KBANK คาดทั้งปี 52 สินเชื่อขยายตัว 4% จากเป้า 4-5% เริ่มเห็นสัญญาณบวก

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday September 23, 2009 15:46 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายประสาร ไตรรรัตน์วรกุล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย(KBANK) คาดว่าในปีนี้สินเชื่อของธนาคารจะขยายตัวในระดับ 4% จากเป้าหมายที่ตั้งไว้ในช่วง 4-5% แม้ว่าในช่วง 2 ไตรมาสแรกของปีนี้จะติดลบ แต่ในช่วง 8 เดือนแรกเริ่มเห็นสัญญาณที่ดีขึ้น

ขณะนี้คำขอสินเชื่อมีเข้ามามากขึ้นในกลุ่มสินเชื่อ SMEs, สินเชื่อภาคธุรกิจ และ สินเชื่อรายย่อย ซึ่งเป็นไปตามภาวะการค้าระหว่างประเทศที่ปรับตัวดีขึ้น และการเพิ่มสต็อกสินค้าของผู้ประกอบการ แม้ว่าส่วนใหญ่จะเป็นความต้องการสินเชื่อระยะสั้นก็ตาม ประกอบกับการเบิกจ่ายวงเงินสินเชื่อในทุกกลุ่มเริ่มมีมากขึ้นเมื่อเทียบกับ 2 ไตรมาสแรกของปีนี้ และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ธนาคารยังคาดว่าในปีนี้จะสามารถรักษาส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ(NIM)ไว้ในระดับ 3.7-3.8% ตามเป้าหมาย โดยในช่วงครึ่งปีแรกNIM อยู่ในระดับ 3.7% ซึ่งคาดว่าอัตราดอกเบี้ยในระบบจะยังทรงตัวไปจนถึงต้นปีหน้า

นายประสาร คาดว่า อัตราดอกเบี้ยในระบบธนาคารพาณิชย์น่าจะเริ่มทยอยปรับขึ้นในช่วงต้นปี 53 หรือไตรมาส 2/53 ก่อนที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายจะขยับขึ้นในช่วงกลางปี โดยจะเริ่มเห็นสัญญาณการขยับขึ้นของดอกเบี้ยจากการขยายตัวของความต้องการสินเชื่อ ตอบรับกับแนวโน้มภาวะเศรษฐกิจที่กำลังเข้าสู่การฟื้นตัว

ทั้งนี้ คาดว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(GDP)ของไทยในปีนี้น่าจะติดลบในระดับ 3% โดยหลังจากผ่านช่วงภาวะเศรษฐกิจถดถอยในไตรมาส 2/52 ก็ปรากฎว่า GDP ไตรมาส 3/52 เริ่มขยับตัวเป็นบวกเมื่อเทียบไตรมาสต่อไตรมาส แต่ยังติดลบอยู่เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และคาดว่าในไตรมาส 4/52 GDP จะฟื้นตัวมาเป็นบวกเมื่อเทียบกับไตรมาส 4/51 ตามสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมของโลกที่ฟื้นตัวขึ้น จะเห็นได้จากเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศ G-3 ที่ฟื้นตัวขึ้น โดยเฉพาะจีนและยุโรป ส่วนสหรัฐแม้ว่าจะติดลบอยู่แต่ก็ลดน้อยลง

"สัญญาณฟื้นแล้ว แต่คนเฝ้ามองและมีการโต้แย้งว่าการฟื้นตัวนี้มีความเข้มแข็งหรือไม่ อีกข้างหนึ่งมองว่ายังไม่ฟื้นเต็มที่ เพราะยังเห็นบาดแผลอยู่"นายประสาร กล่าว

ส่วนแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป ยังมีปัจจัยสำคัญคือเรื่องการเมือง หากการเมืองยังไม่สงบก็จะส่งผลกระทบกับการท่องเที่ยวและการบริโภค ดังนั้น ภาครัฐจึงยังไม่ควรคลายมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะเศรษฐกิจไทยยังจำเป็นต้องได้รับการกระตุ้นต่อไป

อย่างไรก็ตาม สำหรับความกังวลว่าอาจจะเกิดภาวะฟองสบู่หากยังคงใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยต่ำต่อไปนั้น นายประสาร มองว่า ยังไม่เห็นโอกาสที่จะเกิดภาวะฟองสบู่ เนื่องจากนิยามของภาวะฟองสบู่จะเกิดขึ้นเมื่อเศรษฐกิจขยายตัวอย่างร้อนแรง และราคาบ้านตกต่ำอย่างรวดเร็ว แต่ขณะนี้การขอสินเชื่อที่อยู่อาศัยและความต้องการที่อยู่อาศัยก็ยังมีไม่มาก ไม่ได้หวือหวาเหมือนเมื่อปี 40



เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ