ภาวะตลาดหุ้นไทยแนวโน้มดัชนีเช้าผันผวน หวั่นกระแสการเมืองกระทบ-แต่ลุ้น Fund Flow หนุน

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday September 18, 2009 08:52 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายเจริญ เอี่ยมพัฒนธรรม ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.เคที ซีมิโก้ กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยเช้านี้คาดว่าจะผันผวน โดยตลาดต่างประเทศได้ปรับตัวลงกัน อย่างตลาดหุ้นอื่นในภูมิภาคเอเชียเช้านี้ส่วนใหญ่จะอยู่ในแดนลบแต่ก็ไม่มาก ส่วนดาวโจนส์ก็ปรับตัวแต่ก็ไม่ได้มีนัยยะอะไร คงเป็นเพียงแค่การ take profit เท่านั้น หลังจากขึ้นไปมาก

ส่วนตลาดบ้านเราก็มีกระแสในเรื่องการเมืองเข้ามาทำให้นักลงทุนอาจจะขายหุ้นออกมาก่อนก็ได้ แต่ถ้านักลงทุนเชื่อว่าการเมืองไม่ได้มีอะไร ก็อาจจะทำให้เกิดแรงซื้อกลับได้เช่นกัน

อย่างไรก็ดี ตลาดฯยังมี Fund Flow ไหลเข้า ซึ่งทำให้มองว่าอย่างน้อยนักลงทุนต่างชาติก็ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการเมืองไปมากนัก

พร้อมให้แนวรับไว้ที่ 700 จุด แนวต้าน 720 จุด

ประเด็นของการพิจารณาการลงทุน :

  • ตลาดหุ้นนิวยอร์คเมื่อวานนี้(17 ก.ย.) ดัชนีดาวโจนส์ ปิดที่ 9,783.92 จุด ลดลง 7.79 จุด(-0.08%) ดัชนีเอสแอนด์พี 500 ปิดที่ 1,065.49 จุด ลดลง 3.27 จุด(-0.31%) และดัชนีแนสแด็ก ปิดที่ 2,126.75 จุด ลดลง 6.40 จุด (-0.30%)
  • นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิ 2,465.60 ล้านบาทเมื่อวานนี้
  • ราคาน้ำมันดิบส่งมอบเดือน ต.ค.ในตลาดไนเม็กซ์ปิดทำการวานนี้ที่ 72.47 ดอลลาร์/บาร์เรล ลดลง 0.04 ดอลลาร์
  • "พาณิชย์"ระบุส่งออกกระเตื้องขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจโลก มูลค่าเดือนส.ค. ทะลุ 1.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ สูงสุดในรอบปีนี้ ลดลง 18.4% ห่วงค่าบาทแข็ง ยันไตรมาสสุดท้ายพลิกบวกแน่ ทั้งปีคาดลบ 15-19% เป้าปีหน้าขยายตัวมากกว่า 10% เอกชนชี้การส่งออกผ่านจุดต่ำสุดแล้ว ด้าน "พอล ครุกแมน" นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังชี้เศรษฐกิจโลกเสี่ยงถดถอยซ้ำ
  • โตโยต้าตั้งเงื่อนไขผ่อนปรนเกณฑ์ "เคลื่อนย้ายเงินทุน-ระเบียบต่างๆ" แลกย้ายสำนักงานภูมิภาคประจำภาคพื้นเอเชีย จากสิงคโปร์มาไทย เสนอรัฐออกมาตรการกระตุ้นยอดซื้อรถยนต์ "กอร์ปศักดิ์" ขอรอดูสถานการณ์อีก 1-2 เดือน ก่อนตัดสินใจ ด้านเวทีสัมมนาทิศทางยานยนต์หลังวิกฤติ จับตา "จีน-เกาหลี-เอเชีย" ฐานผลิตยานยนต์โลกแทนที่อเมริกา
  • "กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ" รองนายกรัฐมนตรี เผยได้สั่งให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) ทบทวนแผนแม่บทการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศใหม่ให้เสร็จภายในสิ้นปีนี้ เพื่อให้มีความชัดเจนว่าอุตสาหกรรมใดสามารถลงทุนในพื้นที่ใดได้บ้างส่วนนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดโครงการที่ได้รับอนุมัติรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ)แล้ว น่าจะเป็นชุดสุดท้าย เนื่องจากพื้นที่ถูกใช้เต็มแล้ว
  • ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ออกบทวิจัย"หนึ่งปีหลังเลห์แมนล้ม บทเรียนเศรษฐกิจไทย" ซึ่งพบว่ายังมีปัจจัยที่ท้าทายการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจมหภาคในระยะข้างหน้า โดยเฉพาะปัญหาแรงกดดันเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มขยับสูงขึ้นจากการที่เศรษฐกิจของสหรัฐและจีนฟื้นตัว คาดว่าจะผลักดันให้ราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นในช่วงปีหน้า

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ