บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง(RATCH) เตรียมเงินลงทุนกว่า 1 พันล้านบาทสำหรับการจัดตั้งโรงไฟฟ้าพลังงานลม ซึ่งเป็นนโยบายของบริษัทที่จะเน้นการพัฒนาด้านพลังงานทดแทน หลังจากที่ได้เริ่มการลงทุนตั้งโรงไฟฟ้าพลังลมแห่งแรกที่ จ.เพชรบูรณ์ แล้ว บริษัทก็ยังมองหาสถานที่ตั้งโรงไฟฟ้าพลังงานลมที่เหมาะสมต่อไปในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
นายธวัช วิมลสาระวงค์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ พัฒนาธุรกิจ RATCH เปิดเผยว่า ขณะนี้รูปแบบการลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานลมโรงต่อไป คาดว่าจะร่วมเป็นพันธมิตรเช่นเดียวกับโครงการที่เพชรบูรณ์ ซึ่งจะเห็นความชัดเจนในปีหน้า เนื่องจากจะต้องศึกษาพื้นที่ที่มีศักยภาพมีกำลังลมสูง และศึกษาข้อมูลในส่วนของผู้ร่วมทุนด้วย
"บริษัทสนใจลงทุนในธุรกิจพลังงานทดแทนเพิ่มเติม โดยอยู่ระหว่างการเจรจา น่าจะได้ข้อสรุปอย่างเร็วภายในปีหน้าเพราะต้องใช้เวลาศึกษาพื้นที่ค่อนข้างนาน และตั้งงบลงทุนไว้ประมาณ 1 พันล้านบาท" นายธวัช กล่าว
ทั้งนี้ โดยปกติการลงทุนธุรกิจพลังงานลม 1 เมกะวัตต์ จะใช้เงินประมาณ 60 ล้านบาท
สำหรับความคืบหน้าโครงการพลังงานลมแห่งแรก ที่ จ.เพชรบูรณ์นั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างรอการอนุญาตจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งอยู่ระหว่างเจรจาเงินกู้ เนื่องจากจะต้องใช้เงินจำนวนมาก เพราะมีกำลังการผลิต 60 เมกะวัตต์ และบริษัทมีสัดส่วนการลงทุน 30% อย่างไรก็ตาม คาดว่ากระทรวงฯ จะอนุมัติได้ในเร็วๆ นี้
ส่วนโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำนั้น นายธวัช กล่าวว่า ขณะนี้บริษัทยังเดินหน้าโครงการในเขื่อนน้ำงึม 2 ที่สปป.ลาว คาดว่าจะเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ได้ในช่วงปลายปี 53 โดยจะเริ่มกักเก็บน้ำได้ในเดือน เม.ย.53
ด้านโครงการน้ำงึม 3 อยู่ระหว่างการเจรจาอัตราการรับซื้อไฟฟ้ากับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เนื่องจาก MOU เดิมไม่ครอบคลุมต้นทุนค่าก่อสร้างที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาประมาณ 10% จึงต้องมีการตกลงค่าไฟใหม่ ซึ่งจะทำให้โครงการอาจล่าช้าออกไป 2 ปี จากเดิมที่คาดว่าจะแล้วเสร็จ 56 เลื่อนไปเป็นปี 58
นอกจากนี้ โครงการเซเปียน-เซน้ำน้อย ก็ยังอยู่ระหว่างการเจรจาอัตราค่าไฟฟ้ากับทาง กฟผ.เช่นเดียวกัน ซึ่งขณะนี้ยังคงเดินหน้า เพราะอยู่ระหว่างการรอพิจารณาของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(เรกูเลเตอร์)
ขณะที่โรงไฟฟ้าหงสา เชื่อว่าน่าจะมีข้อสรุปค่าไฟฟ้าที่เจรจากับกฟผ. ซึ่งขณะนี้เรื่องได้ผ่านการพิจารณาของเรกูเลเตอร์แล้ว อยู่ระหว่างการรอให้คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และ คณะรัฐมนตรี(ครม.)อนุมัติ น่าจะเริ่มก่อสร้างได้ตามแผน
นายนพพล มิลินทางกูร กรรมการผู้จัดการ RATCH เปิดเผยว่า ขณะนี้การเจรจากับสถาบันการเงินเจ้าหนี้เพื่อลดภาระดอกเบี้ยจ่ายของบริษัท ราชบุรีพาวเวอร์ คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในสิ้นปีนี้ ส่วนจะลดค่าใช้จ่ายได้เท่าไหร่ เป็นเรื่องที่จะต้องพูดคุยกับผู้ร่วมถือหุ้นในราชบุรีพาวเวอร์ โดย RATCH ถือหุ้นในสัดส่วน 25% ซึ่งเป็นเป้าหมายของบริษัทที่ต้องการลดต้นทุนทางการเงิน และลดค่าใช้จ่ายหลังจากที่เจรจาสำเร็จในส่วน RATCH มาแล้ว
สำหรับผลประกอบการของบริษัทในครึ่งปีหลัง คาดว่ารายได้จะปรับลดลงกว่าครึ่งแรก เนื่องจากจะมีการปิดซ่อมบำรุงในช่วงไตรมาส 4/52 ประกอบกับ เป็นช่วงฤดูหนาวจะมีปริมาณการใช้ไฟฟ้าน้อยลง