บมจ. วีนิไทย (VNT) แจ้งว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทครั้งที่ 4/2009 เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2552 มีมติอนุมัติให้บริษัทฯ ขยายกำลังการผลิตคลอรีน จำนวน 90,000 ตันต่อปีและโซดาไฟจำนวน 100,000 ตันต่อปี เพื่อป้อนกระบวนการผลิตสาร Epichlorohydrine (EPI) ด้วยงบประมาณการลงทุนประมาณ 2,250 ล้านบาท และมีมติให้บริษัทฯ ดำเนินโครงการผลิตสาร Epichlorohydrine (EPI) โดยใช้กระบวนการผลิตของ Solvay Epicerol? Process จำนวน 100,000 ตันต่อปี ด้วยงบประมาณการลงทุ นสำหรับโครงการประมาณ 5,750 ล้านบาท โดยเป็นแผนการลงทุนระหว่างปี 2553 - ปี 2554 และคาดว่าจะเริ่มดำเนินการผลิตได้ราวต้นปี 2555 เป็นต้นไป
ทั้งนี้ ในการดำเนินโครงการผลิตสาร Epichlorohydrine (EPI) ให้ดำเนินการผ่านบริษัทย่อยที่บริษัทฯ จะเข้าทำสัญญาซื้อหุ้นสามัญทั้งหมดของบริษัท โซลเวย์ ไบโอ เคมีคอล (ประเทศไทย) จำกัด จากบริษัท Solvay Chemicals and Plastics Holding B.V. และกลุ่มบริษัท Solvay งบประมาณการลงทุนสำหรับโครงการทั้งหมดประมาณ 8,000 ล้านบาท คาดว่าจะดำเนินการซื้อขายหุ้น เสร็จสิ้นภายในสิ้นปี พ.ศ. 2552 นี้
อย่างไรก็ตาม การตกลงซื้อขายหุ้นดังกล่าวนี้มีเงื่อนไขหลายประการที่บริษัท Solvay Chemicals and Plastics Holding B.V. และกลุ่มบริษัท Solvay (ผู้ขาย) และบริษัทฯ จะต้องปฏิบัติก่อนการโอนหุ้นและชำระราคา เช่น การทำสัญญา License Agreements and the Technical Assistance and Support Agreement สำหรับโครงการขยายกำลังการผลิตคลอรีน และโซดาไฟ และสำหรับโครงการผลิตสาร Epichlorohydrine (EPI) และการที่บริษัทได้รับขออนุญาตจากหน่วยราชการ และคู่สัญญาที่สำคัญของบริษัทดังกล่าว รวมทั้งมีเงื่อนไขให้บริษัทฯ จะต้องได้รับอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ ก่อน ซึ่งหากผู้ขายและบริษัทฯ ไม่สามารถดำเนินการให้เงื่อนไขสำเร็จ หรือผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ มีมติไม่อนุมัติการซื้อหุ้นดังกล่าว บริษัทฯ มีสิทธิตามสัญญาที่จะไม่ซื้อหุ้นดังกล่าวได้
สำหรับสาร Epichlorohydrine (EPI) ที่ผลิตได้ดังกล่าว จะขายภายในประเทศประมาณร้อยละ 20 และส่งออกต่างประเทศประมาณร้อยละ 80 บริษัทฯ จะใช้แหล่งเงินทุนจากกระแสเงินสดจากการประกอบกิจการของบริษัท และแหล่งเงินกู้จากธนาคาร ทั้งนี้เงื่อนไขของการกู้ยืมจากสถาบันการเงินยังอยู่ระหว่างการเจรจา ตกลง โดยภายหลังจากการใช้เงินกู้นี้ เมื่อพิจารณากระแสเงินสดโดยภาพรวมแล้ว บริษัทคาดว่าจะสามารถชำระหนี้สินที่มีอยู่เดิมและหนี้สินที่เกิดขึ้นใหม่ได้
ผลประโยชน์ที่คาดว่าบริษัทจะได้รับ คือ การลงทุนนี้จะเป็นการขยายสายการผลิตผลิตภัณฑ์ใหม่และช่วยลดผลกระทบจากวัฏจักรของธุรกิจพลาสติกพีวีซี (PVC) นอกจากนี้ บริษัทฯ คาดว่าจะได้รับผลตอบแทนการลงทุน (IRR) ในอัตราที่มากกว่าร้อยละ 15
อย่างไรก็ตาม โครงการการลงทุนดังกล่าวนี้จะต้องรับการส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน การจัดทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ซึ่งต้องได้รับอนุมัติจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) และต้องได้รับใบอนุญาตก่อสร้างจากการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ด้วย