สมาคม บล.เตรียมเรียกหารือ 15 ต.ค.สรุปข้อเสนอปรับคอมมิชชั่นขั้นบันได

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday October 7, 2009 14:01 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกัมปนาท โลหเจริญวนิช กรรมการอำนวยการ บล.ทรีนีตี้ ในฐานะนายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ กล่าวว่า สมาคมฯ จะเรียกประชุมสมาชิกในวันที่ 15 ต.ค.เพื่อหารือสรุปข้อเสนอให้ตรงกันเกี่ยวกับการใช้ค่าคอมมิชชั่นแบบขั้นบันไดที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.)กำหนดให้เริ่มใช้ตั้งแต่ 1 ม.ค.53 โดยจะนำข้อสรุปดังกล่าวเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการ ตลท.พิจารณาอีกครั้งในวันที่ 20 ต.ค.นี้

อย่างไรก็ตาม สมาคม บล.ยังเห็นว่าควรจะมีการปรับการคิดค่าคอมมิชชั่นขั้นบันไดในบางประเด็น ได้แก่ ขยับเกณฑ์ขั้นต่ำที่จะคิดค่าคอมมิชชั่น 0.25% เป็นไม่เกิน 5 ล้านบาท จากที่กำหนดไว้ไม่เกิน 1 ล้านบาท และผ่อนผันให้สามารถคิดค่าคอมมิชชั่นสำหรับบริการอินเตอร์เนตเทรดดิ้ง รวมทั้งควรจะกำหนดอัตราการคิดค่าคอมมิชชั่นแยกในนักลงทนแต่ละประเภท ทั้งนักลงทุนสถาบัน นักลงทุนต่างประเทศ และนักลงทุนรายย่อย

นายกัมปนาท กล่าวว่า การใช้ค่าคอมมิชชั่นแบบขั้นบันไดตามเกณฑ์ของ ตลท.จะส่งผลให้รายได้ของบริษัทหลักทรัพย์ปรับตัวลดลงประมาณ 20% ซึ่งหากมูลค่าการซื้อขายของตลาดรวม(วอลุ่ม)ในปี 53 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 20% ก็น่าจะช่วยชดเชยรายได้ในส่วนที่ได้รับกระทบไปได้ แต่ก็คงยังเป็นช่วงยากลำบากของธุรกิจบริษัทหลักทรัพย์ จึงควรจะมีการปรับสัดส่วนรายได้ให้มีความเหมาะสม โดยลดสัดส่วนรายได้จากธุรกิจนายหน้าค้าหลักทรัพย์ให้เป็น 50% จากปัจจุบันส่วนใหญ่อยู่ที่ 60% และหารายได้ส่วนอื่นเข้ามาเสริม

นอกจากนั้น การใช้ค่าคอมมิชชั่นแบบชั้นบันไดยังจะมีผลกดดันให้เกิดการควบรวมของบริษัทหลักทรัพย์มากขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 53 โดยเฉพาะบริษัทที่มีส่วนแบ่งการตลาด(มาร์เก็ตแชร์)ต่ำกว่า 2% ซึ่งปัจจุบันมีอยู่กว่า 10 แห่ง รวมถึง บล.ทรินิตี้ ด้วยที่มีมาร์เก็ตแชร์ 1.4% ใกล้เคียงกับปีก่อน โดยในส่วนของบริษัทเองก็เปิดกว้างรับพันธมิตรเพื่อเข้ามาช่วยเพิ่มจำนวนลูกค้าและสินค้าให้มีความหลากหลาย ที่ผ่านมาก็มีเข้ามาคุยด้วยหลายรายแล้ว แต่ยังไม่มีข้อสรุป

"จากนี้ไปคงจะเป็นช่วงยากลำบากของธุรกิจหลักทรัพย์ มาร์เก็ตแคปที่เคยตั้งไว้ 12 ล้านล้านบาท ก็เป็นเรื่องยากแล้ว และยังจะโดนกดดันด้วยค่าคอมมิชชั่นแบบขั้นบันไดอีก ดังนั้นหลังจากนี้คงจะเห็นการแข่งขันในเรื่องของการบริการ"นายกัมปนาท กล่าว

สำหรับธุรกิจบริษัทหลักทรัพย์ในปีนี้ หากมูลค่าวอลุ่มเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 2 หมื่นล้านบาท ก็เชื่อว่าโบรกเกอร์จะมีกำไร เห็นได้จากในครึ่งปีแรกเริ่มทำกำไรได้ราว 972 ล้านบาท จากครึ่งหลังของปีก่อนที่มีผลขาดทุน 1,102 ล้านบาท



เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ