ฟิทช์ ลดอันดับเครดิตหุ้นกู้ Hybrid Tier 1 ของ TMB เป็น B จาก B+

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday September 25, 2009 14:25 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ฟิทช์ เรทติ้งส์ ได้ประกาศปรับลดอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศของตราสารด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุนที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 (Hybrid Tier 1 Securities) ของธนาคารทหารไทย (TMB) เป็น ‘B’ จาก ‘B+’

พร้อมกันนี้ ฟิทช์ได้ประกาศคงอันดับเครดิตอื่นของ TMB ดังต่อไปนี้ อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว (Issuer Default Rating) ของธนาคารที่ ‘BBB-’ (BBB ลบ) แนวโน้มอันดับเครดิตเป็นลบ, อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้นที่ ‘F3’ ,อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินที่ ‘C/D’, อันดับเครดิตสนับสนุนที่ ‘3’,

อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว (National Ratings) ที่ ‘A+(tha)’ แนวโน้มมีเสถียรภาพ, อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นที่ ‘F1(tha)’, อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศของหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่ ‘BB+’ และ อันดับเครดิตภายในประเทศของหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่ ‘A(tha)’

อันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำ (Support Rating Floor) ได้ถูกปรับเป็น ‘BB+’ จาก ‘BB’ เนื่องจากการทบทวนระดับความสำคัญของธนาคารต่อระบบการเงินและเศรษฐกิจ รวมถึงการถือหุ้นบางส่วนในธนาคารของรัฐบาล

การปรับลดอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศของ Hybrid Tier 1 Securities สะท้อนถึงความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นที่ธนาคารอาจมีผลการดำเนินงานขาดทุนในช่วงครึ่งปีหลังปี 2552 หลังจากที่ TMB ประกาศผลการดำเนินงานที่อ่อนแอในช่วงครึ่งปีแรกปี ประกอบกับธนาคารอาจจะต้องมีการตั้งสำรองหนี้สงสัญจะสูญ และการตั้งสำรองการด้อยค่าของสินทรัพย์อื่นเพิ่มเติมในช่วงครึ่งปีหลังปีนี้ เนื่องจาก TMB ยังคงมีผลขาดทุนสะสมเป็นจำนวนมาก อาจทำให้ธนาคารแห่งประเทศไม่อนุญาตให้ TMB จ่ายดอกเบี้ยของตราสารด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุนที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 หากธนาคารมีผลการดำเนินงานขาดทุน

อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงที่ธนาคารไม่สามารถจ่ายดอกเบี้ยของตราสารด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุนที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 น่าจะลดลงในปี 2553 เนื่องจาก TMB มีแผนที่จะปรับโครงสร้างเงินทุนของธนาคาร และจะมีการล้างผลขาดทุนสะสมดังกล่าว

อันดับเครดิตระยะยาวและอันดับเครดิตอื่นของ TMB สะท้อนถึงเงินกองทุนของธนาคารที่แข็งแกร่งขึ้นอย่างมากหลังจากการเพิ่มทุนของ ING Bank NV (ING มีอันดับเครดิตที่ ‘A+’/‘F1+’/แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ) ในเดือนธันวาคม 2550 แม้ว่าผลการดำเนินงานในปี 2552 ของธนาคารจะได้รับผลกระทบจากการปรับโครงสร้างการดำเนินงานของธนาคารที่ยังไม่แล้วเสร็จและสภาวะเศรษฐกิจที่อ่อนแอ

แต่ทั้งนี้คาดว่าผลการดำเนินงานของธนาคารมีแนวโน้มที่จะปรับตัวดีขึ้นในปี 2553 เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการที่ธนาคารจะกลับมาเน้นในด้านการขยายธุรกิจมากขึ้น อย่างไรก็ตามธนาคารยังมีความเสี่ยงในการดำเนินงาน เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจที่ยังคงอ่อนแอและธนาคารยังคงมีความเสี่ยงในด้านคุณภาพสินทรัพย์ ทั้งนี้ความเสี่ยงดังกล่าวได้สะท้อนอยู่ในแนวโน้มอันดับเครดิตเป็นลบของธนาคาร

เนื่องจากการปรับโครงสร้างการบริหารและการดำเนินงาน เพื่อรวมกับ ING และนโยบายการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญที่เข้มงวดขึ้น ส่งผลให้ในปี 2551 TMB มีกำไรสุทธิเพียง 0.5 พันล้านบาท สำหรับครึ่งปีแรกปี 2552 TMB ยังคงมีกำไรสุทธิเพียงเล็กน้อยที่ 0.8 พันล้านบาท เนื่องจากรายได้ที่ลดลงจากการที่สินเชื่อของธนาคารยังคงลดลงอย่างมาก (ลดลง 13.7% จากสิ้นปี 2551) และการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญที่ยังคงอยู่ในระดับสูง

ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิของธนาคารยังคงอยู่ในระดับต่ำที่ 2.4% อย่างไรก็ตาม คาดว่าส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของธนาคารจะปรับตัวสูงขึ้นในปี 2553 เนื่องจากการลดลงของสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้และการเติบโตของสินเชื่อ

ณ สิ้นปี 2551 สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPL)ของ TMB ลดลงมาเป็น 70.6 พันล้านบาท หรือ 16.5% ของสินเชื่อรวม (เทียบกับสิ้นปี 2550 ที่ 78 พันล้านบาท หรือ 16.6% ของสินเชื่อรวม) โดยส่วนใหญ่เป็นผลจากการขาย NPL และการตัด NPL ออกจากบัญชี ซึ่ง NPL ของธนาคารยังคงลดลงอย่างต่อเนื่องเป็น 59.9 พันล้านบาท ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2552 เนื่องจากการขาย NPL จำนวน 14.9 พันล้านบาทในช่วงครึ่งปีแรกปี 2552 แต่ทั้งนี้สัดส่วน NPL ต่อสินเชื่อรวมของ TMB ยังคงอยู่ในระดับเดิมที่ประมาณ 16% เนื่องจากสินเชื่อของธนาคารที่ลดลง

อย่างไรก็ตามสินเชื่อจัดชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษ (watch-list loans) ของธนาคารได้เพิ่มขึ้นอย่างมาก เนื่องจากเกณฑ์การจัดชั้นสินเชื่อที่เข้มงวดขึ้น TMB มีสำรองหนี้สงสัยจะสูญอยู่และอัตราสำรองหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ที่ระดับ 35.9 พันล้านบาท และ 59.9% ตามลำดับ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2552

ทั้งนี้อัตราสำรองหนี้สงสัยจะสูญต่อ NPL ของธนาคารอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าธนาคารพาณิชย์อื่น ส่งผลให้ธนาคารมีความเสี่ยงในการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มขึ้นในอนาคต อย่างไรก็ตาม คาดว่ารายได้ของธนาคารจะสามารถช่วยลดผลกระทบส่วนใหญ่จากการตั้งสำรองเพิ่มขึ้น นอกจากนั้น TMB ยังมีความเสี่ยงในการขาดทุนเพิ่มเติมจากการด้อยค่าของทรัพย์สินรอการขาย

อัตราส่วนสภาพคล่องและเงินกองทุนของธนาคารโดยรวมยังคงอยู่ในระดับที่มีเสถียรภาพในปีที่ผ่านมา แม้ว่าเศรษฐกิจโดยรวมจะมีความผันผวน เงินกองทุนชั้นที่ 1 และเงินกองทุนรวมของธนาคารปรับตัวแข็งแกร่งขึ้นอย่างมาก ตั้งแต่การเพิ่มทุนของธนาคารในเดือนธันวาคม 2550 และปัจจุบันเงินกองทุนของธนาคารอยู่ในระดับ 11% สำหรับเงินกองทุนชั้นที่ 1 และ 15% สำหรับเงินกองทุนรวม ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2552 ระดับเงินกองทุนดังกล่าวน่าจะสามารถรองรับผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจที่อ่อนแอได้ในระดับหนึ่ง และจะช่วยให้ธนาคารสามารถรองรับการตั้งสำรองเพิ่มเติมได้

TMB เป็นธนาคารพาณิชย์ใหญ่เป็นอันดับที่ 6 ของประเทศไทย โดยมีสินทรัพย์รวม 568.7 พันล้านบาท (16.7 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ) ปัจจุบัน ING เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่สุดในสัดส่วน 30% ผู้ถือหุ้นใหญ่รายอื่น ประกอบด้วย กระทรวงการคลัง 26% และ DBS Bank ของสิงคโปร์ 7% ฟิทช์เชื่อว่ามีความเป็นไปได้ระดับหนึ่งที่ธนาคารจะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลหากมีความจำเป็น แต่อย่างไรก็ตามการสนับสนุนจากภาครัฐอาจไม่ครอบคลุมไปถึงหนี้ที่มีลำดับการรับชำระคืนที่ต่ำ เช่น ตราสารหนี้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุน



เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ