ทริสคงอันดับเครดิตองค์กร-หุ้นกู้ DTAC ที่ระดับ “A+"แนวโน้ม“Stable"

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday September 25, 2009 08:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกุ้ไม่มีประกันของ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) ที่ระดับ “A+" ด้วยแนวโน้ม “Stable" หรือ “คงที่"

อันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงสถานะการแข่งขันที่แข็งแกร่งของบริษัทในฐานะผู้ประกอบธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหญ่อันดับ 2 ของไทย ตลอดจนการมีฝ่ายบริหารที่มีความสามารถและประสบการณ์ ระบบโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่กว้างขวาง และฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่งซึ่งมีระดับภาระหนี้ที่ลดลง

อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งดังกล่าวมีข้อจำกัดบางประการจากสภาพแวดล้อมที่มีการแข่งขันระหว่างผู้ประกอบการ ความต้องการเงินลงทุนจำนวนมากในอีก 2-3 ปีข้างหน้า และความไม่แน่นอนของกฎระเบียบด้านโทรคมนาคม

แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนถึงความคาดหมายว่าบริษัทจะยังคงความสามารถในการแข่งขันและรักษาสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งเอาไว้ได้ นอกจากนี้ แนวโน้มอันดับเครดิตยังอยู่บนสมมติฐานที่การเปลี่ยนแปลงใดใดของกฎระเบียบด้านสื่อสารโทรคมนาคมจะไม่ส่งผลกระทบในด้านลบต่อผลประกอบการและฐานะทางการเงินของบริษัท

ทริสเรทติ้งรายงานว่า ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2552 DTAC มีลูกค้าทั้งสิ้นจำนวน 19 ล้านคนและมีส่วนแบ่งทางการตลาดประมาณ 30% โดยมีรายได้ในช่วง 6 เดือนแรกของปีจำนวน 32.5 พันล้านบาท ความแข็งแกร่งทางธุรกิจของบริษัทสืบเนื่องมาจากผลงานในการสร้างมูลค่าตราสินค้าและการรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดเอาไว้ได้ โดยสัดส่วนทางการตลาดที่แข็งแกร่งช่วยให้บริษัทมีรายได้และกระแสเงินสดที่แน่นอน ซึ่งความสำเร็จดังกล่าวแสดงถึงการดำเนินกลยุทธ์ที่ดีในตลาดที่มีความเปลี่ยนแปลงสูง

บริษัทได้รับประโยชน์ในรูปของความช่วยเหลือทางด้านบริหารจัดการจาก Telenor ASA ซึ่งเป็นบริษัทที่ให้บริการด้านสื่อสารโทรคมนาคมจากประเทศนอร์เวย์ โดยผู้แทนจาก Telenor ดำรงตำแหน่งสำคัญหลายตำแหน่งทั้งในคณะผู้บริหารและกรรมการของบริษัท อันดับเครดิตของบริษัทยังได้รับการเสริมความแข็งแกร่งเพิ่มขึ้นจากฐานลูกค้าที่มั่นคง ในขณะที่โครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ก็ครอบคลุมเกือบ 100% ของพื้นที่ประเทศ

ทริสเรทติ้งกล่าวว่า ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2552 DTAC มีรายได้ซึ่งไม่รวมค่าเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม(Interconnection Charge-IC)ลดลง 2.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนอันเป็นผลมาจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและรายได้จากบริการข้ามแดนอัตโนมัติ (International Roaming Service) ที่ลดลง อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้จากการขายในช่วงครึ่งแรกของปี 2552 อยู่ที่ระดับ 29.7% โดยในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาอยู่ในระดับที่มีเสถียรภาพที่ระดับ 29%-32%

ถึงแม้การหดตัวของเศรษฐกิจจะตัดทอนรายได้จากการขายลง แต่สภาพคล่องและกระแสเงินสดของบริษัทยังคงแข็งแกร่ง โดยสถานะทางการเงินที่ดีขึ้นเป็นผลมาจากการมีระดับภาระหนี้ที่ลดลงเรื่อยมา อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนปรับตัวดีขึ้นจากระดับที่เกินกว่า 50% ในปี 2548 เป็น 32% ณ สิ้นปี 2551 และ 31% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2552

นอกจากนี้ อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวม ณ สิ้นปี 2551 ยังเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าจากปี 2549 และอยู่ที่ระดับ 30.8% (ยังไม่ได้ปรับให้เป็นอัตราส่วนเต็มปี) สำหรับครึ่งแรกของปี 2552 ซึ่งสาเหตุสำคัญมาจากผลประกอบการที่ดีขึ้นและระดับภาระหนี้ที่ลดลง งบประมาณการลงทุนเพื่อรองรับเทคโนโลยี 3G คาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นในอนาคตอันใกล้ และอาจส่งผลให้บริษัทไม่สามารถนำรายได้จากการดำเนินงานมาใช้ลดภาระหนี้ได้

ทริสเรทติ้งกล่าวถึงอุตสาหกรรมโทรศัพท์เคลื่อนที่ในประเทศไทยว่าเป็นลักษณะที่มีผู้แข่งขันน้อยราย หลังจากที่มีการเติบโตอย่างมากในระดับ 120% ต่อปีในช่วงปี 2544 จนถึงปี 2545 นั้น อัตราการเติบโตของลูกค้าใหม่ก็ลดลงเรื่อยมาในระดับอัตราเฉลี่ย 18% ต่อปีระหว่างปี 2547 ถึงปี 2551 อัตราการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ต่อจำนวนประชากรในประเทศไทยอยู่ที่ระดับใกล้ 100% ณ ช่วงครึ่งแรกของปี 2552 แรงขับเคลื่อนที่สำคัญในการเติบโตอยู่ที่กลยุทธ์การส่งเสริมการขายซิมการ์ดและการขยายเครือข่ายสู่ต่างจังหวัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มลูกค้าระบบเติมเงิน (Prepaid) การตั้งราคาค่าบริการมีความสมเหตุผลและมีเสถียรภาพมากขึ้นหลังจากมีการนำอัตราค่า IC มาใช้ ปัจจุบันตลาดการให้บริการด้านเสียง (Voice Service) น่าจะถึงจุดอิ่มตัวแล้ว

ในขณะเดียวกัน การเติบโตที่ลดลงในบริการด้านเสียงก็ได้รับการชดเชยบางส่วนจากการเติบโตของบริการด้านข้อมูล (Non-voice Service) ซึ่งยังมีโอกาสในการขยายตัวที่ดีโดยปัจจุบันมีรายได้คิดเป็นประมาณ 15% ของรายได้รวมของทั้งอุตสาหกรรม ณ สิ้นปี 2551 และจะมีบทบาทสำคัญยิ่งขึ้นในระยะยาว ปัจจุบันกฎระเบียบด้านโทรคมนาคมยังคงเป็นปัจจัยที่มีผลกระทบในด้านลบต่ออุตสาหกรรมเนื่องจากยังไม่มีทิศทางที่แน่นอน อีกทั้งยังมีคดีฟ้องร้องอีกเป็นจำนวนมากที่ค้างอยู่ในศาล


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ