สถาบันนิด้า มองเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศเอเชียที่พึ่งพารายได้หลักจากการส่งออก เมื่อก้าวพ้นภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจในเชิงเทคนิคหลังได้รับผลผลพวงวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ขณะที่โบรกเกอร์เตือนเงินไหลเข้าตลาดหุ้นไทยเร็วและมากกว่าปกติ ขณะที่ราคาหุ้นค่อนข้างแพงแล้ว มองระดับดัชนีที่เหมาะสมเข้าลงทุนขณะนี้ไม่น่าเกิน 600 จุด
NIDA Business School ภายใต้สถาบันบันฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ร่วมกับสถาบันวิจัยนครหลวงไทย (SCRI) จัดเสวนาวิเคราะห์เศรษฐกิจการเงิน Crisis Watch series 10 ในหัวข้อ “ครบรอบปีวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ประเทศใดสอบผ่านหรือตก"โดยแบ่งประเทศที่พบกับภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มประเทศ G-3 ที่เกิดวิกฤตสถาบันการเงินโดยตรง ประกอบด้วย สหรัฐ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น กับ กลุ่มประเทศในเอเชีย รวมถึงประเทศไทย ซึ่งไม่ได้พบกับปัญหาสถาบันการเงิน แต่ได้รับผลกระทบเพราะพึ่งพิงการส่งออกอย่างมาก
นายเอกชัย นิตยาเกษตรวัฒน์ คณบดี NIDA Business School เปิดเผยว่า ขณะนี้กลุ่มที่ 2 คือ กลุ่มประเทศในเอเชียก้าวพ้นจากภาวะถดถอยในเชิงเทคนิคไปหมดแล้ว โดยพบว่าสิงคโปร์มีการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ดีที่สุด ขณะที่มีการขยายตัวของอุปสงค์ภายในประเทศแข็งแกร่งเป็นอันดับสองรองจากเกาหลีใต้ ในขณะที่ไต้หวัน แม้มีการฟื้นตัวของ GDP แข็งแกร่งเท่ากับสิงคโปร์ แต่การขยายตัวของอุปสงค์ภายในประเทศยังคงอ่อนแออยู่
สำหรับประเทศเกาหลีใต้และฟิลิปปินส์นั้นมีการฟื้นตัวของ GDP ที่ไม่ดีนักเมื่อเปรียบในกลุ่มที่ 2 ด้วยกัน แต่มีการขยายตัวของอุปสงค์ภายในประเทศในระดับสูง โดยเฉพาะเกาหลีใต้การบริโภคภายในประเทศขยายตัวสูงที่สุดในกลุ่ม สะท้อนถึงการ Re-balance growth และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง
ส่วนประเทศไทยมีระดับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ต่ำที่สุดในกลุ่ม รวมทั้งการขยายตัวของการบริโภคภายในประเทศยังแย่ที่สุดในกลุ่มด้วย ขณะที่ มาเลเซีย แม้ว่าจะการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ไม่ดีเท่ากับประเทศอื่น รวมทั้งการบริโภคภายในประเทศด้วย แต่ตัวเลขของมาเลเซียในสองด้านนี้ยังดีกว่าประเทศไทย
นายเอกชัย กล่าวว่า ขณะที่สถานการณ์ของกลุ่มแรกนั้น จากการประเมินอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ พบว่าสหรัฐและยุโรปมีการฟื้นตัวอย่างชัดเจน ในขณะที่ญี่ปุ่นฟื้นตัวน้อยที่สุดในกลุ่ม แต่สถาบันการเงินของญี่ปุ่นเข้มแข็งที่สุด โดยได้ทำการเพิ่มทุน 3 เท่าของความเสียหายในการลงทุนในตราสาร Sub-prime ในขณะที่สหรัฐฯและยุโรปนั้นยังเพิ่มทุนสถาบันการเงินไม่เท่ากับความเสียหายที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาเป็นรายประเทศ พบว่าเยอรมนีและฝรั่งเศส ทำได้ดีกว่าสหรัฐฯ ในด้านการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ
ด้านนายสุกิจ อุดมศิริกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการอาวุโส SCRI คาดว่า เศรษฐกิจไทยจะเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวตั้งแต่ไตรมาส 3/52 ต่อเนื่องไปถึงไตรมาส 1/53 แรงขับเคลื่อนหลักมาจากการอัดฉีดงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจภายใต้โครงการไทยเข้มแข็ง 2.8 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 2-3% ของ GDP รวมทั้งการลงทุนของภาคเอกชนที่จะตามมา
แต่ทั้งนี้ ภาวะเศรษฐกิจในไตรมาส 3/52 จะยังคงติดลบราว 4% เพราะการเบิกจ่ายเงินงบประมาณยังไม่เต็ม แต่ในไตรมาส 4/52 คาดว่าเศรษฐกิจจะเติบโตได้ราว 2% และในไตรมาส 1/53 จะเติบโตในอัตราสูงถึง 5%
ด้านตลาดหุ้นไทยก็จะมีแนวโน้มที่ดีจากการเข้ามาลงทุนของนักลงทุนต่างชาติอย่างต่อเนื่อง มีปัจจัยสนับสนุนจากจากเงินดอลล่าร์อ่อนค่า โดยนักลงทุนต่างชาติเข้ามาซื้อสุทธิในเดือนก.ย.เกือบ 2 หมื่นล้านบาทแล้ว แต่มองว่าเป็นเม็ดเงินที่ไหลเข้ามาผิดปกติ จากค่าเฉลี่ยปกติที่จะซื้อสุทธิประมาณเดือนละ 1 หมื่นล้านบาท จึงไม่สามารถคาดเดาว่าเม็ดเงินที่ไหลเข้ามาจะสิ้นสุดเมื่อไร
ขณะที่ราคาหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ของไทยก็ถือว่าปรับเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก โดยยืนอยู่เหนือ 600 จุด ถือว่าค่อนข้างแพง หากนักลงทุนต้องการเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นควรจะเข้ามาที่ระดับดัชนีประมาณ 600 จุด หรือค่าพี/อี 10 เท่า ถือว่าเหมาะสม และเป็นไปตามปัจจัยพื้นฐานของบริษัทจดทะเบียน
จากปัจจัยดังกล่าวจึงควรลดความเสี่ยงจากการลงทุนในหุ้นเหลือ 30% จาก50% การลงทุนทางเลือกเช่น 20% พันธบัตร 50% เพราะผลตอบแทนพันธบัตรที่สูงขึ้น ขณะเดียวกันมองว่าตลาดหุ้นไทยก็จะกลับไปปรับตัวลดลงแรงในไตรมาส 2/53 จากแนวโน้มค่าเงินดอลล่าร์ที่จะกลับมาแข็งค่า แม้เศรษฐกิจไทยจะเริ่มปรับตัวในทิศทางที่ดี
"การที่เราเห็นเม็ดเงินต่างชาติไหลเข้ามาในตลาดหุ้นเยอะบางทีต้องระวังเหมือนกันเพราะเป็นเม็ดเงินที่ไม่มีทางเลือกว่าจะลงทุนอะไรจึงมาลงทุนในตลาดหุ้นแทนทั้ง ๆ ที่ราคาหุ้นตอนนี้เราถือว่าแพง พี/อี 13 เท่า yield 8% ซึ่งจากตรงนี้อาจจะทำให้เห็นฟองสบู่ในตลาดหุ้นได้ อัตราแลกเปลี่ยนถือว่าสำคัญและจะเป็นตัวแปรต่อไปในการกำหนดทิศทางตลาดหุ้น"นายสุกิจ กล่าว