(เพิ่มเติม) ฟิทช์คงอันดับความน่าเชื่อถือภายในประเทศระยะยาว TBANK ที่ 'A(tha)'

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday September 30, 2009 17:23 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศคงอันดับความน่าเชื่อถือภายในประเทศระยะยาวของธนาคาร ธนชาต จำกัด (มหาชน) (TBANK) ที่ 'A(tha)' โดยให้แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ ส่วนความน่าเชื่อถือภายในประเทศระยะสั้นอยู่ที่ 'F1(tha)' และอันดับเครดิตความแข็งแกร่งทางการเงิน (Individual Rating) ที่ 'C/D' และอันดับเครดิตสนับสนุนที่ '4'

ในขณะเดียวกันฟิทช์ได้ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของบริษัท ทุนธนชาต จำกัด (มหาชน) (TCAP) ที่ ‘A-(tha)’ (A ลบ (tha)) แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นที่ ‘F2(tha)’ และอันดับเครดิตสนับสนุนที่ ‘5’

การจัดอันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงประโยชน์จากการเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นใน TBANK ของ Bank of Nova Scotia (Scotia ซึ่งได้รับการจัดอันดับเครดิตสากลที่ ‘(AA-’ (AA ลบ) / ‘F1+’) โดยที่การเข้ามาควบคุมและการให้การสนับสนุนที่เพิ่มขึ้นของ Scotia น่าจะช่วยเพิ่มความแข็งแกร่งทางการเงินและผลการดำเนินงานของ TBANK ในระยะปานกลาง Scotia ได้เพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นใน TBANK เป็น 49% ในเดือนกุมภาพันธ์ 2552 จาก 25% ขณะที่สัดส่วนการถือหุ้นของ TCAP ใน TBANK ได้ลดลงเหลือ 50.9% จาก 74.9% อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดของแหล่งเงินทุน คุณภาพสินทรัพย์ที่อ่อนแอลง และการกระจุกตัวของสินเชื่อในธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์ยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของธนาคาร

แม้ว่าจะมีรายได้เพิ่มสูงขึ้น TBANK รายงานผลกำไรสุทธิที่ 1.0 พันล้านบาทในครึ่งแรกของปี 2552 ลดลง 37% จากปีก่อน เนื่องจากการตั้งสำรองหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญที่เพิ่มขึ้นและค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่สูงขึ้นจากการขยายสาขา อัตรากำไรส่วนต่างดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 3.9% ในครึ่งแรกของปี 2552 จาก 3.5% ในปี 2551 เนื่องจากต้นทุนทางการเงินที่ต่ำลง และคาดว่าน่าจะทรงตัวอยู่ในระดับเดียวกันในครึ่งหลังของปี 2552 เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยได้ลดลงมาอยู่ในระดับที่ต่ำสุดแล้ว แต่ NIM อาจจะอ่อนตัวลงใน ปี2553 เมื่อมีการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ย

หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญมาอยู่ที่ 9.7 พันล้านบาท (3.5% ของสินเชื่อรวม) ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2552 จาก 7.9 พันล้านบาท (2.9% ของสินเชื่อรวม) ณ สิ้นปี 2551 และจาก 5.2 พันล้านบาท หรือ 2.3% ของสินเชื่อรวม ณ สิ้นปี 2550 แม้ว่าอัตราส่วนสำรองหนี้สูญต่อหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ยังอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง (92.8% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2552) แต่การปรับตัวลดลงอย่างรุนแรงของเศรษฐกิจอาจทำให้หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้และการตั้งสำรองหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มขึ้นอีกในครึ่งปีหลังของปี 2552 และ ปี 2553



เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ