บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศอันดับเครดิตองค์กรของ บมจ. ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี (STA) ที่ระดับ “BBB+" พร้อมแนวโน้ม “Stable" หรือ “คงที่" โดยอันดับเครดิตดสะท้อนถึงสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งของบริษัทในธุรกิจยางธรรมชาติ ตลอดจนการมีฐานลูกค้าที่กระจายตัว กลยุทธ์ในการลดความเสี่ยงด้านราคาโดยการทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (Hedging) และกำหนดเงื่อนไขการซื้อขายสินค้าในจำนวนและระยะเวลาเดียวกันหรือใกล้เคียงกัน (Back-to-Back) ความเชี่ยวชาญในธุรกิจยางธรรมชาติ และคณะผู้บริหารที่มีความสามารถ ทว่าความแข็งแกร่งดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากความผันผวนของราคายางธรรมชาติ สภาวะตลาดที่มีการแข่งขันสูง และภาระหนี้ที่สูงของบริษัทที่แม้จะบรรเทาลงไปบางส่วนจากการมีสินค้าคงคลังที่มีสภาพคล่องและอยู่ในความต้องการของตลาดก็ตาม
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนถึงการคาดการณ์ว่าบริษัทจะยังคงสามารถรักษาสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งในอุตสาหกรรมยางธรรมชาติเอาไว้ได้และได้รับวงเงินกู้ที่เพียงพอจากสถาบันการเงินต่างๆ โดยคาดว่าบริษัทจะหลีกเลี่ยงการเก็งกำไรในการซื้อขายยางธรรมชาติและจะดำเนินนโยบายทางการเงินอย่างระมัดระวัง พร้อมทั้งบริหารเงินทุนหมุนเวียนอย่างมีประสิทธิภาพในช่วงที่อุตสาหกรรมยางธรรมชาติอยู่ในภาวะยากลำบาก
ทริสเรทติ้งรายงานว่า บริษัทศรีตรังแอโกรอินดัสทรีดำเนินธุรกิจแปรรูปและค้ายางธรรมชาติโดยมีโรงงานแปรรูป 15 แห่งอยู่ในพื้นที่ภาคใต้ของประเทศและ 1 แห่งในประเทศอินโดนีเซีย บริษัทมีกำลังการผลิตทั้งสิ้น 746,543 ตันต่อปี และมีส่วนแบ่งทางการตลาดในตลาดโลกสำหรับช่วง 3 เดือนแรกของปี 2552 อยู่ที่ 8.14% โดยมีปริมาณการขายจำนวน 166,317 ตัน เพิ่มขึ้นจาก 7.46% ในช่วงเดียวกันของปีก่อน ประสบการณ์ที่ยาวนานช่วยให้ผู้บริหารสามารถบริหารกิจการของบริษัทได้เป็นอย่างดีตลอดช่วงวงจรธุรกิจและรักษาสถานะทางการตลาดเอาไว้ได้ บริษัทจำหน่ายผลิตภัณฑ์ประมาณ 82% ให้แก่ผู้ประกอบการผลิตยางล้อ โดยในกลุ่มลูกค้ารายใหญ่ทั้ง 5 รายเป็นผู้ผลิตยางล้อจำนวน 4 ราย แม้ว่ายอดขายของบริษัทจะกระจุกตัวอยู่ในอุตสาหกรรมเพียงประเภทเดียว แต่บริษัทก็มีลูกค้าที่ค่อนข้างกระจายตัวอยู่ในภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก นอกจากนี้ บริษัทยังได้ขยายฐานลูกค้าไปสู่ผู้ผลิตยางล้อขนาดกลางและขนาดเล็กด้วย บริษัทมียอดส่งออกคิดเป็น 79% ของยอดขายในปี 2551 ซึ่งประมาณ 62% ของการส่งออกเป็นการจำหน่ายสินค้าให้แก่ลูกค้าในประเทศแถบเอเซีย โดยลูกค้าหลักอยู่ในประเทศจีน สิงคโปร์ ญี่ปุ่น และเกาหลี ประมาณ 10% เป็นลูกค้าในแถบยุโรป และ 9% เป็นลูกค้าในประเทศสหรัฐอเมริกา
ทริสเรทติ้งกล่าวว่า ปัจจุบันผู้ผลิตยางธรรมชาติรายใหญ่ของโลกประกอบด้วยประเทศไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ผลผลิตโดยรวมจากทั้ง 3 ประเทศคิดเป็น 70% ของผลผลิตทั่วโลกที่จำนวน 9.9 ล้านตันในปี 2551 โดยประเทศไทยเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุด ด้วยผลผลิตรวมทั้งสิ้น 3.09 ล้านตัน รองลงมา ได้แก่ ประเทศอินโดนีเซีย (2.75 ล้านตัน) และประเทศมาเลเซีย (1.08 ล้านตัน) ยางธรรมชาติเป็นวัตถุดิบที่ใช้ในอุตสาหกรรมหลากหลายประเภท เช่น ยางล้อสำหรับยานพาหนะ ถุงมือยาง ถุงยางอนามัย และรองเท้า การบริโภคยางธรรมชาติทั่วโลกมีการเติบโตที่สม่ำเสมอมาโดยตลอดในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา แต่ในปี 2551 ลดลงมาอยู่ที่ 9.7 ล้านตัน เทียบกับ 9.9 ล้านตันในปี 2550 ปริมาณความต้องการยางธรรมชาติลดลงอย่างมากในไตรมาสที่ 4 ของปี 2551 จากผลของภาวะทรุดตัวของอุตสาหกรรมรถยนต์ซึ่งเกิดจากภาวะสินเชื่อที่ตึงตัวและเศรษฐกิจที่ชะลอตัว โดยอุปสงค์รถยนต์ที่ตกต่ำอย่างมากมีผลกระทบต่ออุปสงค์ยางล้อ ทั้งนี้ ผู้ผลิตยางล้อเป็นกลุ่มลูกค้ารายใหญ่ที่สุดของอุตสาหกรรมยางธรรมชาติ โดยมีปริมาณการใช้คิดเป็นประมาณ 70% ของการผลิตยางทั่วโลก
ทริสเรทติ้งกล่าวถึงอุตสาหกรรมยางแปรรูปว่าเป็นอุตสาหกรรมที่มีการใช้แรงงานสูงและมีต้นทุนวัตถุดิบคิดเป็นประมาณ 90%-95% ของต้นทุนการแปรรูป ผู้ประกอบการมีความเสี่ยงจากความผันผวนของราคายางธรรมชาติเป็นอย่างมาก ส่งผลทำให้กำไรและกระแสเงินสดมีแนวโน้มผันผวน เพื่อที่จะลดความเสี่ยงจากความผันผวนดังกล่าว บริษัทศรีตรังแอโกรอินดัสทรีจึงได้ปรับเปลี่ยนนโยบายทางการตลาดโดยใช้ กลยุทธ์การซื้อขายแบบ Back-to-Back และหันมาทำสัญญาซื้อขายโดยตรงกับผู้ผลิตสินค้าและเกษตรกร อย่างไรก็ตาม บริษัทยังคงได้รับผลกระทบจากความเสี่ยงด้านราคาในช่วงที่ราคายางมีความผันผวนในระดับสูง
บริษัทศรีตรังแอโกรอินดัสทรีรายงานผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งในปี 2551 แม้ปริมาณการขายและราคายางธรรมชาติในช่วง ไตรมาสที่ 4 ของปี 2551 จะตกต่ำเป็นอย่างมากก็ตาม บริษัทมีกำไรสุทธิจำนวน 1,315 ล้านบาท โดยเป็นกำไรก่อนค่าเผื่อการด้อยค่าของสินค้าคงเหลือมูลค่า 688 ล้านบาท นับว่าเป็นกำไรที่มากที่สุดในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา บริษัทมีอัตรากำไรขั้นต้นก่อนค่าเสื่อมราคาอยู่ที่ 3.29% เพิ่มขึ้นจาก 1.4% ในปี 2550 อย่างไรก็ตาม อัตรากำไรขั้นต้นที่ปรับปรุงแล้วก่อนค่าเสื่อมราคา (ไม่รวมการกลับรายการค่าเผื่อการด้อยค่าของสินค้าคงเหลือ) ในช่วงครึ่งแรกของปี 2552 อยู่ที่ 0.15% ลดลงจาก 3.15% ในช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งอัตรากำไรขั้นต้นที่ลดลงสะท้อนถึงต้นทุนสินค้าคงเหลือที่อยู่ในระดับสูงซึ่งค้างมาจากปี 2551 อย่างไรก็ตาม คาดว่าอัตรากำไรขั้นต้นในช่วงปลายปี 2552 น่าจะกลับมาอยู่ในระดับปกติเนื่องจากมีการขายสินค้าคงเหลือที่มีต้นทุนสูงออกไปหมดแล้วเมื่อช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2552 ณ เดือนมิถุนายน 2552 บริษัทมีภาระหนี้จำนวน 8,327 ล้านบาท ลดลงจาก 13,085 ล้านบาท ณ เดือนมิถุนายน 2551 โดยมีอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนอยู่ที่ 58.50% ลดลงจาก 73.52% ณ เดือนมิถุนายน 2551 อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายในช่วงครึ่งแรกของปี 2552 ปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ 5.59 เท่า เทียบกับ 4.09 เท่าในช่วงเดียวกันของปีก่อนเนื่องจากภาระหนี้และอัตราดอกเบี้ยที่ลดลง