยสารร่วมกับโรงแรมเจ้าพระยาปาร์ค ที่สามารถใช้เป็นบัตรโดยสาร 1 วัน และใช้เป็นคีย์การ์ดสำหรับห้องพักโรงแรมได้ด้วย
บริษัทยังเตรียมเจรจากับกรรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.)ในปี 53 เกี่ยวกับการเดินรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสถานีเตาปูนเชื่อมกับสถานีบางซื่อ หากได้รับสิทธิเดินรถก็คาดว่าจะใช้เงินลงทุนไม่เกิน 2 พันล้านบาท โดยเป็นการลงทุนระบบเก็บเงิน ระบบไฟฟ้า ระบบเดินรถ รวมทั้งระบบอาณัติสัญญาณ ขณะเดียวกัน บริษัทจะขอเจรจาปรับขึ้นค่าโดยสารหลังขยายสถานีเตาปูนด้วย โดยบริษัทคาดว่าจะต้องใข้รถไฟเพิ่มอีก 5 ขบวน จากปัจจุบันที่มีอยู่ 19 ขบวน
นอกจากนี้ บริษัทคาดว่าจะได้รับสิทธิเป็นรายแรกในการเจรจาเดินรถส่วนต่อขยายสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางแค และบางซื่อ-ท่าพระ ระยะทางรวม 27 กม. ก่อน เพราะเบริษัทเป็นผู้เดินรถสายสีน้ำเงินส่วนแรก 20 กม.อยู่แล้ว หากบริษัทได้รับสิทธิเดินรถก็จะมีต้นทุนถูกลง รวมทั้ง คาดว่าบริษัทจะมีโอกาสได้เดินรถไฟสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-บางซื่อ ด้วย
นายสมบัติ กล่าวว่า หากบริษัทได้รับสิทธิเดินรถไฟทั้งสายสีม่วงและส่วนต่อขยายสายสีน้ำเงิน ก็คาดว่าคงจะสั่งซื้อรถไฟฟ้าเพิ่มเข้ามาอีกราว 60-70 ขบวน เงินลงทุนเบื้องต้น 4 หมื่นล้านบาท อย่างไรก็ตาม เงินลงทุนส่วนนี้คาดว่ารัฐบาลจะเป็นผู้รับผิดชอบ แต่ขึ้นอยู่กับรัฐบาลจะให้เอกชนลงทุนไปก่อนแล้วรัฐบาลจ่ายคืนภายหลัง หรือรัฐบาลจะลงทุนเองทั้งหมด
"ผมคิดว่า เราจะได้สิทธิคุยก่อนรายอื่นในการเดินรถส่วนค่อขยายสายสีน้ำเงิน เพราะเราเดินรถอยู่แล้วในสายสีน้ำเงิน 20 กม.นี้ ซึ่งเราจะทำได้เร็วกว่า ถูกกว่ารายอื่น"นายสมบัติ กล่าว
ทั้งนี้ ส่วนต่อขยายสายสีน้ำเงินจะเสร็จหลังสายสีม่วง 1 ปี พร้อมกันนั้นประเมินว่า จากการเปิดเดินรถไฟสายสีม่วง จำนวนผู้โดยสารจะเพิ่มเป็น 3 แสนเที่ยว/วัน ซึ่งถือเป็นจุดคุ้มทุน และจะเพิ่มเป็น 4 แสนเที่ยว/วัน เมื่อส่วนต่อขยายสายสีน้ำเงินเปิดให้บริการ